18 ม.ค.62 - นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 1054 – 125/2561 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 พิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สวมใส่นาฬิกาหรูแต่ไม่แจ้งนาฬิกาดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 ว่า กรณียังไม่มีมูลเพียงพอว่า พล.อ.ประวิตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนา ไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน และให้แจ้งข้อมูลนาฬิกาจำนวน 22 เรือน ต่อกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช..ได้แถลงข้อเท็จจริงให้สื่อมวลชนทราบแล้วนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ในเวทีการพบปะระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับบรรณาธิการ สื่อมวลชน ได้มีการสอบถามเหตุผลในการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจต่อสังคมโดยทั่วกัน สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีดังกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริงของนาฬิกาดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดยืนยันว่า นาฬิกาดังกล่าวเป็นของ พล.อ.ประวิตร คงปรากฏเพียงภาพถ่ายที่พลเอกประวิตร สวมใส่อยู่ ซึ่งรับฟังได้เพียงว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ครอบครองใช้เท่านั้น ส่วนความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงในบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ป.ป.ช. ยังฟังยุติไม่ได้ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ทั้งพยานวัตถุ พยานเอกสาร และพยานบุคคล ต่างมีน้ำหนักฟังได้ว่านาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์
สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ซื้อนาฬิกาจากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่าย ในต่างประเทศนั้น กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่าการตรวจสอบทรัพย์สินในต่างประเทศในกรณีนี้ เป็นการตรวจสอบไปยังประเทศที่บริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายนาฬิกาตั้งอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบทวีปยุโรปซึ่งมีหลักการการขอความร่วมมือระหว่างประเทศที่เคร่งครัด ในการดำเนินการขอความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยผ่านอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางนั้น จึงมีประเด็นสำคัญในเรื่องหลักความผิดสองรัฐ หรือ Dual Criminality ซึ่งมีหลักการว่าฐานความผิดในการขอความร่วมมือต้องเป็นความผิดทางอาญาของประเทศผู้รับคำร้องด้วย ซึ่งกรณีนี้เป็นความผิดในเรื่องการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
ซึ่งในบางประเทศไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและไม่เป็นคดีทุจริต แต่เป็นเพียงการตรวจสอบในเรื่องทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีที่ไม่เป็นความผิดทางอาญาในประเทศผู้รับคำร้อง ประเทศดังกล่าวจะปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ นอกจากนั้นการขอความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านอัยการสูงสุดเป็นกระบวนการตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานานมากเป็นปีในการขอความร่วมมือดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช.จึงได้ดำเนินการตามระเบียบ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ. 2555 ข้อ 23 ซึ่งกำหนดให้ในกรณีจำเป็นต้องตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ในต่างประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการขอให้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลของประเทศไทยในประเทศดังกล่าวตรวจสอบข้อมูลให้ได้ โดยตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายนาฬิกาที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เนื่องจากทรัพย์สินในกรณีนี้คือนาฬิกาซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียนตามกฎหมาย มีการซื้อขายและเปลี่ยนมือได้ง่าย ทำให้การติดตามเป็นไปได้ยาก ประกอบกับข้อมูลความเป็นเจ้าของดังกล่าวถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล บางประเทศจึงปฏิเสธไม่เปิดเผย นอกจากนี้บางประเทศได้มีการอ้างถึงหลักความผิดสองรัฐ หรือ Dual Criminality โดยแจ้งว่าการยื่นบัญชีเท็จไม่เป็นความผิดอาญาในประเทศของตน จึงปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลไม่ว่าจะมีการขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม
สำหรับประเด็นที่มีการนำกรณีการตรวจสอบคดีนาฬิกาหรู ไปเทียบเคียงกับการตรวจสอบคดีรถโฟล์กสวาเกนของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจอย่างถูกต้องว่าพฤติการณ์และข้อเท็จจริงของทั้งสองคดีแตกต่างกัน สำนักงาน ป.ป.ช..จึงได้จัดทำตารางเปรียบเทียบ เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบเป็นการทั่วไป ดังนี้
1. พฤติการณ์การได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้ต้องวินิจฉัยของนายสุพจน์นั้น คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ตรวจค้นบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ที่เกิดเหตุ และพบรถยนต์คันนี้ในบ้านของนายสุพจน์ นายสุพจน์ ให้การว่านายเอนก เป็นเพื่อนที่รู้จักกันมากว่า 20 ปี นายเอนก เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และเป็นผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้ยืมใช้เพื่อให้สมกับฐานะอธิบดีกรมทางหลวง เนื่องจากนายเอนก เห็นว่ารถยนต์ที่นายสุพจน์ ใช้อยู่มีสภาพเก่า นายสุพจน์ จึงได้ขอให้กรมการขนส่งทางบกจัดการเรื่องหมายเลข ทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้ ซึ่งตรงกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันอื่นในบ้านของนายสุพจน์ นายเอนกให้ถ้อยคำว่าตนซื้อรถยนต์คันนี้ให้กับ ภรรยาของ นายสุพจน์ โดยมอบเงินสดให้ ภรรยาของนายสุพจน์รวมประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อไปซื้อรถยนต์และขอหมายเลขทะเบียนรถยนต์ด้วยตนเอง เพื่อเป็นการตอบแทนที่ ภรรยาของนายสุพจน์เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทของนายเอนก
ส่วนพฤติการณ์การได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เป็นเหตุให้ต้องวินิจฉัยของ พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่านาฬิกาดังกล่าวไม่ใช่ของตนแต่เป็นของนายปัฐวาท ที่ตนยืมมาใส่และได้คืนไปหมดแล้ว นอกจากนี้ คณะทำงานได้ไปตรวจสอบนาฬิกาดังกล่าวที่บ้านของนายปัฐวาท พบนาฬิกาหรูจำนวนมาก (มากกว่าจำนวนที่ขอให้ตรวจสอบ) และพบนาฬิกาที่ตรงกับภาพถ่ายจำนวน 20 เรือน พบใบรับประกันแต่ไม่พบตัวเรือน 1 เรือน ไม่พบตัวเรือนตามภาพถ่ายและใบรับประกัน 1 เรือน * นายปัฐวาท เป็นผู้มีฐานะดี เป็นคหบดี ขณะมีชีวิต เป็นประธานกรรมการของบริษัท คอม-ลิงค์ จำกัด นายปัฐวาท คอยช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับกลุ่มเพื่อนที่เคยศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และให้เพื่อนฝูงยืมนาฬิกาไปใช้สวมใส่ ซึ่งรวมถึงพลเอก ประวิตร ด้วย * พยานบุคคลให้ถ้อยคำว่านายปัฐวาท เป็นผู้ชอบสะสมนาฬิกาและเป็นเพื่อนสนิทกับพลเอก ประวิตร จึงมักให้พลเอก ประวิตร ยืมนาฬิกาไปสวมใส่เป็นประจำ
2.พฤติการณ์การครอบครองและการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินของนายสุพจน์นั้น บุตรสาวของนายสุพจน์ ให้ถ้อยคำว่านายสุพจน์ ใช้รถยนต์ดังกล่าวเป็นประจำ ภรรยาของนายสุพจน์ให้ถ้อยคำด้วยว่าเป็นผู้ซื้อและขอหมายเลขทะเบียนรถยนต์ด้วยตนเอง โดยนำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้และเก็บรักษาไว้ตั้งแต่ซื้อจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งนำไปเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงเอง นายเอนก ก็ไม่เคยขอให้นำรถมาคืน ส่วน พฤติการณ์การครอบครองและการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตรนั้น พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่านาฬิกาตามภาพที่ปรากฏเป็นข่าวที่ตนเป็น ผู้สวมใส่โดยยืมมาจากนายปัฐวาท ในลักษณะสลับสับเปลี่ยนกันไปมาเป็นระยะเวลานานมาแล้ว นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร สวมใส่นาฬิกาตามที่ปรากฏเป็นข่าว อีกทั้งตรวจพบนาฬิกาที่ปรากฏเป็นข่าวเก็บรักษาอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท
3. หลักกฎหมายที่ปรับใช้ของนายสุพจน์ และพล.อ.ประวิตร คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 32 และมาตรา 39 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุ นิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตำแหน่งหรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี ตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด
4. บทสันนิษฐานการเป็นเจ้าของนายสุพจน์นั้นคือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 17/1 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของรถยนต์ และตามมาตรา 4 บัญญัติว่า เจ้าของรถ หมายความรวมถึงผู้มีรถไว้ในครอบครองด้วย ส่วนบทสันนิษฐานของ พล.อ.ประวิตร คือ หลักการครอบครอง มาตรา 1369 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน และมาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้สิทธิครอบครอง รวมถึงหลักกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และ5. ข้อวินิจฉัย กรณีนายสุพจน์นั้น เมื่อรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์โดยมีข้อเท็จจริง ที่รู้กันทั่วไปว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อาจไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงก็เป็นได้ จึงเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 17/1 เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์จะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์เสมอไป ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในรถยนต์หรือไม่ ย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์ในการซื้อ การครอบครอง รวมถึงการใช้รถยนต์ด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายเอนก ให้เงินภรรยาของนายสุพจน์ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อให้นายสุพจน์ ได้ใช้และจอดอยู่ที่บ้านของนายสุพจน์ ประกอบกับพฤติกรรมแวดล้อมตั้งแต่การเลือกรุ่น เลือกสีรถเอง การขอเลขทะเบียนรถให้ตรงกับรถคันอื่นในบ้าน การบำรุงรักษาเอง เป็นการแสดงเจตนาครอบครอง หรือยึดถือไว้เพื่อตนตั้งแต่แรก รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของนายสุพจน์
ส่วนข้อวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประวิตรนั้น พบพยานวัตถุเป็นนาฬิกาทั้งหมด 20 เรือน ไม่พบตัวเรือนแต่พบพยานเอกสารเป็นใบรับประกัน.1.เรือน ไม่พบทั้งตัวเรือนและใบรับประกัน 1 เรือน รวม 22 เรือน อยู่ในความครอบครองของทายาทนายปัฐวาท และมีพยานบุคคลและพยานเอกสาร ยืนยันว่านายปัฐวาท เป็นเจ้าของ กรรมการ ป.ป.ช..เสียงข้างมากจึงวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานฟังได้ว่า นาฬิกาที่ปรากฏเป็นข่าวเก็บรักษาอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท และเป็นส่วนหนึ่งของนาฬิการาคาแพงที่นายปัฐวาท ได้สะสมไว้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือ เพื่อตน จึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวว่านายปัฐวาท เป็นเจ้าของนาฬิกาตามภาพข่าวจำนวน 21 เรือน และได้ให้ พล.อ.ประวิตร ยืมใช้ในโอกาสต่างๆ ตามที่ปรากฏในภาพข่าว
ประกอบกับนายปัฐวาท ได้ให้เพื่อนคนอื่นยืมใช้นาฬิการาคาแพงด้วย จึงรับฟังว่าเป็นการกระทำโดยปกติของนายปัฐวาท ที่ช่วยดูแลกลุ่มเพื่อนเก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียลที่สนิทสนมกัน รวมถึงเพื่อนกลุ่มอื่นด้วย ในส่วนของ นาฬิกาอีก 1 เรือน ที่ไม่พบตัวเรือนและไม่พบใบรับประกันนั้น จากการตรวจสอบยังไม่พบรายละเอียดข้อมูลนาฬิกาเรือนดังกล่าว แต่เมื่อนาฬิกาเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย และนายปัฐวาท ได้เสียชีวิตไปแล้ว และเมื่อรับฟังว่า พล.อ.ประวิตร ได้ยืมนาฬิกาจากนายปัฐวาท มาสวมใส่ในการออกงานต่างๆ จำนวน 21 เรือนข้างต้น จึงรับฟังได้ว่า พล.อ.ประวิตร ได้ยืมนาฬิกาจากนายปัฐวาท มาสวมใส่ในแต่ละโอกาสและได้คืนนาฬิกาดังกล่าวแล้ว จึงไม่ได้มีเจตนายึดถือนาฬิกาดังกล่าวไว้เพื่อตน และไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่าพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเจ้าของนาฬิกาทั้ง 22 เรือนดังกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |