ดูแลสุขภาพผู้สูงวัยที่อยู่ในโลกมืด เรื่องใกล้ตัวที่ลูกหลานอย่ามองข้าม


เพิ่มเพื่อน    

 

      การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุทั่วไปว่าซับซ้อนแล้ว แต่หากลูกหลานคนไหนที่ต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพสายตา หรือเป็น “ผู้สูงวัยที่อยู่ในโลกมืด” ยิ่งต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ท่านมองไม่เห็นก็สามารถส่งผลร้ายแรง ทั้งเสี่ยงต่อการหกล้มกระดูกหักกระทั่งเป็นอัมพาตติดเตียงได้เช่นกัน ดังนั้นการปรับที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับกายภาพ และการส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ป้องกันอันตราย เป็นสิ่งที่บุตรหลานและคนดูแลไม่ควรมองข้าม

(วิภา เกียรติหนุนทวี)

      พี่แป้ง-วิภา เกียรติหนุนทวี พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการด้านผู้สูงอายุ รพ.ปากท่อ ให้ข้อมูลว่า “การดูแลผู้สูงวัยที่มีปัญหาสายตา ซึ่งอยู่ในโลกมืดก็ค่อนข้างมีความแตกต่างจากผู้สูงอายุที่สายตาปกติ โดยเฉพาะการที่ลูกหลานจำเป็นต้องให้ความใส่ใจเกี่ยวกับ “อุบัติเหตุ” เป็นสำคัญ เพราะถ้าเป็นโรคทั่วไปอย่าง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ก็ถือเป็นกลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ทว่าอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่มองไม่เห็นนั้น คือการสะดุดหกล้ม ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหากระดูกสะโพกหัก และต่อเนื่องไปจนถึงเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือบางรายอาจทำให้เกิดภาวะอัมพาตได้ จึงแนะนำว่าลูกหลานควรที่จะปรับปรุงบ้าน โดย “หลีกเลี่ยงพื้นเล่นระดับ” หรือทำบ้านให้มีพื้นราบเสมอกัน นอกจากนี้ก็ต้องจัดบริเวณทางเดินไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง เช่น “ไม่วางหนังสือ” ไว้บริเวณทางเดิน หรือจัดสิ่งของให้เป็นระเบียบ “ไม่วางเรียงชั้นแนวตั้ง” เพราะอาจเสี่ยงตกลงมาใส่คุณตาคุณยายขณะเดินผ่าน นอกจากนี้ก็ให้ “หลีกเลี่ยงการวางพรมเช็ดเท้าที่พื้น” เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม

(ลูกหลานที่เลี้ยงดูผู้สูงอายุพิการทางสายตา ควรหลีกเลี่ยงบ้านเล่นระดับ และการวางของไม่เป็นระเบียบ เพราะจะเสี่ยงต่อการสะดุดหกล้ม และทำให้กระดูกหักได้)

      นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่อยู่ในโลกมืด ไม่ว่าจะตาบอดมาแต่กำเนิด หรือได้รับอุบัติเหตุในวัยหนุ่มสาว กระทั่งทำให้มองไม่เห็นในวัยผู้สูงอายุ ปัญหาหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ “โรคติดเชื้อที่ลูกตา” อันเนื่องมาจากภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นจากการนำมือไม่สะอาดไปขยี้ลูกตา รวมถึงการที่ผู้สูงอายุมีสายตาที่บอดหรือมองไม่เห็น แต่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและมีน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมาก กระทั่งขึ้นไปที่ดวงตา ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้เกิดการติดเชื้อได้ที่วุ้นในลูกตา จากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน ทำให้เกิดภาวะปวดบวมอักเสบ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นลูกหลานและผู้ดูแลจำเป็นต้องพาคุณพ่อคุณแม่ที่พิการทางสายตาไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาทุก 6 เดือน ไปจนถึง 1 ปี รวมถึงต้องไปพบแพทย์ทั่วไป เพื่อตรวจสุขภาพทุก 6 เดือนจนถึง 1 ปีเช่นกัน ในการตรวจคัดกรองหาโรคเรื้อรังในผู้สูงวัยกลุ่มที่มีปัญหาสายตาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์, โรคไต, โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

      ปิดท้ายกันที่ “ภาวะเครียดและซึมเศร้า” จากการที่ผู้สูงวัยมองไม่เห็น ก็เป็นอาการป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้กับท่าน ส่วนหนึ่งมาจากความน้อยใจที่เป็นภาระให้ลูกหลาน ตรงนี้บุตรหลานควรดูแลใกล้ชิด และคอยให้กำลังใจท่าน ที่ลืมไม่ได้เมื่ออายุมากขึ้น คุณตาคุณยายมักจะมีปัญหาน้อยใจลูกหลาน อีกทั้งบางรายจะมี “ความดื้อรั้นอยู่ในตัวเอง” และอยากทำสิ่งต่างๆ เอง แม้ว่าสายตาจะมองไม่เห็น เช่น การเข้าครัวทำอาหาร หรือเปิดแก๊สต้มน้ำ กระทั่งการหั่นผักเอง ตรงนี้ลูกหลานควรใช้วิธีอธิบายให้ท่านเข้าใจว่า หากผู้สูงอายุดื้อดึงที่จะทำอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับตัวเอง ซึ่งนั่นอาจทำให้ร่มโพธิ์ร่มไทรของบ้านไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับลูกหลานๆ ได้ เช่น “ถ้าแม่เข้าครัวและพลาดไปสะดุดหกล้มจนกระดูกหักเดินไม่ได้ ต้องนอนอยู่บนเตียง แล้วใครจะเล่านิทานให้หลานๆ ฟังก่อนนอนคะ!!!”

        ที่สำคัญก็ให้หลีกเลี่ยงการห้ามปรามด้วยถ้อยคำรุนแรงหรือดุด่า เพราะนั่นจะทำให้ผู้สูงอายุยิ่งโกรธและรู้สึกน้อยใจลูกหลานขึ้นไปอีก ซึ่งอาจจะทำให้คุณตาคุณยายหนีออกจากบ้าน ขณะที่สายตามองไม่เห็น และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ค่ะ”

      ที่กล่าวมาเป็นบางเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกบ้าน ทั้งผู้สูงอายุที่สายตาปกติและพิการทางสายตา แต่โดยสรุปแล้ว ทุกปัญหาก็จะสามารถแก้ไขได้ด้วยความเข้าใจและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน...รู้อย่างนี้แล้วเชื่อว่าลูกหลานที่รักและเคารพผู้ให้กำเนิด คงหันกลับมาเพิ่มการดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่มองไม่เห็นขึ้นไปอีก 2 เท่าจริงไหมค่ะ...


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"