16 ม.ค.62 - นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคไทยรักษาชาติ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความว่า เห็นข่าวสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีวิวาทะกับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย ยกต่อไปจะอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ตนมีบางประเด็นอยากร่วมสนทนาเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะให้ชัดกว่าที่ผ่านมาได้อย่างไรแล้ว พรรคประชาธิปัตย์อ้างมาตลอด โฆษกพรรคบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจ เป็นคนละฝ่ายกับคสช. เหตุแห่งการรัฐประหารเพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ตัวเองในการเลือกตั้ง และออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งเรื่องนี้ไม่จริง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญให้มีสสร.จากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ยกร่างใหม่ ไม่แตะต้องบทบัญัติเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง เสร็จแล้วทำประชามติก่อนการบังคับใช้ แต่พรรคประชาธิปัตย์แก้รัฐธรรมนูญเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งชัดว่าเพื่อให้พรรครัฐบาลขณะนั้นได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
พรรคเพื่อไทยทำไม่ได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ทำได้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย หลายฝ่ายคัดค้าน ส่วนตนก็ไม่ได้ลงคะแนนให้ หลังการเคลื่อนไหวต่อต้านขยายวงกว้าง รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภาฯ ซึ่งน่าจะจบตรงนี้แล้วให้ประชาชนตัดสินใจตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่พรรคประชาธิปัตย์บอยคอต อ้างว่ากติกาไม่เป็นธรรม แต่ที่เป็นปัญหาคือ มีขบวนการขัดขวางการเลือกตั้ง ทำทุกอย่างจนเป็นโมฆะเพื่อให้ถึงทางตัน พรรคประชาธิปัตย์จะอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องก็ได้ ประชาชนจะได้ใช้วิจารณญาณ ทั้งนี้ เมื่อปรากฏความเคลื่อนไหวล้มเลือกตั้ง ตนและอีกหลายฝ่ายพูดตรงกันว่าสถานการณ์จะเดินไปสู่รัฐประหาร แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่หยุด ทั้งที่การยึดอำนาจ 19 ก.ย. 2549 สิ่งที่ทำลงไปก็ไม่ได้ต่างจากนี้ ผลลัพธ์มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว ไม่เรียกว่าเจตนาเล็งเห็นผลแล้วจะเรียกอะไร
ถ้าเหตุผลในการบอยคอตเลือกตั้งเป็นอย่างที่อ้างทั้ง 2 ครั้งจริง เลือกตั้งที่กำลังรอกำหนดวันอยู่นี้ กติกายิ่งกว่าชัดว่าไม่เป็นธรรม รัฐบาลไม่ใช่รักษาการณ ์แต่มีอำนาจเต็ม ปลดกรรมการก็ได้ ถูกพูดถึงว่าเอาเปรียบสารพัด ส่อจะเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ไม่บอยคอต ยึดอำนาจเสร็จคนพรรคประชาธิปัตย์ทยอยไปมีตำแหน่งในรัฐบาลบ้าง แม่น้ำ 5 สาย และองค์กรต่างๆ บ้าง ตอนนายอลงกรณ ์พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ไปสมัครเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายอภิสิทธิ์ทำท่าขึงขังบอกว่าจะไม่ส่งลงสมัครส.ส.คราวหน้า แต่ตอนนี้นายอลงกรณ์กลับมาเป็นรองหัวหน้าพรรคเรียบร้อยแล้ว ก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ให้สัมภาษณ์คุยกับพล.อ.ประยุทธ์ เรื่องยุทธวิธีล้มระบอบทักษิณ ซึ่งไม่มีอยู่จริง ตั้งแต่ปี 2553 ตอนนี้ตั้งพรรคเดินสายคารวะแผ่นดิน ประกาศไม่เสนอชื่อว่าที่นายกฯ แต่คนทั้งประเทศรู้ว่าจะหนุนใคร
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจ ก็ต้องทราบว่าประชาชนยังไม่ลืมเรื่องเหล่านี้ จะอ้างว่าออกมาเคลื่อนไหวเพราะรัฐบาลก่อนทุจริตก็เห็นว่าปฏิกริยาต่อข่าวไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลนี้ต่างกันมาก เรื่องนาฬิกาก็เห็นยังทนกันได้ หรือพูดว่าต้านรัฐบาลที่แล้วเพราะประชาชนอดอยากก็ได้ยินเสียงชาวสวนยางปักษ์ใต้ถามหา ตอนราคา 80 ถึง 90 บาททนไม่ได้ เคลื่อนไหวเอาเป็นเอาตาย แต่ยาง 3 กิโลร้อยมาเกือบ 5 ปีทำได้แค่ยื่นหนังสือปีละฉบับ นโยบายพรรคที่เพิ่งประกาศก็ให้ราคาเพียงกิโลละ 60 บาท หลายคนบอกว่าไม่เข้าใจ ยุคคมช.พรรคประชาธิปัตย์เป็นเด็กดี ประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญตอนทำประชามติ แต่ยุคคสช.เป็นเด็กดื้อ รัฐธรรมนูญก็ไม่รับ เพราะเขาเปิดให้มีนายกฯคนนอกได้ และเดินเกมชัดว่าจะอยู่ต่อ คนรอส้มหล่นจึงคอยเก้อ ตอนนี้ยึกยัก แต่วงในเขานับรวมไปแล้วว่าหลังเลือกตั้ง ทั้งลุงตู่ ลุงกำนัน หลานมาร์ค จะมาอยู่ด้วยกัน สายตาตนมองเห็นความจริงอย่างนี้ อย่าเพิ่งเชื่อ แต่โปรดพิจารณา
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |