เพื่อน" ติดต่อผ่านสถานทูต 4 ประเทศ ตอบกลับ 3 บริษัท ให้ข้อมูลไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องทุจริต เผยที่มาปิดคดียืมเพื่อนหลังบุกบ้าน "เสี่ยคราม" พบนาฬิกาหรูถึง 137 เรือน มี 22 เรือนที่ "บิ๊กป้อม" ยืมรวมอยู่ด้วย ส่วน "สุภา" ยืนยันในฐานะนักบัญชีคดียังไปไม่สุด เป็นที่มาเสียงข้างน้อย
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ห้องประชุมผู้บริหารชั้น 3 อาคาร 1 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ สถาบันอิศรา ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. จัดกิจกรรมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยกรรมการ ป.ป.ช. รวม 9 ราย เลขาธิการ ป.ป.ช. และรองเลขาธิการ ป.ป.ช. 3 ราย รวมถึงผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. และมีสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการอีก 16 รายเป็นผู้ร่วมกิจกรรม
พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า กฎหมายใหม่ค่อนข้างมีบริบทบีบคั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่หวั่นไหวพอสมควร จากเดิมมีอิสระค่อนข้างมาก แต่ในกฎหมายใหม่มีกรอบเวลาเข้ามาหมด ดังนั้นต้องดำเนินการให้รองรับกับกฎหมาย นี่เป็นปัญหาที่ท้าทาย ป.ป.ช. เพราะยังมีคดีที่คั่งค้างอยู่ประมาณ 13,000 เรื่องเศษ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องมาดูว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่ หากไม่ร้ายแรง ให้ส่งหน่วยงานอื่นทำแทนได้ ดังนั้นต้องเร่งระดมปรับกลยุทธ์ในการทำงาน
พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังมีประเด็นติดขัดอยู่ประเด็นหนึ่ง คือกรณีการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ เช่น กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทย ที่มีในมือ ป.ป.ช. ประมาณ 20 เรื่อง ตรงนี้ต้องผ่านทางอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอข้อมูล แต่ขึ้นอยู่กับประเทศที่ร้องขอด้วยว่าจะมีอนุสัญญาระหว่างประเทศกับไทย หรือเป็นการต่างตอบแทนผลประโยชน์ด้วยกันหรือไม่ เนื่องจากไทยมีโทษประหารชีวิต อาจทำให้ล่าช้า
นอกจากนี้ มีบางช่วงบางตอน บรรณาธิการสื่อหลายสำนักซักถามคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงสาเหตุในการตีตกคดีนาฬิกาหรู ที่มีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม
โดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้สรุปข้อเท็จจริงว่า การตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรู เริ่มต้นจากการตรวจสอบว่า นาฬิกาดังกล่าวถูกขายผ่านตัวแทนจำหน่ายไทยหรือไม่ เบื้องต้นจากการตรวจสอบตัวแทนจำหน่ายในไทยกว่า 13-15 บริษัท ตอบว่า ไม่มีข้อมูลเรื่องพวกนี้ ต่อมา ป.ป.ช. คิดว่าน่าจะนำเข้าทางกรมศุลกากร กรมศุลกากรตอบมาว่าไม่สามารถให้ข้อมูลเรื่องพวกนี้ได้ ทำให้ต้องตรวจสอบไปยังต่างประเทศ พบว่ามีอยู่ 4 ประเทศที่มีบริษัทผู้ผลิต
เขากล่าวว่า การขอความร่วมมือกับต่างประเทศ มี 2 ช่องทาง ช่องทางแรก ต้องผ่านเรื่องไปยังอัยการสูงสุด โดยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2535 ต้องเป็นความผิดทางอาญา แต่กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องทุจริต แต่เป็นเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ช่องทางที่สองคือ การใช้ระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบทรัพย์สิน คือ ขอข้อมูลผ่านทางสถานทูตในต่างประเทศ เป็นการใช้วิธีทางการทูต แต่สถานทูตในประเทศต่างๆ จะมีข้อจำกัดด้านกฎหมายในการขอข้อมูล เนื่องจากไม่ใช่ความผิดทางอาญา
นายวรวิทย์กล่าวว่า เมื่อสถานทูตทั้ง 4 ประเทศไปสอบถามกับบริษัทผู้ผลิต มี 3 บริษัทตอบกลับมาตรงๆ ว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากกรณีนี้ไม่ใช่กรณีการทุจริต ส่วนบริษัทอีกแห่งตอบกลับมาว่า ขอให้ใช้วิธีการขอข้อมูลอย่างถูกต้องตามช่องทางกฎหมาย โดยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาฯ ซึ่งอย่างที่อธิบายไปแล้วว่า กรณีนี้ไม่ใช่คดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริต จึงไม่สามารถใช้ช่องทางนี้ได้ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าจะใช้ช่องทาง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาฯ จริง คงใช้เวลาเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน-1 ปี ท้ายที่สุดเสียงข้างมากจึงวินิจฉัยตามพยานหลักฐาน
นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในที่ประชุมวันลงมติคดีนาฬิกาหรู ยอมรับว่า ตนเป็นหนึ่งในเสียงข้างมาก และการพิจารณากรณีนี้ เป็นเรื่องพยานหลักฐานที่ปรากฏกับบุคคลที่ให้การ ทั้งหมดยืนยันว่าตัวนาฬิกาเป็นของผู้เสียชีวิต (นายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์) เมื่อตรวจสอบในเรื่องสภาพ ฐานะ หรือความเป็นอยู่ พบข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียชีวิตชอบสะสมเรื่องนี้ มีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อให้เพื่อนฝูงหยิบยืมของ
"จากการตรวจสอบบ้าน ผ่านการร่วมมือจากทายาท แสดงให้เห็นถึงทุนทรัพย์ในส่วนของนาฬิกาหรูว่ามีถึง 137 เรือน โดยจำนวน 22 เรือนที่เป็นประเด็นก็รวมอยู่ในนี้ด้วย เมื่อเชื่อในลักษณะอย่างนั้น แต่ว่ากรณีนี้จะตรวจสอบต่อไปได้หรือไม่ ในเมื่อไม่มีหลักฐานจากต่างประเทศและข้อกฎหมายที่จะไปต่อได้ เสียงข้างมาก จึงเห็นว่าควรจะหยุดเพียงเท่านี้ เพราะพยานหลักฐานไปต่อไม่ได้"
นายปรีชาเผยว่า เรื่องการเปรียบเทียบกับกรณีการครอบครองรถโฟล์คตู้ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจนเป็นที่ยุติแล้วว่าเงินและรถคันดังกล่าวเป็นของนายสุพจน์ ศาลฎีกาพิพากษาในคดีแพ่งด้วยว่า นายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากได้รับรถมาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จุดต่างคือ ลักษณะการครอบครองหรือได้มาต่างกัน คือกรณีรถโฟล์คตู้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายสุพจน์ครอบครองต่อเนื่องระหว่างปี 2552-2554 กระทั่งถึงวันที่เกิดเหตุการณ์ปล้นบ้าน และเงินที่จัดซื้อจัดหา ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักธุรกิจที่ให้เงินไป พบว่านายสุพจน์เป็นผู้เลือกรุ่น เลือกสี ที่สำคัญครอบครองเป็นเวลาถึง 2 ปี 4 เดือน และเลขรถตรงกับเลขทะเบียนบ้านของนายสุพจน์ รวมถึงการบำรุงรักษาที่ใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
"ยืนยันว่า ในการพิจารณา เป็นไปโดยอิสระ ไม่มีอะไรกดดัน ขณะเดียวกันหากชี้แจงมากอาจกลายเป็นการแก้ตัวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจกระทบกับครอบครัว ส่วนข้างน้อยยืนยันว่าควรตรวจสอบต่อไป เพราะไม่มีอะไรชัดเจน ก็เป็นดุลพินิจของแต่ละคน" นายปรีชากล่าว
ขณะที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. หนึ่งในเสียงข้างน้อยเผยว่า ตนจบบัญชีมา ทำคดีเกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติและยึดทรัพย์สินไปเยอะ กระบวนการไต่สวนอาจเข้มกว่าวิชาชีพอื่น การรับฟังข้อมูลต้องเป๊ะ ในฐานะนักบัญชี และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช.อีกรายที่เป็นเสียงข้างน้อย เป็นนักบัญชีเช่นกัน เลยเห็นตรงกันว่า ไล่ไปสุดสายได้แค่ไหน ก็จบแค่นั้น แต่มุมเรา ความรู้สึกของนักบัญชีคิดว่ามันไล่ต่อได้ เพราะว่าเขาให้ไปถามหากระบวนการ M Lab ตามมาตรา 138 และ 139 ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ได้ หากได้คำตอบจากหน่วยงานต่างประเทศ ผ่านทางอัยการแล้ว หากเขา (ต่างประเทศ) บอกว่าไม่ให้ ก็จบ แต่วันนี้มันยังไม่ถึงจุดนั้น
"ดิฉันเลยคิดว่าเอาให้สุดสายเลยดีไหม ทำให้ประชาชนสิ้นสงสัยในการวินิจฉัยของเรา แม้จะช้า เรายอมโดนด่า แต่เราสามารถชี้แจงได้ สิ่งที่ดิฉันพยายามทำให้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า นาฬิกาทั้งหมดเป็นของใคร ยืมจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ของคนที่ให้ยืมแล้วเป็นของใคร มันยังมีคำถามต่อ นี่คือสิ่งที่นักบัญชีคิดและทำ ต้องตรงเป๊ะ อยากให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยว่าจะตีตกหรือไต่สวน ถ้าไต่สวนแล้วจะออกมาในรูปแบบใด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับคนทั้งหมด"
เธอกล่าวว่า "ปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่านาฬิกาที่ครอบครองเป็นของผู้ที่ถูกอ้างหรือไม่ ข้อมูลไม่สุดสาย เป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักแต่ละกลุ่ม แล้วมีมติยอมรับ จบก็จบ แต่ว่าในส่วนที่ความเห็นวินิจฉัยส่วนตนก็ยังมี ดิฉันจะเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน เพราะว่าการใช้ดุลพินิจในทุกเรื่องต้องมีมาตรฐาน ถ้าใช้ดุลพินิจที่ไม่มีเหตุและผล ไร้มาตรฐาน อาจมีคำถาม แล้วกฎหมายนี้ มีสิทธิให้ประชาชนตรวจสอบได้ เรียนว่าพวกเราทุกคนระวังกันหมด มีเหตุผลในการชี้แจง ดิฉันมีเหตุผลในส่วนของนักบัญชี แต่เคารพความเห็นกรรมการท่านอื่นเช่นกัน ดังนั้นขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของ ป.ป.ช.".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |