เรียกได้ว่าเป็นข่าวสะเทือนใจสำหรับคนไทยเลยทีเดียว หลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.พ.61 เจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่ตะวันตกได้รับแจ้งว่า พบนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งตั้งแคมป์พักในบริเวณห้วยปะชิ ซึ่งเป็นจุดห้ามตั้ง และได้เข้าตรวจสอบจึงพบว่านักท่องเที่ยวหนึ่งในกลุ่มนี้ คือ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บริษัทที่ได้รับงานใหญ่ๆ ของโครงการรัฐบาลมากมาย
โดยจากการเข้าตรวจสอบยังพบอาวุธปืนยาวขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนไรเฟิลติดลำกล้องจำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนลูกซองแฝด จำนวน 1 กระบอก และเครื่องกระสุนพร้อมใช้งาน รวมถึงพบซากไก่ฟ้าหลังเทากับเนื้อเก้ง และจากการเข้าตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติม ยังพบซากเสือดำถูกชำแหละเนื้อและหนังแล้ว กับเครื่องกระสุนปืนอีกจำนวนมากที่ถูกซุกซ่อนไว้บริเวณที่แคมป์พัก
เรียกได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่กันเลยทีเดียว เพราะเสือดำถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อีกทั้งอยู่ในสถานะสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์ด้วย
ที่สำคัญมีความขัดแย้งในตัวของ ITD ที่ได้สัมปทานงานของกรมทางหลวง และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการก่อสร้างสะพานและอุโมงค์ เชื่อมผืนป่าระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับทับลาน และการก่อสร้างสะพานคู่และอุโมงค์ทางลอดสำหรับให้สัตว์เดินลอดข้าม ในพื้นที่รอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 61
“แต่ผู้บริหารยักษ์ใหญ่กลับพาพรรคพวกเข้าป่าแล้วล่าสัตว์เสียเอง”
เมื่อพูดถึงในแง่ของคดี ก็คงต้องให้ทางฝั่งกฎหมายเป็นฝ่ายดำเนินการกันไป แต่ที่ถูกจับตาอีกประเด็น คือ ความเป็นบริษัทมหาชน และความเป็นผู้บริหารสูงสุด มีคดีโด่งดังระดับประเทศ ก็ต้องถามหาความรับผิดชอบต่อสังคมและธรรมาภิบาลของบริษัท ที่ต้องออกมาประกาศต่อสาธารณชนบ้างว่าจะเอายังไงต่อ ถึงแม้จะไม่ผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แต่ในเรื่องของธรรมาภิบาลน่าจะผิดเต็มๆ
โดยทางเอกสารบรรษัทภิบาล ปี 61 ของบริษัทเอง ที่ประกาศต่อผู้ลงทุนและสาธารณชน ซึ่งระบุในหน้า 10 ข้อ 6. ด้านสังคมส่วนรวม ว่า บริษัทจะไม่กระทำการใดๆ ที่จะส่งผลเสียหายต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังต้องแสวงหาโอกาสสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ปลูกฝังจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมทั้งปฏิบัติหรือควบคุมให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมย์ของกฎหมายและกฎระเบียบที่ออก
ขณะที่หน้า 13 ข้อ 1.6 เรื่องผู้บริหารต่อสังคมส่วนรวม "ไม่กระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม" และมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับการฝ่าฝืนข้อกำหนดจริยธรรมและจรรยาบรรณพนักงานเอาไว้ว่า ... “ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางวินัย โดยเริ่มตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดเบี้ยเลี้ยง ตัดค่าจ้าง พักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรืออาจให้ออกจากงาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของความผิดนั้น หรืออาจถูกลงโทษตามกฎหมาย แล้วแต่กรณี”
กรณีนี้ได้ถูกทวงถามจาก นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) ที่อยากให้รัฐบาลในฐานะที่ออกโครงการใหญ่มามากมาย และบริษัทนี้ได้งานไปทำหลายโครงการ ซึ่งน่าจะช่วยกดดันคณะกรรมการบริษัทให้พิจารณาธรรมาภิบาลของผู้บริหารท่านนี้ได้ แต่ก็ต้องอยู่ที่บริษัทเช่นเคย ที่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันคือความน่าเชื่อถือของบริษัทเองที่สั่งสมมาตั้งแต่รุ่นพ่อ มาถึงรุ่นลูก ที่ทำลายลงได้เพียงเพราะ “มาเที่ยวพักผ่อน เพราะแก่จะตายอยู่แล้ว”
ถึงแม้คดีนี้จะจบอย่างไรก็ตาม แต่เชื่อว่าจะไม่เงียบหาย เพราะชื่อเสียงของบริษัทที่โด่งดังมาหลายครั้งหลายครา และเชื่อว่าครั้งนี้สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) ไม่น่าจะปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปได้ ต้องติดตามกันต่อไป ว่าระดับคะแนนธรรมาภิบาลของบริษัทนี้ จากที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4 ดาว จะลดลงเหลือเท่าไหร่ และจะมีมาตรการใดๆ ในด้านธรรมาภิบาลต่อบุคคลท่านนี้บ้าง เป็นเรื่องที่น่าจับตาเลยทีเดียว.
ปฏิญญา สิงห์พิสาร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |