14 ม.ค. 62 - ที่ห้องพิจารณา 903 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดพร้อมเพื่อตรวจหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยาน คดีชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง รวม 2 คดี คือ คดีหมายเลขดำ อ.1197/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้อง นายรังสิมันต์ โรม อายุ 25 ปี นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กรณีจัดชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่ ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 และคดีหมายเลขดำ อ.2893/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว อายุ 25 ปี อดีตนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์, นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ อายุ 25 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์, นายอานนท์ นำภา อายุ 33 ปี อาชีพทนายความ, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ อายุ 39 ปี วิทยากรอิสระ, นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ อายุ 24 ปี นักกิจกรรม อดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว อายุ 25 ปี แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชุด RDN50 เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ในที่สาธารณะ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558
กรณีสืบเนื่องเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2561 ได้ร่วมกันจัดการชุมนุม “หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง: หมดเวลา คสช. ถึงเวลาประชาชน” กล่าวโจมตี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ซึ่งจำเลยทั้งหมดได้รับการประกันตัว
โดยในวันนี้อัยการโจทก์ และจำเลยมาศาลตามนัดพร้อมทนายความ เว้นเพียงนายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ์ ที่ติดสอบอยู่ต่างประเทศ ซึ่งได้ขอพิจารณาลับหลังและศาลอนุญาต
ทั้งนี้อัยการและทนายจำเลยคู่ความทั้งสองฝ่ายได้แถลงร่วมกัน ยืนยันว่าเหตุทั้งสองคดีเกิดขึ้นในวันเดียวกัน มีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน หากรวมการพิจารณาเข้าด้วยกันจะเป็นการสะดวก ศาลพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย จึงอนุญาตให้รวมพิจารณาทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน โดยให้นายรังสิมันต์ โรม เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนนายสิรวิชญ์ กับพวกรวม 6 คน ให้เป็นจำเลยที่ 2-7 ตามลำดับ
ต่อมาอัยการโจทก์แถลงว่า จะส่งเอกสารในคดีนี้เป็นหลัก เนื่องจากเป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกันทั้งหมด ไม่มีพยานเอกสารเพิ่มเติม ส่วนทนายจำเลยทั้ง 7 คน อ้างพยานหลักฐานร่วมกันเป็น 6 ฉบับ แผ่นวีซีดี 1 แผ่น โดยจำเลยทั้ง 7 คน แถลงแนวทางต่อสู้คดีร่วมกันว่า พวกจำเลยได้แสดงความคิดเห็น ติชมการบริหารประเทศของรัฐบาลโดยสุจริต ไม่มีเจตนาปลุกปั่น ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนตามที่โจทก์ฟ้อง ขณะที่อัยการโจทก์แถลงว่า มีพยานบุคคลรวม 13 ปาก โดยเป็นพยานปากสำคัญ 3 ปาก โดยพยานที่เหลืออีก 10 ปาก จะนำสืบให้เห็นถึงเหตุการณ์เป็นขั้นเป็นตอน ใช้เวลาสืบพยาน จำนวน 5 นัด ส่วนที่ทนายจำเลยทั้ง 7 คน แถลงร่วมกันขอสืบพยานจำนวน 14 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 4 นัด โดยนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 1 ส.ค. 2562
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2561 นัดที่แล้ว อัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรวมพิจารณาคดีทั้ง 2 สำนวน เข้าด้วยกัน เนื่องจากระบุเหตุผลว่ามูลคดีเกี่ยวพันกัน วัน-เวลาเกิดขึ้นต่อเนื่องช่วงเดียวกัน พยานหลักฐานที่จะนำสืบก็ชุดเดียวกัน ส่วนที่ยื่นฟ้องแยกสำนวนกันครั้งแรกเนื่องจากได้ทยอยส่งตัวจำเลยให้อัยการช่วงเวลาต่างกัน ดังนั้นศาลจึงนัดพร้อมคดีเพื่อตรวจพยานหลักฐาน อีกครั้งในวันนี้ (14 ม.ค.) และที่จำเลยบางคนขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีลับหลังจำเลยในวันดังกล่าว อ้างว่าจำเลยติดสอบประจำภาคการศึกษานั้น ศาลเห็นว่าจำเลยได้แต่งตั้งทนายความไว้แก้ต่างคดีแล้ว จึงอนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณาจำเลยบางคนได้ และกำชับให้จำเลยที่เหลือมาศาลตามนัดในวัน-เวลาโดยพร้อมเพรียงกัน
ด้านนายสิรวิชญ์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ศาลนัดมาเพื่อตรวจพยานหลักฐานคดีการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 โดยพยานหลักฐานที่นำมา อาทิ หลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่าเรามีสิทธิในการชุมนุมได้ รวมถึงคลิปวีดีโอที่เป็นความเห็นของนักวิชาการที่ชี้ให้เห็นสิทธิในการชุมนุม ส่วนข้อกล่าวหาอื่นๆ ก็จะไปโต้แย้งในขั้นตอนการสืบพยาน โดยก่อนหน้านี้ตนให้การปฏิเสธว่าการชุมนุมครั้งนั้นเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนวันที่ 19 ม.ค. นี้ ทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้งพร้อมจะชุมนุมต่อและกำหนดเส้นตายให้รัฐบาลภายในวันที่ 18 ม.ค. ให้ประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง อย่างช้าที่สุดควรจะอยู่ในห้วงวันที่ 10 มี.ค. จะเป็นกรอบที่อยู่ในระยะเวลา 50 วัน เป็นกรอบที่อยู่ในช่วง 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญได้บอกว่าการเลือกตั้งต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่งไม่ทราบว่าการตีความว่า แค่ลงคะแนนเสียงเสร็จ หรือต้องประกาศผลจนเปิดประชุมสภาฯ
เมื่อถามถึงกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นายสิรวิชญ์ กล่าวว่า ผบ.ทบ.พูดจาแบบนี้ไม่ได้ ไม่เป็นลูกผู้ชายพอ เป็นทหารอย่ามาโจมตีประชาชนแบบลับหลังแบบนี้ ทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง พยายามชุมนุมไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของคนอื่นอยู่แล้ว การจัดการชุมนุมก็เป็นเพียงระยะสั้น
ส่วน น.ส.ณัฏฐา กล่าวว่า ช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลได้กล่าวโจมตีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และยังถูกกลั่นแกล้งเรื่องระดับเสียงของเครื่องเสียงด้วย ซึ่งเป็นเหมือนกลไกที่พยายามดิสเครดิตทุกวิถีทาง ซึ่งทางกลุ่มพยายามสื่อสารเหตุผลของการไม่เลื่อนเลือกตั้งทุกวิถีทางคืออะไร ทาง คสช. ก็พยายามจะโยงไปเรื่องอื่นตลอดเวลา จึงฝากให้ทุกคนจับตาดูว่าการเลื่อนเลือกตั้งจนอาจทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ใครจะได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามทางกลุ่มฯ มีข้อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลเร่งประกาศ พ ร.ฎ.เลือกตั้งภายในวันที่ 18 ม.ค.นี้ หากไม่มีความชัดเจนวันที่ 19 ม.ค. ทางกลุ่มฯ ก็จะออกมาชุมนุมกันต่อ แต่ยืนยันว่าจะชุมนุมอย่างสันติวิธี และสถานที่ก็เป็นบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี เชิญตัวตนไปพูดคุยเรื่องความดังของเครื่องขยายเสียงเนื่องจากดังถึง 120 เดซิเบล ซึ่งปกติกำหนดไว้ 115 เดซิเบลนั้น น.ส.ณัฏฐา กล่าววว่า เนื่องจากตนได้นำหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอที่เครื่องวัดระดับเสียง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงให้ถ่ายข้อมูลจากเครื่องอัดเสียงมาก่อน เพื่อจะได้ดูว่าช่วงที่เสียงดังเป็นช่วงใด และแหล่งกำเนิดเสียงมาจากอะไร เพราะช่วงปราศรัยเสียงจะดัง 80-90 เดซิเบล เท่านั้นแต่เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่ดังเกินไป ทั้งนี้ในระหว่างการชุมนุมมีการใช้เครื่องเสียงของเจ้าหน้าที่ และเสียงไซเรนรถพยาบาล ทางเจ้าหน้าที่ก็ให้ความเป็นธรรมว่า เอาข้อมูลมาตรวจดูกันก่อน เลยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยเครื่องขยายเสียงยังถูกอายัดไว้ หากภายในสัปดาห์นี้ยังไม่ได้คืน วันเสาร์ที่ 19 ม.ค.จะต้องนัดชุมนุมกันอีกตามที่ได้ประกาศไว้ว่าจะรอดูการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ภายในวันที่ 18 ม.ค.นี้ ก็คงต้องหาเช่าเครื่องขยายเสียงใหม่
ถามถึงกรณีที่รัฐบาลออกมาวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมว่าทำให้เกิดความวุ่นวาย น.ส.ณัฏฐา กล่าวว่า การชุมนุมโดยสันติวิธี ตามสิทธิเสรีภาพ และสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ลองนึกภาพบ้านเมืองที่ไม่มีการชุมนุม เราจะเกิดทรราชย์ที่ใช้อำนาจได้อย่างตามอำเภอใจ โดยเฉพาะสภาที่ไม่มีฝ่ายค้านและสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพ การชุมนุมเป็นช่องทางในการสื่อสารที่จำเป็น เรามาชุมนุมปราศจากอาวุธ ไม่มีการยุยงปลุกปั่น ตอนนี้ทางรัฐบาลพยายามทำให้สังคมเห็นว่าการชุมนุมเป็นเรื่องผิดปกติ ทั้งที่เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิไตย ถ้าสังคมตั้งหลักตรงนี้ไม่ได้เราก็จะเกิดการปิดปากกันเองด้วยการบอกว่าการชุมนุมเป็นสิ่งเลวร้าย เมื่อนั้นรัฐบาลเผด็จการสามารถทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |