เป็นคนรุ่นใหม่ที่เกิด เติบโต ศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งทำงานในกรุงเทพฯ มาหลายสิบปี ไล่เรียงตั้งเเต่ การเป็นผู้จัดการการซื้อขายรถยนต์มือสอง การบริหารบริษัทยาอเเละเวชภัณฑ์ การดูเเลสื่อวิทยุ วันนี้ อมรรัตน์ อัครอมรพงศ์ มีความพร้อมที่จะขอเป็นหน้าใหม่การเมืองที่จะลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตบางเเค พรรคภราดรภาพ ร่วมกับทีมบางกอก เเอดเวนเจอร์ ของพรรคที่มีคนหน้าใหม่หลากวงการมาลงสนามเลือกตั้งปี 2562 แม้พรรคนี้จะมีโอกาสน้อยกว่าพรรคใหญ่ๆ ทั้งเก่าทั้งแก่ ที่ครองสนามเมืองกรุงมานาน เเต่เชื่อมั่นว่าการเมืองยุคนี้เปลี่ยนไปมาก จึงทำให้ชาวบ้านอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง
เข้ามาเล่นการเมืองได้อย่างไร
“อมรรัตน์” เล่าว่า พรรคภราดรภาพที่นำโดยหัวหน้าพรรค (ม.ร.ว.ดำรงดิศ ดิศสกุล) ชักชวนตัวเธอเเละทีมบางกอก เเอดเวนเจอร์ ที่เป็นทีมผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ใน กทม.ของพรรคมาช่วยงาน โดยหวังว่าพรรคจะเสนอเป็นตัวกลางหากได้รับการเลือกตั้งช่วยหาทางออกประเทศ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่สะสมมานาน
“ชื่อของพรรคก็สื่อถึงความเป็นพี่เป็นน้อง สัญลักษณ์ของพรรคคือการจับมือร่วมกัน สีเขียวสื่อถึงธรรมชาติ ชีวิต มนุษยชาติ การเริ่มต้น ความสดชื่น ความปลอดภัย ตรงนี้คือจุดที่พรรคนำเสนอต่อสังคมว่าเราอยากให้สังคมก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ดิฉันจะลงสมัคร ส.ส.กทม.เขตบางเเค ในการเลือกตั้งครั้งนี้”
เธอเล่าต่อว่า พรรคเรามีคนการเมืองที่มีประสบการณ์หลากด้านทั้งระดับชาติเเละท้องถิ่น รวมทั้งยังให้คนหน้าใหม่อาสามาทำงานในด้านนี้ การเมืองมีความสำคัญกับทุกคน เเละการเมืองช่วงสิบกว่าปีก็มีความขัดเเย้ง พรรคนี้จะใช้โอกาสนี้พาสังคมข้ามความขัดเเย้ง
สำหรับการคัดเลือกผู้สมัครของพรรค ร.อ.รชฏ พิสิษฐ์บรรณกร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคภราดรภาพ ได้พิจารณาผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศและปาร์ตี้ลิสต์ไว้เเล้ว โดยจะส่งทั่วประเทศเพื่อให้ชาวบ้านได้พิจารณาเเละให้โอกาสพวกเรา การทำงานในพรรคนี้ ทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขาธิการพรรค เเละว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ส่วนตัวได้ติดตามการทำงานของผู้สมัคร รวมทั้งกระเเสตอบรับ เชื่อว่าชาวบ้านจะให้พื้นที่กับพรรคของเรา
ทั้งส่วนตัวอยากผลักดันปัญหาความปลอดภัยในเมืองหลวง เพราะเกิดเเละเติบโตในกรุงเทพฯ มองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีโอกาสมาก ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเเละใช้จ่ายในเมืองหลวงติดอันดับโลก ตรงนี้เราต้องสร้างความปลอดภัยให้พวกเขา เเละต้องไม่ลืมคนกรุงเทพฯ ด้วยที่ต้องได้รับสิ่งเหล่านี้ควบคู่กัน
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่มีปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาการจราจร ปัญหาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ ปัญหายาเสพติด และปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แนวคิด ”กรุงเทพฯ...ออกแบบได้” เป็นแนวคิดที่ต้องการสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่น่าอยู่ที่สุดในภูมิภาคผ่าน 3 ส่วนดังนี้
“กรุงเทพฯ...เมืองปลอดภัย 24 ชั่วโมง” สร้างความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ท่องเที่ยว การเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครด้วยกันนำเทคโนโลยีระบบดิจิตอลสมัยใหม่มาใช้ในการดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดการระบบการให้บริการด้านการคมนาคม เพื่อเพิ่มความสะดวกและปลอดภัยต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว
“กรุงเทพฯ...เมืองหลวงแห่งอาเซียน” เป็นแนวความคิดที่มาจากความต้องการในการสร้างมหานครแห่งอาเซียน ในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านการจราจรและทัศนียภาพ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองให้มากขึ้น, การเพิ่มพื้นที่แหล่งงานที่มีคุณภาพใกล้บ้าน, การสร้างศูนย์รวมเพื่อการท่องเที่ยว, การปรับปรุงย่านในเมืองให้มีพื้นที่สาธารณะที่มีความงดงาม รวมทั้งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยแหล่งค้าปลีกและย่านแหล่งบันเทิงสมัยใหม่
“กรุงเทพฯ...เมืองที่ไม่หลับใหล” เป็นอีกหนึ่งแนวความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน รวมไปถึงการสร้างงานในหลากหลายมิติ โดยมิได้นำเรื่องของเวลามาเป็นอุปสรรค เนื่องจากหากมีความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ธุรกิจก็สามารถดำเนินได้ตลอดเวลา อันจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ด้วยนโยบายเหล่านี้ของพรรค จึงถึงเวลาที่จะให้โอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน
มองปัญหาของบ้านเมืองอย่างไร และจะมีทางออกได้หรือไม่
ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคภราดรภาพ กล่าวว่า เเนวทางที่หัวหน้าพรรคบอกไว้ว่า หากมี ส.สในสภาฯ พรรคจะอาสาเป็นข้อกลางเชื่อม 2 ขั้วที่ขัดเเย้งนั้น เชื่อว่าพรรคจะทำได้หากสังคมให้โอกาสผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทั้ง 2 ระบบ
“พวกเราคนรุ่นใหม่ก็อยากเห็นบ้านเมืองสงบ ลดความขัดเเย้ง เพราะสิบกว่าปีมานี้มันมีเเต่ความวุ่นวาย พรรคหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมช่วยกันในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และหวังว่าประชาชนคงไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก พรรคภราดรภาพจึงขอเป็นหนึ่งทางเลือกที่จะเข้ามาบริหารประเทศโดยวิธีการประชาธิปไตย และมีแนวทางที่จะต้องการยุติความขัดแย้งของพรรคการเมืองใหญ่ในอดีต”
“เราขออาสาลงทำหน้าที่ ส.ส.กทม.เขตบางเเค ซึ่งตนเองมั่นใจว่าชาวบางเเคจะให้โอกาส เเม้จะมีการเเข่งขันสูง เเต่ประวัติศาสตร์ก็ระบุเสมอว่า หากคนหน้าใหม่ตั้งใจทำงานในพื้นที่ ชาวบ้านรู้จักเเละยอมรับ โอกาสก็จะเป็นของเรา
“อมรรัตน์” ระบุด้วยว่า แม้ภาพลักษณ์ของนักการเมืองในสายตาของชาวบ้านนั้น บางคนทำไม่ดี บางคนทำดี เเต่สังคมอาจเหมารวมว่า คนการเมืองเป็นคนไม่ดี เพราะข่าวคราวที่ออกมา มาจากบางคนที่ทำไม่ดี เเต่สังคมจดจำ ตรงนี้เป็นหน้าที่คนรุ่นใหม่ที่ต้องไปชี้เเจงกับสังคมว่า คนหน้าใหม่ที่ตั้งใจ หากสังคมให้พื้นที่ คนการเมืองบางคนที่ไม่ดีก็จะไม่มีที่ยืน ส่วนตัวมองเเบบนี้
“บางคนบอกว่าพรรคเราเป็นนอมินีของบางพรรคในช่วงที่ผ่านมา ยืนยันว่าไม่ใช่เเบบนั้นเเน่นอน เพราะการจับมือในทางลับ อย่างไรสังคมก็มองออก ทำเเบบนั้นไม่ได้”
คิดอย่างไรที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง และมองการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช.อย่างไร ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคภราดรภาพ กล่าวว่า ต้องให้สังคมตัดสินว่าจะพิจารณาใครให้เป็นผู้นำประเทศ เเละให้โอกาสพรรคใดตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้ง พรรคของเราทำตามกติกา ยึดมติมหาชนตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เเละยังเคารพหลักเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้
“ที่ผ่านมาบ้านเมืองเรียบร้อยดี เเต่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้ง สังคมจะดีขึ้นเพราะชาวบ้านใช้สิทธิ์เลือก ส.ส.เเละพรรคที่ตัวเองต้องการให้มาทำหน้าที่เเล้ว ทุกอย่างต้องจบในรัฐสภา” “อมรรัตน์” ผู้สมัคร ส.ส.เขตบางแค กรุงเทพฯ พรรคภราดรภาพ กล่าวปิดท้าย
“อมรรัตน์ อัครอมรพงศ์” ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 28 บางแค พรรคภราดรภาพ และผู้ช่วยเลขาธิการพรรคภราดรภาพ จบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน มหาวิทยาลัยสยาม ปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสยาม
ประวัติทางสังคม เช่น รางวัลเกียรติยศ “บุคคลคุณภาพและผลงานดีเด่น ปี 2560 ASIAN PLUS AWARDS 2017 รางวัลเกียรติยศ “สิงห์ทอง” สาขาผู้บริหารและนักพัฒนาองค์กรดีเด่น ปี 2558 ส่วนประวัติการทำงาน อาทิ Sale Administrator บริษัท ไทยรุ่ง ยูเนี่ยน คาร์ จำกัด (มหาชน), Executive Director บริษัท ไทยพลัสมีเดีย จำกัด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |