เที่ยวเมืองแพร่ ซาบซึ้งผืนผ้า"แม่ประนอม ทาแปง"


เพิ่มเพื่อน    

    ที่ผ่านมา "เมืองแพร่" เป็นเมืองที่ไม่ใช่หมุดหมายของการเดินทางสู่ภาคเหนือ ผู้คนมักจะผ่านเลยไปน่าน หรือไปเชียงใหม่ เชียงราย แต่ในความเป็นจริงแล้วเมืองแพร่มีเสน่ห์ ไม่น้อยกว่าเมืองเหนืออื่นๆ และในสายตานักสัญจรอาชีพถือว่าเมืองแพร่ยังไม่ช้ำ ยังมีบรรยากาศกลิ่นอายความเป็นเมืองเหนือดั้งเดิมไว้
    คนทั่วไปมักจะรู้จักแพร่ก็เพราะ "แพะเมืองผี" ภูเขาหินแห้งแล้งแห่งเดียวในประเทศไทย จริงๆ เมืองแพร่มีแหล่งที่ชวนแวะไปหาหลายที่ หรือแม้กระทั่งการเที่ยวในตัวเมือง ทั้งสภาพบ้านเรือน ผู้คนก็ยังให้บรรยากาศความเป็นแพร่เหมือนในอดีต และมีให้เห็นอยู่มากมาย แต่ในวันนี้จะพาไปรู้จักแพร่ผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง แม่ประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ ปี 2553 และ 2556 ในสาขาประณีตศิลป์และศิลปะการทอผ้า ผู้รับช่วงมรดกตกทอดภูมิปัญญาการทอผ้าจากบรรพบุรุษเมื่อกว่า 100 ปีก่อน

(สถานีรถไฟบ้านปิน อ.ลอง เมืองแพร่ สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6)


    ในทริปนี้เรื่องราวของคนแพร่ จะเล่าผ่านผืนผ้า เพราะแถบเหนือและอีสาน เป็นแหล่งกำเนิดผ้าที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย  ผ้าผืนหนึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องนุ่งห่ม ห่อหุ้มร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีศิลปะ ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีแฝงไว้ภายใต้ลวดลาย สีสัน และเส้นด้ายอย่างมากมาย ในอดีตผู้ทอผ้ามักมีความตั้งใจสูงสุด ที่จะทำผ้าที่ทอออกมาสวยงาม และพยายามคิดลวดลายที่วิจิตรบรรจงไม่เหมือนใครออกมา
    ธรรมชาติ วัฒนธรรมความเชื่อต่างๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตผู้ทอ ถูกนำมาใส่ไว้ในลวดลายบนผ้าจนกลายเป็นสิ่งที่สวยงามทรงคุณค่า วันเวลาผ่านไปนับร้อยปี ผืนผ้าที่เกิดจากภูมิปัญญาคนโบราณกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าในปัจจุบัน เป็นของหายากที่มีความสูงส่งทั้งในแง่ศิลปะและภูมิปัญญา ผ้าบางผืนจึงมีอายุยาวนานถึง 100-200 ปี และผ้าเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่ได้สูญหายไปตามกาลเวลา บางผืนตกอยู่ภายใต้การครอบครองของนักสะสม บางผืนยังคงเป็นของทายาทเจ้าของดั้งเดิม และความเลื่องชื่อในฐานะแหล่งกำเนิดผ้าโบราณทำให้ในแถบภาคเหนือและอีสานเกิดอาชีพ "นักล่าผ้าโบราณ" ขึ้น พวกนักล่าเหล่านี้สวมบทบาทเป็นทั้งนักสะสม ผู้ซื้อ ผู้ขายในคนคนเดียวกัน

(ผ้าตีนจกที่ขึ้นชื่อของแม่ประนอม ทาแปง)


    และที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ก็เป็นแหล่งผลิตผ้าที่สำคัญมาตั้งแต่โบราณ ผ้าของเมืองลองมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร โดยเฉพาะ "ผ้าตีนจก" เป็นผ้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับแม่ประนอม ซึ่งได้ความรู้การทอมาจากป้า แต่เป็นการเรียนแบบครูพักลักจำ แม่ประนอมเล่าว่าเริ่มทอผ้าเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน โดยแอบดูป้าเวลาทอผ้าที่ใต้ถุนบ้าน พอป้าไปอาบน้ำก็จะแอบมาทอต่อ ตรงไหนผิดก็ถามป้า และใช้ความพยายามเรียนรู้จนจับทางได้ จนทอเป็น แกะลายได้ ด้วยความใฝ่รู้ ทำให้แม่ประนอมเริ่มมีชื่อเสียง ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นนักเรียนศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมป์ ทำให้ได้รับการศึกษาศิลปะเชิงช่างทอ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่

(ผ้าตีนจกลายนกคุ้มที่แม่ประนอมแกะจากผ้าโบราณ เป็นลายมงคล คุ้มครองปกป้องจากคุณไสย แถบยาวแนวดิ่งตรงลงมาตามความยาวของผ้าเป็นแถบอายุ มีความหมายมงคลให้ผู้สวมใส่อายุยืน)


    "ลายผ้าเมืองลอง" เป็นลายผ้าที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร แต่ระยะหลังไม่ค่อยมีคนพบเห็น ไม่มีการสืบทอดการทอ แม่ประนอมเล่าว่า "ผ้าผืนที่ประกวดชนะเลิศได้รางวัลจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นลายผ้าโบราณ ส่วนลายต้นแบบได้มาจากวัดแฉล้ง ที่นั่นมีผู้เฒ่าผู้แก่ไปถวายผ้าเก่าๆ ให้วัด แม่ได้ไปทำบุญเห็นเข้าก็ถูกใจ ทั้งลายทั้งสี เลยขอยืมท่านมาแกะลาย มาทอใหม่จนได้รางวัล"

(แม่ประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ)


    ตำนานผ้าน่าประทับใจยังมีอีก แม่ประนอมเล่า เมื่อครั้งที่อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ มาเมืองลองที่แพร่ ได้ไปเห็นคนเมืองลองเอาผ้าเก่ามาทำผ้าเช็ดเท้า ก็เลยคิดไปหาซื้อผ้าเก่าทั้งหมด และให้แม่ประนอมเป็นคนไปหาผ้าเก่า เวลาไปหาซื้อก็ได้มีโอกาสถามผู้เฒ่าผู้แก่ว่าลายนี้ชื่ออะไร มีความหมายว่ายังไง ก็เลยได้ความรู้ไปในตัว ทำให้รู้ว่าผ้าโบราณมีลายอะไรบ้าง
    ลายเอกลักษณ์ของเมืองลอง มีนก มีหงส์ เป็นสัญลักษณ์ นกคุ้ม เป็นลายมงคลกับผู้ทอและผู้สวมใส่ ลายนกคุ้ม มีหงส์ มีสัตว์ต่างๆ แต่เกือบทุกผืนจะมีนกคุ้มด้วย เพราะคนสมัยก่อนเชื่อว่าจะช่วยปกป้องรักษาให้พ้นภัยจากคุณไสย เพราะบางทีเราอาจจะเข้าไปในสถานที่ไม่ดี จะมีคุณไสยที่คนเหนือเรียกว่า "ตู้" ถ้าใส่ผ้าที่มีลายแบบนี้ก็จะปัดเป่าให้พ้นภัย
    และผ้าโบราณทุกผืนของเมืองลองจะมีหางสะเปา หรือหางสำเภา ทางเหนือเรียกหางสะเปา คนโบราณบอกว่า สะเปาจะพาเราไปสวรรค์ ไปหาพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนา

(กรุผ้าโบราณที่บ้านแม่ประนอม)


    "หางสะเปาของเมืองลองจะมีหลายๆ แบบไม่เหมือนที่อื่น จะมีหางสะเปานก หางสะเปาน้ำพุ หางสะเปาต้นสน จะพลิกแพลงให้ดูสวยงาม ให้ดูหรูขึ้น แทนที่จะเป็นเส้นๆ แบบธรรมดา จะใส่ดอกน้ำพุ ดอกต่อม ต้นสนให้สวยงามขึ้น     เทียบกับผ้าตีนจกที่อื่น เช่น ของไทยโยนก ไทยญวน จะมีหางสะเปาเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนที่เมืองลอง เพราะเมืองลองจะมีหลากหลายและยังมีทางยาวๆ เรียกว่า ต่ออายุ ทำให้ผู้สวมใส่มีอายุยืน"
    แม่ประนอมยังคิดค้นลายใหม่ๆ ขึ้นมา และพัฒนาลายจากแต่ก่อนที่ทำเชิงจกต่อผ้าถุงอย่างเดียว ต่อมาก็พัฒนาขึ้นเป็นจกที่สูงขึ้น กว้างขึ้น ใส่แล้วก็จะดูหรูขึ้นมาอีก ต่อมาก็พัฒนาเป็นผ้าจกเต็มตัวทั้งผืน ส่วนลวดลายที่แม่คิดขึ้นก็มีเป็นสิบๆ ลาย เช่น ลายดอกมะลิ กุหลาบภูพิงค์ เป็นลายล่าสุดที่คิดขึ้นมาตอนเป็นนักเรียนศิลปาชีพที่พระตำหนักภูพิงค์ มองไปเห็นดอกกุหลาบ มองนานๆ จนคิดมาเป็นลวดลายทอผ้า นอกจากนี้ยังมีลายพุ่มดอก ลายผักกูด ตัวบุ้ง ตัวหนอน ลายต่อม หรือลายจุด หรือมุก ส่วนการคิดลายใหม่ๆ ก็เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาซื้อ ถ้าไม่มีลายใหม่ก็จะขายไม่ออก คนทอก็จะท้อใจ ทำให้ยากจะหาคนสืบทอดความรู้

(ผ้าตีนจกที่ยาวที่สุดในประเทศไทย แม่ประนอมใช้เวลาทอร่วม 20 กว่าปี ได้ความยาว 130 หลา และยืนยันจะทอต่อไป)


    ที่บ้านของแม่ประนอมที่อำเภอลอง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมผ้าจก โดยยกย่องว่าที่เมืองลองเป็นถิ่นกำเนิดผ้าตีนจก  และยังเป็นจุดจำหน่ายผ้าทอตามตำรับแม่ประนอม ซึ่งบางผืนเป็นผลงานของลูกศิษย์ลูกหาที่แม่ประนอมจะขึ้นลายทอให้ และที่บ้านแม่ประนอมยังเป็นที่เก็บสะสมผ้าโบราณ มีผ้าที่แม่ได้รางวัลจากการประกวดหลายร้อยผืน รวมทั้งผ้าโบราณอายุ 200 ปี ให้คนที่สนใจได้ศึกษาชื่นชม ทำให้พื้นที่ทั้งชั้นล่างและชั้นบนของบ้านตระการตาไปด้วยผ้าหลายร้อยผืน
    "อยากให้ความรู้ทอผ้าดำรงคงอยู่คนรุ่นหลังๆ ได้สืบทอดต่อไป ไม่อยากให้หายไปกับเรา ถ้าเป็นผ้าที่เราสั่งสม คิดค้นทอขึ้นมา ครั้งแรกทำส่งประกวด พอได้รางวัลมีคนอยากได้มาขอซื้อ แต่เราคิดใส่ใจทำเต็มที่ ตั้งใจทำส่งประกวด ใส่จิตวิญญาณไปในผืนผ้าที่เราทำ ก็ไม่อยากขาย เก็บๆ ไว้จนมีจำนวนมากหลายร้อยชิ้น มีคนบอกว่าแม่เป็นนักล่ารางวัล ทีนี้พอเก็บได้เยอะอยากอวด อยากโชว์ ผลงานที่เราสะสมไว้อยากให้รู้ว่ามีคุณค่ายังไง ดียังไง ลวดลายทั้งหมด เราทำแบบดั้งเดิมก็มี เราแกะจากของดั้งเดิม และพัฒนามาเป็นลายใหม่ก็มี ถ้าเราจะอนุรักษ์อย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้ ต้องมีตลาดหรือที่จำหน่ายถึงจะอยู่รอด จึงต้องพัฒนาพลิกแพลงให้มีลายใหม่ๆ แต่เรายังคงอนุรักษ์แบบโบราณดั้งเดิมของเราอยู่"

(นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม เปิดงานถนนวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีดอนคำ)


    โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เป็นประธานเปิดงานบ้านแม่ประนอม แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เนื่องจากแม่ประนอมเป็นผู้เชี่ยวชาญในการคิดค้นวิธีการเกี่ยวกับการทอผ้าตีนจก อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของอำเภอลอง ให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และยังเป็นการพัฒนาให้บ้านศิลปินแห่งชาติกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกทาง
    ในงานมีกิจกรรม นิทรรศการประวัติผลงานทอผ้าเมืองลอง ซุ้มผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมทางวัฒนธรรมอาหาร ขนมพื้นบ้านสไตล์เมืองลอง การสาธิตทอผ้าตีนจกโบราณ
    นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังเปิดถนนวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีดอนคำ ตลาดวัฒนธรรมในวัด เพื่อให้เป็นตลาดประชารัฐ สร้างรายได้และเศรษฐกิจให้กับครัวเรือนและชุมชนต่างๆ กระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชนภูมิใจในเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น
    "โครงการตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม และงานวัดเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน และเราหวังว่ากิจกรรมพวกนี้จะช่วยสะท้อนมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายมิติได้อย่างดี" นายวีระกล่าว

(ระเบิดที่ญี่ปุ่นมาทิ้งไว้เมืองแพร่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2)


    นอกจากนี้ เมืองแพร่ยังมีตำนานเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง ตำนานเสรีไทยเมืองแพร่ ระเบิดที่ญี่ปุ่นขับเครื่องบินมาทิ้งบอมบ์เมืองแพร่ ซึ่งยังปรากฏให้เห็น จนมีคำว่าแพร่แห่ระเบิด เป็นเรื่องเล่าขำขันว่า คนแพร่รุ่นหลังไปเจอระเบิดสงครามโลกแล้วไม่รู้ คิดว่าเครื่องรางของขลัง เลยเอามาแห่ แล้วเกิดระเบิดขึ้นตายกันมากมาย แต่นี่เป็นเรื่องเล่าที่เรียกว่าโม้ เกินจริงไปบ้าง แต่ลูกระเบิดนั้นมีจริง มีการขุดพบอย่างแน่นอน

(นักท่องเที่ยวที่แวะมาดื่มกาแฟกำลังอ่านข้อมูลเกี่ยวกับเมืองแพร่ที่เจ้าของร้านกาแฟทำไว้อย่างดี)


    ด้วยเหตุนี้จึงมีการเอาเรื่องราวเกี่ยวกับระเบิดมาเป็นร้านกาแฟ เช่น ร้านกาแฟแห่ระเบิด ที่รสชาติเข้มข้น และมีน้ำมะนาวใส่มะกรูด เป็นซิกเนเจอร์หาได้ที่เดียว ในร้านนอกจากแต่งแบบสุดชิกสไตล์เหนือแล้ว ยังมีเนื้อหาเรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวเมืองแพร่ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประวัติ ความรู้เกี่ยวกับเมืองแพร่ติดไม้ติดมือไปด้วย
    อีกแห่งที่นักท่องเที่ยวควรไปก็คือ สถานีรถไฟบ้านปิน อำเภอลอง อาคารเก่าแก่สร้างสมัย ร.6 ที่มีมนต์ขลังสวยงาม หาได้ยากยิ่งในยุคที่จะทำลายล้างสถานีรถไฟเก่าๆ ก็จะดึงดูดท่านให้หลงรักแพร่ได้อีก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"