15 ม.ค.62 - นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กเสนอความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่า
เรื่องเร่งด่วนในการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5
ตามที่ขณะนี้เกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป ภาครัฐจะต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนให้ได้ว่าภาครัฐได้ใช้มาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนและอย่างเต็มที่ เพื่อลดความแตกตื่นวิตกกังวลของประชาชน และเพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองต้องขวนขวายหาหนทางรอดกันเอาเองแบบเป็นไปตามบุญตามกรรมและตามฐานะปัจจัยที่แต่ละคนมีอยู่ อีกทั้งถึงแม้หน่วยงานของรัฐหลายแห่งต่างก็ดำเนินการในการแก้ไขปัญหานี้แต่ยังขาดการบูรณาการประสานการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5
การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อันถือว่าเป็นภัยอันมีผลกระทบต่อสาธารณชนซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายของประชาชน และจัดเป็นสาธารณภัยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาตรา 4 ซึ่งจะให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตปริมณฑลที่ประสบปัญหาในการออกคำสั่ง สั่งการและกำหนดแผนการและมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีอำนาจในการสั่งการเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตนแม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดหน่วยงานที่ตนมีอำนาจบังคับบัญชา ให้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 อันเป็นสาธารณภัย และยังเป็นการบูรณาการการทำงานแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐร่วมกันและให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันอีกด้วย จึงน่าจะเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ควรพิจารณานำมาใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้
ในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตปริมณฑลมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 21 วรรค 2, มาตรา 22 วรรค 3, มาตรา 25 วรรค 1, มาตรา 27, มาตรา 29 และมาตรา 37 ดังต่อไปนี้
1.สั่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ และบุคคลใดๆ ในเขตพื้นที่ที่เกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ เช่น สั่งให้มีการทำฝนหลวง และใช้มาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเหมาะสมเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้น
2.ใช้เครื่องมือสื่อสารของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนทุกระบบที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่เกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 หรือท้องที่ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ใช้ระบบไลน์ facebook โทรทัศน์ดิจิทัล โทรทัศน์ดาวเทียม หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งของรัฐและเอกชน ในการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากฝุ่นพิษ PM 2.5 การให้ความรู้ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ประชาชนในช่วงเกิดภาวะฝุ่นพิษ การให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับฝุ่นพิษเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินเหตุ
3.ใช้อาคาร สถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และยานพาหนะของหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่เกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ
4.สั่งการให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลใดกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดที่มีผลกระทบต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เช่น สั่งระงับการก่อสร้างอาคารและ โครงการต่างๆ ที่จะส่งผลให้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 รุนแรงขึ้น สั่งปิดโรงงานและสถานที่ที่ก่อปัญหาฝุ่นพิษ
5.สั่งห้ามเข้าหรือให้ออกจากพื้นที่ อาคารหรือสถานที่ที่กำหนด เช่น สั่งห้ามรถยนต์บางประเภทเข้าเขตพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 สั่งห้ามบุคคลใดๆ เข้าพื้นที่ก่อสร้างอาคารและโครงการต่างๆ รวมทั้งโรงงานและสถานที่ที่ก่อปัญหาฝุ่นพิษ และสั่งห้ามประชาชนเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ประสบปัญหามลภาวะจากฝุ่นพิษอย่างรุนแรง
6.จัดระเบียบการจราจรในพื้นที่ที่เกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อประโยชน์ในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ เช่น การห้ามรถบรรทุก รถที่ก่อมลภาวะรุนแรง รวมทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล เข้าเขตพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วงเวลาที่กำหนด
7.จัดให้มีการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยจากปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 โดยทั่วถึงและรวดเร็ว เช่น สั่งการหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ประสบภัยให้เร่งรีบแจกหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5 แก่ประชาชนและให้บริการตรวจสุขภาพแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
8.จัดให้มีสถานที่ชั่วคราวเพื่อให้ผู้ประสบภัยจากฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้รับการปฐมพยาบาล หรือเข้าอยู่อาศัยหากผู้ประสบภัยเป็นผู้ป่วยที่ภาวะเสี่ยงว่าจะได้รับอันตรายจากฝุ่นพิษอย่างร้ายแรง หากคงยังคงอยู่อาศัยในสถานที่เดิม
9.สั่งให้เจ้าพนักงานดัดแปลง ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งก่อสร้าง วัสดุ หรือทรัพย์สินของบุคคลใดที่เป็นอุปสรรคแก่การแก้ไขและบรรเทาปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้
10.ปิดกั้นมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ที่เกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 และพื้นที่ใกล้เคียง
11.สั่งห้ามมิให้บุคคลใดๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่ที่จะได้รับอันตรายอย่างร้ายแรงจากฝุ่นพิษ PM 2.5 เช่น สั่งปิดโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างร้ายแรงจนน่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กนักเรียน
ทั้งนี้ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือขัดขวางการดำเนินการหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน จะมีโทษจำคุกหรือปรับตามกฎหมาย นอกจากนี้ มาตรา 43 กำหนดว่า ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว หากได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุและไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งปวง และตามมาตรา 31 นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจสั่งการให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวมตลอดทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ และมีอำนาจกำกับและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย
ท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ รวมทั้งสรรพกำลัง อุปกรณ์ เครื่องมือ เทคโนโลยี ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันและปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องหวาดวิตกกังวลกับภัยอันตรายจากฝุ่นพิษที่จะมีแก่ตนเองและครอบครัวอีกต่อไป.
ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |