ต้านนโยบายเปลี่ยน “เอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 35 ล้านไร่” เป็น “โฉนดทองคำ” นักวิชาการชี้เปิดช่องตะครุบที่ดินจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศและต่างชาติ-เก็งกำไรที่ดิน-เกิดขบวนการผู้มีอำนาจรัฐหาผลประโยชน์ ย้ำยิ่งเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินให้รุนแรงหนักขึ้น
เมื่อวันอาทิตย์ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นคัดค้านการเปลี่ยน “เอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.” เป็น “โฉนดทองคำ หรือสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้” โดยให้เหตุผลว่า นโยบายดังกล่าวจะเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินรุนแรงยิ่งขึ้น ผิดหลักการของการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และสร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองในระยะยาว ทั้งมิติความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ มิติทางด้านเสถียรภาพและความสมดุล ที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด จะปล่อยให้ทุนนิยมเสรีหรือกลไกตลาดจัดสรรทรัพยากรอย่างเสรีโดยไม่บริหารจัดการหรือกำกับดูแลเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนโดยรวมไม่ได้ แม้นการให้ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรสามารถโอนกรรมสิทธิ์หรือซื้อขายได้ อาจทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงและราคาอาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่ถึง 10-15 เท่า โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ประชาชนและประเทศโดยรวมจะไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากจะก่อให้เกิดการเก็งกำไรที่ดิน ส.ป.ก. ในบางพื้นที่อย่างหนัก
"เกษตรกรจะสูญเสียสิทธิในการถือครองที่ดินและความสามารถในเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน การเปลี่ยน “ส.ป.ก. ที่ดินเพื่อการเกษตร” เป็นพื้นที่ในการสร้างโรงงาน สร้างโรงแรม รีสอร์ต สร้างบ้านจัดสรร สร้างตึกแถว สร้างศูนย์การค้า หรือเอาไปพัฒนาหากำไรอื่นๆเหมือนโฉนด อาจทำให้ผู้มีอำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบจากที่ดิน ส.ป.ก. 35 ล้านไร่ จากนโยบายโฉนดทองคำได้ และจะทำให้อำนาจทุนขนาดใหญ่บวกอำนาจรัฐเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัด จะสร้างความไม่เป็นธรรมอย่างใหญ่หลวง" นายอนุสรณ์กล่าว
พร้อมทั้งมองว่า แนวคิดนโยบายดังกล่าวจะทำให้ที่ดินจำนวนหนึ่งอาจถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเพราะรัฐครอบครองโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือนายทุนถือครองเพื่อเก็งกำไร ในที่สุดที่ดิน ส.ป.ก. 35 ล้านไร่จะตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน ขณะที่เกษตรกรจะไร้ที่ทำกิน หรือต้องเช่าที่ดินอันเป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ต่างๆ หากต้องการเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินที่ใช้ในกิจการอื่นนอกเหนือการเกษตรกรรม และต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ต้องมีคณะกรรมการกำกับดูแลและพิจารณาเป็นรายกรณี ไม่ใช่เปิดกว้างโดยทั่วไป
"ตามแบบนโยบายโฉนดทองคำ ปัญหา การตะครุบที่ดินจะเพิ่มขึ้นจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศและต่างชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหลาย ระบบข้อมูลการถือครองที่ดินที่ไม่ชัดเจนและแปลงที่ดิน ส.ป.ก. ให้ซื้อขายได้เพื่อกิจการอื่นๆ จะทำให้ปัญหาการตะครุบที่ดินรุนแรงมากขึ้นในอนาคต การเพิ่มมูลค่าที่ดิน ส.ป.ก. ควรทำให้เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปได้ นอกเหนือจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ" นายอนุสรณ์กล่าวย้ำ
นอกจากนี้ นายอนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะแนวทางในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรว่า ข้อแรก ต้องรักษาหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 81 ของกฎหมาย ส.ป.ก. ความว่า "ให้รัฐพึงส่งเสริมให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์และสิทธิในที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดิน และวิธีการอื่นๆ" ส.ป.ก.เป็นดอกผลของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และแลกมาด้วยการต่อสู้เรียกร้องขององค์กรภาคประชาชนและขบวนการนิสิตนักศึกษา รวมทั้งแลกมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อของผู้นำชาวนา ผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยถูกลอบสังหารหลายคนในช่วงปี พ.ศ.2518 ในระหว่างการเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและกฎหมาย ส.ป.ก.
และข้อสอง เสนอให้มีการจัดตั้ง “ธนาคารที่ดิน” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังจะสูญเสียที่ดินทำกิน หรืออยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องที่จะยึดทรัพย์ หรือจัดสรรเงินทุนซื้อที่ดินมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกิน, ข้อสาม กำหนดการคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดินเพื่อให้เกิดความสมดุล, ข้อสี่ ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดเพดานการถือครองที่ดินที่เหมาะสมโดยไม่กระทบต่อการทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือเกษตรพันธสัญญา, ข้อห้า การปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินทั้งหมด รวมทั้งที่ดินเพื่อการเกษตร ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทย ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าของทุน กับแรงงานรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรายย่อยปราศจากที่ดินทำกิน มหาเศรษฐี 100 อันดับแรกของไทยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยของประเทศทรัพย์สินและความมั่งคั่งไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย และหนี้สินต่อครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นอีกด้วยในภาวะทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เกษตรกรจำนวนไม่น้อยสูญเสียที่ดินหลักประกันเนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ได้
นายอนุสรณ์ย้ำตอนท้ายว่า สภาวะความเหลื่อมล้ำอย่างมากในการถือครองที่ดินได้ทำลายศักยภาพของภาคเกษตรกรรมของไทย คนไทยส่วนใหญ่ขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดรายได้และไร้ซึ่งทรัพย์สินและการเข้าถึงปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลง การแทรกแซงโดยรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินภายใต้เจตจำนงสาธารณะเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศและเสถียรภาพของสังคมไทย
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงนโยบายเปลี่ยน สปก. 4-01 โฉนดที่ดินนำไปใช้ประโยชน์ได้ว่า เรื่องของที่ดินทำกินประชาชนคาดหวังอยากให้เข้ามาช่วยดูแล ซึ่งที่ดินก็ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ที่เอกชน, ที่รัฐ และพื้นที่ป่า ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก จะต้องมีแนวทางคือช่วยเหลือให้ประโยชน์กับประชาชนโดยไม่ปล่อยให้ที่ดินหลุดไปอยู่ในมือของนายทุนเหมือนกรณีเขาใหญ่และวังน้ำเขียว ทุกพื้นที่ประชาชนจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ส่วนข้อเสนอแนะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เรารับฟัง พวกเราไม่ดื้อ อะไรที่เป็นคำตอบที่ดีที่สุดเราจะเดินหน้า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |