สมาคมรพ.เอกชน ชี้หากควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลจะทำให้ไม่มีศักยภาพแข่งขัน  วอนทบทวนดีๆก่อนนำเรื่องเข้าครม


เพิ่มเพื่อน    

 

14 ม.ค.62- ที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน  มีการแถลงข่าวกรณีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ (กกร.) มีมติยกระดับให้ค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าควบคุม และเสนอต่อรมว.พาณิชย์ เพื่อเตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้ โดยมี นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมฯ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมฯ นอ.(พิเศษ) ไพศาล จันทรพิทักษ์ และนพ.สุรพงษ์ อำพันวงศ์ ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันแถลงข่าว

โดย นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชน จัดเป็นโรงพยาบาลทางเลือก กรณีที่มีการระบุว่ายา ค่ารักษาในรพ.เอกชนมีราคาแพงนั้นเรียนว่าเป็นเพราะต้องมีการลงทุนในการให้บริการต่างๆ เองทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่ควบคุมเรื่องมาตรฐานสถานพยาบาล อาทิ หากเป็นรพ.ขนาดกี่เตียง จะต้องมีแพทย์ พยาบาล ห้องผ่าตัดรองรับจำนวนเท่าไหร่ ต้องมีเภสัชกรและมาตรฐานในการจัดเก็บยา นอกจากนี้ เรื่องการใช้ยาในรพ.ยังต้องมีการตรวจวินิจฉัยและการจ่ายยาให้เหมาะสมกับโรค ไม่ให้ยาตีกัน เป็นต้น ซึ่งต่างจากร้านขายยา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่รพ.เอกชนต้องออกเอง  ในขณะที่รพ.ของรัฐ เงินลงทุนต่างๆ รวมถึงค่าแพทย์ ค่าบุคลากรจะใช้เงินงบประมาณที่มาจากภาษีของพวกเราทั้งสิ้น นี่คือความแตกต่างในเรื่องของใบเสร็จ และการที่รพ.รัฐไม่ได้อยู่ภายใต้พ.ร.บ.สถานพยาบาลแบบเดียวกันนี้ ทำให้ใบเสร็จมีความแตกต่างกัน เชื่อว่าหากทุกรพ.ทั้งรัฐและเอกชนต่างอยู่ในกฎหมายเดียวกันก็จะทำให้เห็นภาพสิ่งที่เกิดขึ้นจริง คำนวณง่าย เพราะมีใบเสร็จแบบเดียวกัน

นพ.พงษ์พัฒน์  กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีค่าแพทย์ที่มีการระบุว่าเป็นอัตราสูงนั้นทุกอย่างนั้นเป็นเรตที่ถูกกำหนดโดยแพทยสภาทั้งสิ้น ไม่ได้มีการตั้งราคาเอง ไม่ได้เรียกเก็บเกินจากนี้ และล่าสุดทราบว่าทางแพทยสภาอยู่ระหว่างการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ฉบับ ทั้งนี้รพ.เอกชนเป็นรพ.ทางเลือกซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก อย่างปีที่แล้วมีผู้ป่วยนอกประมาณ 60 ล้านคน ผู้ป่วยในประมาณ 4 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท และด้วยศักยภาพและมาตรฐานทำให้เป็นที่ยอมรับของผู้ป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความนิยมสูงกว่าประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วยซ้ำ หากมีการควบคุมจะทำให้ไม่เอกชนไม่มีศักยภาพในการแข่งขัน ไม่เกิดการพัฒนา แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเอกชนไม่ช่วย เพราะที่ผ่านมาก็ให้ความร่วมมือในการรักษาตามโครงการ โยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ซึ่งค่ารักษาผู้ป่วยวิกฤติสีแดง ตรงนี้ถึงแม้ว่าจะได้ในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ก็ยินดีให้ความร่วมมือเพราะถือว่าช่วยเหลือผู้ป่วยซึ่งเราเข้าใจดีว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ด้านนพ.เฉลิม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมด่วนร่วมกันระหว่างรมว.พาณิชย์ รพ.เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางที่ประชุมก็ได้รับฟังข้อมูลมากพอสมควร รวมถึงประเด็นที่รพ.เอกชนต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งข้อกำหนดในนั้นทำให้เกิดต้นทุนค่ารักษา ค่ายาเพิ่มขึ้น ก็ดูเหมือนว่าจะเข้าใจดี คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบมาก การจะนำมติ กกร.เข้าครม.ต้องมีการคุยกันให้มากกว่านี้ จะเดินหน้า ถอยหลังอย่างไร

“คนไทยทุกคนที่เกิดมาล้วนมีสิทธิการรักษาพยาบาลที่รัฐดูแลทุกคน 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งไม่ต้องจ่ายเงินเลยด้วยซ้ำ ถ้ารพ.แรกดูแลไม่ไหวก็มีระบบส่งต่อไปตามระดับของรพ.อยู่แล้ว การจะบอกว่าล้มละลายเพราะค่ารักษาแพงนั้นทำให้ตนงงมาก แต่ถ้าเลือกที่จะข้ามสิทธิก็ต้องรู้ว่ามีค่าใช้จ่ายอย่างไร ถ้าพูดเรื่องไม่พอใจคุณภาพของรพ.รัฐก็ต้องบอกให้มีการปรับปรุง”นพ.เฉลิม กล่าว.

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีรายงานว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อนมีรพ.เอกชน มีอัตราค่ารักษาเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นบางรพ.เท่านั้น แต่ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่าเป็นเพราะมีการปรับบริการ ปรับการรักษา มีการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียด เพราะแต่ละรพ. มีต้นทุนต่างกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"