16ม.ค.62-0"หมอจรัส" หนุนยก กศน.ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล ชี้เพราะเป็นหน่วยงานใหญ่ดูแลการศึกษาตลอดชีวิตของคน 40 ล้านแต่ยังอยู่ภายใต้สังกัดสป. ทำให้มีขีดจำกัดบริหารจัดการ แนะรัฐควรให้ความสำคัญสนับสนุนมากขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งในแง่นโยบาย งบประมาณและบุคลากร
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา กล่าวถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ....ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะยก กศน.ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีการบริหารงานอิสระทั้งงบประมาณและบุคลากร ว่า เรื่องนี้ตนไม่ขัดข้องอะไร หาก กศน.จะยกฐานะเป็นนิติบุคล ซึ่งในส่วนการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่ในส่วนของคณะกรรมการอิสระฯ จะมองภาพใหญ่ของการศึกษาตลอดชีวิต ที่เน้นการศึกษาครอบคลุมทุกช่วงชีวิต ทุกกลุ่มเป้าหมาย มี 3 หลักใหญ่ คือ 1.นโยบายชาติ จะต้องมีเรื่องข้อมูลการจัดการสนับสนุนส่งเสริม 2.การดูแลคุณภาพและคุ้มครองผู้บริโภค 3.หน่วยงานผู้ปฏิบัติ เพราะการศึกษาตลอดชีวิตเป็นเรื่องที่กว้างมาก แต่ตนเข้าใจว่าที่ ศธ.จัดทำร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ....ขึ้นมานั้น น่าจะมองภาพของการบริหารจัดการเชิงภาครัฐมากกว่า ซึ่งก็น่าเห็นใจ กศน.เพราะเป็นหน่วยงานใหญ่ดูแลงานที่กระจายทั่วประเทศ อีกทั้งต้องดูแลจำนวนประชาชนที่อยู่ในกลุ่มการศึกษาตลอดชีวิต ที่มีมากถึง 40 กว่าล้านคน แต่ กศน.ก็ยังเป็นเพียงหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) จึงอาจส่งผลให้ทำงานไม่ได้อย่างเต็มที่หรือมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ ดังนั้นการปรับปรุงหน่วยงานให้ดีขึ้นก็ถือว่ามีเหตุผล
"ที่ผ่านมาผมเคยไปแสดงความคิดเห็นให้กับทาง กศน. เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า เรื่องการศึกษาตลอดชีวิต เป็นเรื่องที่กว้าง เพราะฉะนั้นเมื่อจะมีการดำเนินการเรื่องนี้จะต้องไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเพียงอย่างเดียว ดังนั้นหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะขัดกับอะไรในส่วนไหนบ้างนั้น คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะพิจารณา โดยส่วนตัวผมมองว่าไม่ได้ขัดอะไร เพราะเป็นการดำเนินการปรับในส่วนเดียวเท่านั้น คือ เรื่องการให้บริหารจัดการเชิงภาครัฐมากกว่า ส่วนที่ กศน.จะเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีด้วยนั้น ผมว่าคงไม่มีปัญหาเพราะท้ายที่สุดก็จะมีหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตรวจสอบและควบคุณภาพอยู่แล้ว"ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพของ กศน. ในมุมมองของคณะกรรมการอิสระฯ ควรที่จะเป็นไปในทิศทางใด นพ.จรัส กล่าวว่า หากสมมุติว่ารัฐมีหน้าที่ในการวางนโยบายให้การสนับสนุน ก็จะต้องมีองค์กรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในเรื่องนโยบาย ทั้งดูทิศทาง การวางแนวทางในอนาคต รวมถึงสนับสนุนงบประมาณและบุคลากร ซึ่งการดูแลเรื่องคุณภาพและคุ้มครองผู้บริโภคก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยหากเป็นรัฐคงไม่มีปัญหา แต่หากเป็นภาคเอกชนที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย ก็ต้องมีหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลว่า ที่ไหนมีหรือไมีมีมาตรฐาน