ไฟต์บังคับแอคชั่นคดี'ทุ่งใหญ่''เปรมชัย'รอด‘รัฐบาล’ลำบาก


เพิ่มเพื่อน    

นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสจากกรณีของ บิ๊กป้อม แต่เป็นการทำเพื่อเรียกศรัทธากลับคืน ทำให้คนในประเทศเห็นว่า ยุคนี้กฎหมายบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม และเป็นที่พึ่งได้

จากเหตุการณ์ล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จนเป็นปฐมบทแห่งการขับไล่รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2516 ผ่านมา 45 ปี เหตุการณ์ล่าสัตว์ในป่าแห่งนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง

ความสนใจจากสังคมต่อประเด็นนี้กระหึ่มพอกันกับครั้งนั้น เพียงแต่ตัวละครเปลี่ยนไป จาก พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชาย จอมพลถนอม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น มาเป็น "เปรมชัย กรรณสูต" ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มหาอำนาจด้านธุรกิจก่อสร้างของประเทศ

เรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐบาล เพราะนายเปรมชัยไม่ได้เป็นบุคคลของรัฐบาล เพียงแต่บริษัทที่บริหารอยู่รับงานด้านโครงสร้างพื้นฐานให้จำนวนมากเท่านั้น

ถ้าจะนำมาเป็นประเด็นในการหาเรื่องโจมตีรัฐบาลอาจจะยากสักหน่อย เพราะ "เปรมชัย" เองไม่ได้เพิ่งมารับงานโครงสร้างพื้นฐานในยุค คสช. แต่เป็นขาประจำในทุกรัฐบาล

เพียงแต่มิอาจชะล่าใจ และปล่อยปละให้คดีนี้เดินไปสู่จุดที่คนไทยไม่อยากเห็น นั่นคือ กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้กับผู้มีอำนาจ ผู้มีฐานะ และผู้มีหน้าตาในสังคม

เพราะเรื่องนี้เข้ามาในระหว่างที่สังคมกำลังตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานทางกฎหมาย จากกรณีแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อนของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม  

กรณี บิ๊กป้อม รัฐบาลถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงมากจากการพยายามปกป้อง ข้ออ้างว่า นาฬิกาสารพัดเรือนยืมมาจากเพื่อน ไม่ได้มีน้ำหนักพอรับฟังได้ในสายตาประชาชน

นอกจากนี้ บิ๊กป้อม เป็นคนชอบนาฬิกาเป็นชีวิตจิตใจ แต่กลับไม่มีนาฬิกาเป็นของตัวเองสักเรือน นี่คือ ความย้อนแย้งในตัวเอง ที่สังคมมองว่า พอมีอำนาจสามารถเปลี่ยนผิดเป็นถูกได้

แน่นอนประเด็นของนายเปรมชัย อาจจะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากประเด็น "แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน" ให้รัฐบาลมีเวลาพักหายใจหายคอ แต่ไม่ได้หมายความว่า สามารถปล่อยเลยตามเลยได้ เพราะไม่เกี่ยวกับตัว เนื่องจากเรื่องนี้มีผลข้างเคียงกับรัฐบาลโดยตรง

ขณะนี้คนกำลังจับจ้องเป็นอย่างมากว่า กรณีของ "เปรมชัย" จะจบแบบมหาเศรษฐี หรือผู้มีอำนาจที่หลุดรอดไปได้เสมอหรือไม่

กรณีนี้ไม่เหมือนกรณีก่อนๆ เพราะหลักฐานแวดล้อมค่อนข้างชัดเจน แต่ถ้ากฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้ คนที่ถูกพาลใส่คือ รัฐบาล เพราะมันเป็น 2 ประเด็นติดๆ กัน ตั้งแต่กรณีแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อนของ บิ๊กป้อม ต่อเนื่องด้วยกรณีล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร

ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายล้มเหลวจะดังขึ้นในสังคม จะเกิดวาทกรรม เป็นยุคที่ผู้มีอำนาจ มหาเศรษฐี หลุดรอดเงื้อมือกฎหมายได้ถ้ามีเงินและอำนาจ แล้วมันจะย้อนกลับไปที่ประเด็น บิ๊กป้อม อีกครั้ง

ผู้บริหารประเทศจะต้องรับไปเต็มๆ ในฐานะไม่สามารถพึ่งพาหรือคาดหวังอะไรได้

ข้อเท็จจริง บิ๊กตู่ อาจไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่ด้วยอำนาจในมือที่มีอยู่อย่างล้นพ้น สามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมมันเดินไปได้ โดยปราศจากอำนาจใดๆ ที่จะทำให้บิดเบี้ยว

นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสจากกรณีของ บิ๊กป้อม แต่เป็นการทำเพื่อเรียกศรัทธากลับคืน ทำให้คนในประเทศเห็นว่า ยุคนี้กฎหมายบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม และเป็นที่พึ่งได้

อีกจุดล่อแหลมคือ รัฐบาลเองจะต้องพยายามคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ เพื่อตอบสนองสังคมที่กำลังเชิดชูและความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้เห็นว่า สนับสนุนคนดี มากกว่าการกลัวจะไปเตะตัดขาใครหรือไม่

ถ้ามีเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งเป็นอะไร คนที่ซวยคือ รัฐบาลในฐานะผู้บังคับบัญชา

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการทำเพื่อบิ๊กป้อม แต่ทำเพื่อรัฐบาลทั้งรัฐบาล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"
Thailand Web Stat