ปปช.ร้อนแจงยิบนาฬิกา ศาลชี้ช่องสอยจริยธรรม


เพิ่มเพื่อน    

  “ป.ป.ช.” ร้อนตัว แจงละเอียดยิบกรณีตีตก “นาฬิกาป้อมยืมเพื่อน” ไล่ตั้งแต่ความยุ่งยากในการหาข้อมูล พร้อมปัดเทียบเคียงคดี “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” ไม่ได้ อ้างชี้ชัดปลัด คค.เลือกสี รุ่นรถเอง แสดงความเป็นเจ้าของ ส่วนนาฬิกานั้นแสดงชัดเป็นของ “ปัฐวาท” ศาลชี้ช่องฟัน “ป.ป.ช.” ลั่นพร้อมหากยื่นเรื่องละเมิดจริยธรรมร้ายแรง เหมือนครั้งขึ้นเงินเดือนตัวเอง

    เมื่อวันที่ 18 ม.ค. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการประชุมครั้งที่ 1054-125/2561 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 พิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สวมใส่นาฬิกาหรูแต่ไม่แจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 ว่ากรณียังไม่มีมูลเพียงพอว่า พล.อ.ประวิตรจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน และให้แจ้งข้อมูลนาฬิกาจำนวน 22 เรือน ต่อกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช.ได้แถลงข้อเท็จจริงให้สื่อมวลชนทราบแล้วนั้น
    ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2562 ในเวทีการพบปะระหว่าง ป.ป.ช.กับบรรณาธิการสื่อมวลชน ได้มีการสอบถามเหตุผลการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ซึ่งเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมโดยทั่วกัน สำนักงาน ป.ป.ช.จึงขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีดังกล่าวของ ป.ป.ช. ว่าในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริงของนาฬิกา ป.ป.ช.ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดยืนยันว่า นาฬิกาดังกล่าวเป็นของ พล.อ.ประวิตร คงปรากฏเพียงภาพถ่ายที่ พล.อ.ประวิตรสวมใส่อยู่ ซึ่งรับฟังได้เพียงว่า พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ครอบครองใช้เท่านั้น ส่วนความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงในบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ป.ป.ช. ยังฟังยุติไม่ได้ ซึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ทั้งพยานวัตถุ พยานเอกสาร และพยานบุคคล ต่างมีน้ำหนักฟังได้ว่านาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์
    สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ซื้อนาฬิกาจากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายในต่างประเทศนั้น กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่าการตรวจสอบทรัพย์สินในต่างประเทศในกรณีนี้ เป็นการตรวจสอบไปยังประเทศที่บริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายนาฬิกาตั้งอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป ซึ่งมีหลักการการขอความร่วมมือระหว่างประเทศที่เคร่งครัด และบางประเทศความผิดในเรื่องการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและไม่เป็นคดีทุจริต แต่เป็นเพียงการตรวจสอบในเรื่องทรัพย์สินเท่านั้น ขณะที่การขอความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านอัยการสูงสุดเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานมากเป็นปี รวมทั้งนาฬิกาเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียนตามกฎหมาย มีการซื้อขายและเปลี่ยนมือได้ง่าย และเป็นข้อมูลส่วนบุคคล บางประเทศจึงปฏิเสธไม่เปิดเผย 
    ส่วนประเด็นที่นำกรณีการตรวจสอบคดีนาฬิกาหรูไปเทียบเคียงกับการตรวจสอบคดีรถโฟล์คสวาเกนของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมนั้น อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจอย่างถูกต้องว่าพฤติการณ์และข้อเท็จจริงของทั้งสองคดีแตกต่างกัน สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้จัดทำตารางเปรียบเทียบ เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบเป็นการทั่วไปอย่างละเอียด 
ทั้งนี้ ตารางเปรียบเทียบได้ยกกรณีทั้ง 2 คดีขึ้นมาเปรียบเทียบ ก่อนสรุปว่ากรณีนายสุพจน์นั้น เมื่อรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่รู้กันทั่วไป ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายเอนก เพื่อนนายสุพจน์ ให้เงินภรรยานายสุพจน์ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อให้ใช้และจอดอยู่ที่บ้านของนายสุพจน์ ประกอบกับพฤติกรรมแวดล้อมตั้งแต่การเลือกรุ่น เลือกสีรถเอง การขอเลขทะเบียนรถให้ตรงกับรถคันอื่นในบ้าน การบำรุงรักษาเอง เป็นการแสดงเจตนาครอบครอง หรือยึดถือไว้เพื่อตนตั้งแต่แรก รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของนายสุพจน์ ส่วนกรณีนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตรนั้น อยู่ในความครอบครองของทายาทนายปัฐวาท และมีพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันว่านายปัฐวาทเป็นเจ้าของ กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากจึงวินิจฉัยว่า นายปัฐวาทเป็นเจ้าของนาฬิกาตามภาพข่าว 21 เรือน และได้ให้ พล.อ.ประวิตรยืมใช้ในโอกาสต่างๆ ประกอบกับนายปัฐวาทได้ให้เพื่อนคนอื่นยืมใช้นาฬิการาคาแพงด้วย จึงรับฟังว่าเป็นการกระทำโดยปกติของนายปัฐวาท และไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่า พล.อ.ประวิตร เป็นเจ้าของนาฬิกาทั้ง 22 เรือนดังกล่าว
    นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ตอบข้อซักถามสื่อมวลชนถึงกรณี ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมากตีตกคดีครอบครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรจะเข้าข่ายการละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระหรือไม่ หากมีการยื่นร้องกล่าวหา ป.ป.ช.ในส่วนของคดีอาญาในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ว่าขั้นตอนตามกฎหมาย ถ้าหากมีการร้องเข้ามาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็จะพิจารณาส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกานำเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ เหมือนคราวที่อดีตกรรมการ ป.ป.ช.เคยถูกร้องเรื่องขึ้นเงินเดือนตัวเอง ซึ่งขั้นตอนการร้องคดีและการพิจารณา มีระเบียบของศาลฎีกาที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และองค์กรอิสระ มีคดีร้องขึ้นสู่การพิจารณาแล้วหรือไม่ นายสราวุธกล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มี เนื่องจากเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่และไม่ค่อยมีคนทราบ 
    ถามว่า เมื่อวันพฤหัสบดี ป.ป.ช.แถลงชี้แจงเรื่องนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ส่วนที่มีการตีตกในส่วนของคดีอาญา ในประเด็นเรื่องการรับของที่มูลค่าเกิน 3 พันบาท ถือว่าเข้าข่ายละเมิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ นายสราวุธกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. จึงไม่สามารถที่จะให้ความเห็นได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการให้ความเห็นการทำงานของหน่วยงานอื่นๆ แต่ในส่วนศาลเอง ถ้ามีการยื่นเรื่องเข้ามา ศาลพร้อมพิจารณาคดี
    ด้าน พล.อ.ประวิตร เมื่อวันศุกร์ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว หลังจากที่ให้สัมภาษณ์ในหลายๆ เรื่องแล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่บอกให้รออีก 3 ปีสร้างรถไฟฟ้าเสร็จก่อน หรือเรื่องเกี่ยวกับประเด็นเหตุลอบวางระเบิดโรงแรมดุสิตดี 2 ที่ประเทศเคนยา ที่บอกว่าเพราะอาหารอร่อยมั้ง.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"