เมื่อ 'อีลอน มัสก์' ลุยจีน!


เพิ่มเพื่อน    

     อีลอน มัสก์: ผมชอบเมืองจีนมากเลยครับ และผมจะมาที่นี่บ่อยขึ้นอีกครับ
    นายกฯ หลี่เค่อเฉียง: งั้นเราก็จะออกวีซ่าถาวร (Green Card) ให้ท่านเลย!
    นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างอีลอน มัสก์กับนายกฯ หลี่เค่อเฉียงของจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และสร้างความเกรียวกราวไปทั่ว
    ขณะที่จีนกับอเมริกายังไม่เลิกราสงครามการค้าระหว่างกัน อีลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีมะกันก็สร้างความฮือฮาด้วยการไปประกาศเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ยี่ห้อดัง Tesla ที่เซี่ยงไฮ้
    เหมือนหนึ่งจะไม่สนใจว่าการเมืองระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์กับสีจิ้นผิงจะเดินหน้าไปอย่างไร เพราะมองเห็นว่าเป็นเพียงอุปสรรคทางการเมืองระยะสั้นเท่านั้น
    สีจิ้นผิงชาญฉลาดพอที่จะมองข้ามช็อตทรัมป์เพื่อดึงดูดให้เทคโนโลยีล่าสุดของอเมริกาในทุกๆ ด้านสามารถมาปักหลักในจีนได้
    ทรัมป์จะรอดวิกฤติการเมืองของตัวเองได้หรือไม่ การเจรจายุติสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่จะบรรลุข้อตกลงได้อย่างไร นั่นเป็นเรื่องปลีกย่อยหากผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่จะมองข้ามผ่านปัญหาในปัจจุบัน
    ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา สำนักข่าวในอเมริกาและจีนจะพร้อมใจกันรายงานข่าว Elon Musk ตกลงกับรัฐบาลจีนในการก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Tesla ได้สำเร็จอย่างครึกโครม
    ต้องถือว่าอีลอน มัสก์ทุ่มเต็มตัวในการลุยเมืองจีนครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าทรัมป์อาจจะไม่พอใจกับความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเขา
    เพราะทรัมป์เรียกร้องให้นักลงทุนและบริษัทมะกันในต่างประเทศย้ายฐานการผลิตกลับบ้าน เพื่อสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบาย America First 
    แต่อีลอน มัสก์ก็ตระหนักดีว่าหากเขาเดินตามแนวทางของทรัมป์ จีนก็อาจจะก้าวล้ำไปในเทคโนโลยีด้านนี้อยู่ดี ดังนั้นหากมีโอกาสที่จีนพร้อมจะอ้าแขนรับเขาตอนนี้ เขาก็ไม่ควรจะพลาดโอกาสนี้ไป
    ข่าวบอกว่า Tesla ทุ่มทุนก่อตั้งฐานการผลิตใหม่ในประเทศจีนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือไม่น้อยกว่า 1.5 แสนล้านบาททีเดียว เรียกได้ว่าเป็นการขยายฐานการผลิตไปจีนเพื่อหวังตลาดใหญ่
    เพราะยิ่งวันชนชั้นกลางของจีนก็ใหญ่ขึ้น มีอำนาจซื้อมากขึ้น นักธุรกิจและนักลงทุนอเมริกันไม่อาจจะยึดหลัก "ชาตินิยม" แบบทรัมป์จนอาจถูกแซงในวันข้างหน้า
    เหมือนที่ Apple เผชิญกับปัญหายอดขายตกเพราะตลาดจีนหดตัวลง และแนวทางของทรัมป์ในการลงโทษบริษัท Huawei ของจีนด้วยการจับผู้บริหารระดับสูงที่เป็นลูกสาวผู้ก่อตั้ง กระทั่งนำไปสู่การคว่ำบาตรของผู้บริโภคจีนบางส่วน
    อีกทั้งผลจากสงครามการค้าระหว่างสองประเทศก็ทำให้ตลาด iPhone และสินค้าตัวอื่นๆ ของ  Apple ในจีนมีปัญหาขึ้นมาอย่างฉับพลัน
    ถึงขั้นที่ทิม คุก ผู้บริหารสูงสุดของ Apple ยอมรับว่าประเมินผลทางลบเกี่ยวกับสงครามการค้าที่มีต่อสินค้าของตนเองต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
    ดังนั้น อีลอน มัสก์จึงหาญกล้าฝืนแนวทางของทรัมป์ ด้วยการตกลงทำสัญญาก่อตั้งโรงงานใหม่บนเนื้อที่กว่า 860,000 ตารางเมตรในประเทศจีน โรงงานตั้งอยู่ในเมือง Lingang ใกล้กับ Shanghai ของจีน
    แม้ Tesla จะไม่ได้แจ้งจำนวนเงินที่จ่ายไปกับเฉพาะค่าที่ดิน แต่หน่วยงานของรัฐในประเทศจีนเผยว่ามูลค่าที่ดินที่ Tesla จ่ายอยู่ที่ประมาณ 140 ล้านเหรียญสหรัฐ  (หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท) 
    ที่น่าสนใจคือ โรงงานนี้ถือเป็นโรงงานแรกของ Tesla ที่ตั้งนอกสหรัฐฯ
    ผู้บริหารด้านการตลาดโลกของ Tesla บอกว่า การตั้งโรงงานในจีนจะเป็นก้าวสำคัญสู่การผลิตและการขายรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla ในเอเชียอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเขามองตลาดเอเชียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง
    ที่ผ่านมาแม้จะมีอุปสรรคเรื่องภาษี แต่ตลาดจีนก็ยังคงเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 รองจากอเมริกา  ด้วยยอดขายกว่า 17,000 คันในปี ค.ศ.2018 ในขณะที่ตลาดมะกันมียอดขายประมาณ 50,000 คัน
    เขาประเมินแล้วว่าการตั้งโรงงานในจีนย่อมทำให้สามารถลดค่าภาษีนำเข้ารถยนต์จำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ
    อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายในจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ขยายตัวได้อีกไม่น้อย
    แผนของ Tesla คือจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากโรงงานในจีนภายในไม่เกิน 3 ปี ช่วงแรกจะมีกำลังการผลิตที่ประมาณ 250,000 คันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 คันต่อปีภายในไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า เห็นไหมครับว่าอีลอน มัสก์ไม่ได้มองอะไรแค่วันนี้ เขามองไป 20 ปีข้างหน้าและปรับเปลี่ยนให้ทันเทคโนโลยีตลอดเวลา
    วิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นระหว่างอีลอนกับโดนัลด์นี่คนละเรื่องโดยสิ้นเชิง!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"