เลือกตั้งเงินสะพัด8หมื่นล. 10ธุรกิจรับอานิสงส์ดันจีดีพี


เพิ่มเพื่อน    

    หอการค้าไทยคาดเงินสะพัดช่วงเลือกตั้ง 8 หมื่นล้าน 10 ธุรกิจรับอานิสงส์ ดันจีดีพีขยับ 0.3% ชี้ถ้าได้รัฐบาลมีเสถียรภาพเชื่อเศรษฐกิจโตถึง 4.2% เอกชนประสานเสียงอยากเห็นเลือกตั้ง
    เมื่อวันที่ 17 มกราคม นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในงานสัมมนา "เศรษฐกิจไทยกับการเลือกตั้ง" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ปี 2562 จะมีจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทย ก็คือมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพื่อให้นโยบายและแผนงานต่างๆ เดินหน้า แต่ขณะเดียวกัน ต้องติดตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย  ซึ่งหากดูภาวะเศรษฐกิจไทยทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หอการค้าไทยได้ประเมินไว้ว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 โดยในช่วงไตรมาสแรกอาจชะลอตัวเล็กน้อย แต่ยังเชื่อว่าหากการเลือกตั้งออกมาอย่างไร โดยการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 
    ทั้งนี้ ทางศูนย์ประเมินว่าจะมีเงินสะพัดจากการเลือกตั้งทั้งเลือกตั้งในระดับประเทศและเลือกตั้งท้องถิ่นได้มากกว่า 80,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสะพัดที่นำไปใช้ในการเลือกตั้งใหญ่กว่า 50,000 ล้านบาท ที่จะแบ่งเป็นการนำไปใช้ผ่านสื่อโฆษณาต่างๆ ผ่านกระตุ้นยอดค้าปลีก และอื่นๆ โดยอีก 30,000 ล้านบาท จะเป็นเงินสะพัดจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น โดยเงินสะพัดในการเลือกตั้งครั้งนี้จะดันยอดจีดีพีของไทยได้ถึงร้อยละ 0.3
    "ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการเลือกตั้ง ได้แก่ ธุรกิจการพิมพ์และการโฆษณา, การค้าส่งค้าปลีก, การจำหน่ายน้ำมัน, การผลิตกระดาษ, ภัตตาคารและร้านอาหาร, การผลิตน้ำมันปิโตรเลียม, การบริการทางด้านธุรกิจ, โรงแรมและที่พัก, การผลิตไฟฟ้า และการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์" นางเสาวณีย์ระบุ
    อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองนั้น ต้องไปดูว่าหลังการเลือกตั้งแล้วการเมืองจะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากเป็นไปในทิศทางที่ดี จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.2
    ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งของไทยในครั้งนี้ถือว่าสำคัญอย่างมาก มีความคาดหวังในภาคธุรกิจอย่างสูง ที่อยากจะให้มีการเลือกตั้ง และทุกฝ่ายรับทราบว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาจะเป็นรัฐบาลผสม และอยากเห็นแผนหรือนโยบายต่างๆ ให้เป็นนโยบายที่ต่อเนื่อง เพราะขณะนี้ความคาดหวังต่อระบบเศรษฐกิจไทย อยู่ที่แผนการลงทุนของภาคเอกชนแบบระยะยาวที่จะสร้างความมั่นใจ และพร้อมที่จะจัดทำแผนลงทุนได้ ดังนั้น หากไม่มีการเลือกตั้ง ยิ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีปัญหาได้
    ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีเรื่องของปัจจัยภายนอก เนื่องจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาเศรษฐกิจจากนอกประเทศมาก อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ดูได้จากตัวเลขการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ การบริโภคที่ยังเติบโตได้ดี ขณะที่เศรษฐกิจจีนเชื่อว่าในปีนี้จะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจจีนและสหรัฐยังเติบโตได้ดี เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย
    น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย ( สรท.) กล่าวว่า ภาคการส่งออกคาดหวังว่าไทยจะมีการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีรัฐบาลแล้วภาคเอกชนอยากเห็นรัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ และกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก และอยากให้ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย ที่ต้องฝากรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งการดูแลค่าเงินบาทไม่ควรที่จะแข็งค่ากว่ากลุ่มอาเซียนด้วยกัน ซึ่งไทยค่าเงินบาทแข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าร้อยละ 10 ถือว่าแข็งค่ามากเกินไป
    นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจค้าปลีกไทยอยากเห็นการเลือกตั้ง เพราะหลายประเทศกำลังจับตาประเทศไทยอยู่ โดยเฉพาะภาคธุรกิจค้าปลีกที่หลายประเทศอยากเข้ามาลงทุนค้าปลีกในประเทศไทย และสิ่งสำคัญอยากให้รัฐบาลใหม่มีท่าทีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของโครงสร้างภาษีต่างๆ ที่ไทยยังมีอัตราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หากโครงสร้างภาษีไทยมีการปรับลดลง เชื่อว่าจะอำนวยความสะดวกให้หลายประเทศเข้ามาลงทุน และเป็นการกระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยวของไทยสูงขึ้น เม็ดเงินจะไหลเข้าประเทศได้อีกจำนวนมหาศาล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"