โฆษก คสช.อัดกลุ่มคนอยากเลือกตั้งวุฒิภาวะทาง ปชต.บกพร่อง ใช้อารมณ์กราดเกรี้ยว ผลักคนเห็นต่างอยู่ฝ่ายตรงข้าม แจง ผบ.ทบ.ห่วงบ้านเมือง ช่วงพระราชพิธีมหามงคลอยากให้ประเทศสงบเรียบร้อย "ทษช." โต้ ผบ.ทบ.มีอคติป้ายสีคนค้านเลื่อนเลือกตั้งทั้งที่รัฐบาลไม่ชัดเจนเอง "เพื่อชาติ" เตือนฟางเส้นสุดท้าย ปชช.ลุกฮือทั่วประเทศขับไล่ ขณะที่กลุ่มอยากเลือกตั้งเหิมขีดเส้นภายใน 18 ม.ค.หากยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งพร้อมยกระดับการชุมนุมสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โพลมองเลื่อนเลือกตั้งไม่คุ้มค่า
เมื่อวันอาทิตย์ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนักการเมือง ตอบโต้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ) ในฐานะเลขาธิการ คสช. ตำหนิการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า เชื่อว่าประชาชนเข้าใจในสาระสำคัญที่ ผบ.ทบ.สะท้อนให้เห็นภาพด้วยความห่วงใย ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อย ที่กองทัพบกประสงค์ให้ในช่วงเวลาสำคัญนี้ วาระสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เป็นมหามงคลยิ่งของพสกนิกร ที่ในตลอดห้วงชีวิตนี้จะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมเพียงครั้งหนึ่ง ควรจะเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยมีบรรยากาศที่มีความสุขสงบเรียบร้อย
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ในขณะนี้ภาคส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่รับข่าวสารเรื่องการเลือกตั้งด้วยวิจารณญาณ มีความเข้าใจในเหตุและผล และเฝ้าดูการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีความพร้อมที่จะร่วมสร้างบรรยากาศแจ่มใสให้ประเทศไทย เพื่อเตรียมสำหรับพระราชพิธีที่เป็นมหามงคลยิ่ง และสามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อย่างไรก็ตามกองทัพบกเชื่อในความตั้งใจจริงของทุกฝ่าย ที่กำลังหารือเพื่อให้ได้การปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด สง่างามที่สุด ประชาชนเห็นด้วยที่สุด และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในความเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
โฆษก คสช.กล่าวอีกว่า หากสังคมไทยจะมองการตั้งใจเคลื่อนไหวอย่างมีนัยที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ด้วยความรู้สึกกังขา และมองว่าไม่เหมาะไม่ควร ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นอารมณ์ประชาธิปไตย ที่ใครๆ ก็มีสิทธิจะเกิดความรู้สึกแบบนั้นขึ้นได้ และถ้ามองอย่างพิจารณา อาจตั้งข้อสังเกตได้ไหมว่าความเคลื่อนไหวบางอย่างได้กลายเป็นอาชีพหนึ่งไปเสียแล้ว และยังเป็นวิธีการเดิมๆ ที่บางกลุ่มบางส่วนนำมาใช้ โดยที่บางครั้งก็ไม่ได้สนใจบริบททางสังคมโดยรวม
"การเคลื่อนไหวแบบมีนัยและการวิจารณ์ด้วยอารมณ์ที่เต็มไปด้วยทัศนคติเชิงลบ ไม่น่าจะเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยที่งดงาม และยังไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อสังคมไทยเลยแม้แต่น้อย ส่วนการให้ความเห็นของสมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น คงไม่ต่างจากความเห็นเก่าที่ได้เคยประกาศไว้ตั้งแต่อดีต แต่ระยะหลังมีความกราดเกรี้ยวในถ้อยคำยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นวาทะที่สังคมคงจะต้องไตร่ตรองให้ชัดเจน โดยเฉพาะการชูประเด็นว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแล้วผลักผู้อื่นให้ไปอยู่ตรงข้าม อาจมองได้ถึงวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยที่กำลังบกพร่องก็เป็นได้" พ.อ.วินธัย กล่าว
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ปี 2562 เป็นปีแห่งความปลื้มปีติและความเป็นมงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย และเป็นวาระสำคัญของประเทศในการเลือกตั้งทั่วไป และการร่วมกันทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพอาเซียน รัฐบาลโดยฝ่ายความมั่นคงยังคงเดินหน้าร่วมกันขับเคลื่อนงานหลักในการดูแลความมั่นคงปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประเทศต่อเนื่องกันไป สำหรับการแสดงความคิดเห็นและการลงพื้นที่หาเสียงของบางพรรคการเมืองที่มีเจตนาพาดพิงชี้นำบิดเบือนเชื่อมโยงข้อมูลใส่ร้ายป้ายสีกองทัพและสถาบันการศึกษาทางทหารให้มีภาพลักษณ์เสียหาย และเกิดความเข้าใจผิดจากประชาชนนั้น ขอให้สังคมได้ใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบและพิจารณายกระดับบรรทัดฐานการทำงานการเมืองใหม่อย่างสร้างสรรค์ควบคู่กันไป โดยเฉพาะอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่อาสาเข้ามาทำงานการเมือง ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย วาจาก้าวร้าวพาดพิงสถาบันใดๆ เพียงเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์แสดงออกถึงวุฒิภาวะที่ไม่เหมาะสม เชื่อว่าไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคม และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชน
"กองทัพมีจิตวิญญาณ และกำลังพลทุกคนของกองทัพคือพี่น้องประชาชนที่เสียสละหมุนเวียนกันเข้ามาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติสืบเนื่องกันมาด้วยความตั้งใจ ขณะเดียวกัน ก็เปิดกว้างรับฟังทุกข้อคิดเห็นจากสังคมอย่างสร้างสรรค์มาโดยตลอด เพื่อการปรับเปลี่ยนและพัฒนาบทบาทของกองทัพให้มีความเหมาะสมเพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนไป และความต้องการที่แท้จริงของประชาชน จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมกันรักษาบรรยากาศความสงบเรียบร้อยและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสร้างสรรค์" พล.ท.คงชีพกล่าว
ซัด ผบ.ทบ.มีอคติ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ตำหนิกลุ่มที่เคลื่อนไหวคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง ว่า ตนไม่กังวล และเห็นว่าทุกฝ่ายไม่ควรสร้างความขัดแย้ง ส่วนผู้ที่เคลื่อนไหว หากกระทำตามกรอบกฎหมายก็ถือเป็นสิทธิ์ พร้อมขอให้ทุกฝ่ายเดินไปข้างหน้า
"ส่วนการเลื่อนการเลือกตั้งนั้น จะเลื่อนไปนานเท่าใด ผมตอบไม่ได้ แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายในกรอบกฎหมาย 150 วัน ซึ่งการเปิดตัวคิกออฟในวันนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมเดินหน้าสู่สนามการเลือกตั้ง และจะไม่กลับสู่วงจรรัฐประหารอีก" นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า การที่ ผบ.ทบ.พูดถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและประชาชนที่คัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง แสดงถึงความไม่เข้าใจเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย มีอคติ คับแคบ และเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม การชุมนุมแสดงความคิดเห็นย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพ ตราบใดที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร จะว่าเป็นความวุ่นวายได้อย่างไร การพูดว่าพวกนี้มีหน้าที่สร้างความวุ่นวายและมีคนสั่งให้ทำก็ไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงอะไรรองรับ เป็นการดูถูกประชาชนที่อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วตามกำหนดที่ประกาศไว้
"ผบ.ทบ.ได้พูดถึงพระราชพิธีเหมือนกับจะทำให้คนเข้าใจผิดว่าผู้ที่คัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งไม่คำนึงถึงพระราชพิธี ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงเลย ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่รัฐบาลไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าต้องการอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร คนจำนวนไม่น้อยก็คิดว่ายิ่งเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็อาจจะเป็นผลเสียมากกว่าการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม เป็นต้น การพูดของ ผบ.ทบ. จึงอาจทำให้คนโกรธเคืองกัน แทนที่จะรับฟังความเห็นที่อาจจะต่างกัน แต่ทุกฝ่ายก็มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น"
นายจาตุรนต์ระบุว่า สาเหตุที่ประชาชนทั่วประเทศอยากให้มีการเลือกตั้งเร็ว ก็เพราะอยากให้บ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติ ทำให้เกิดโอกาสในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค ทษช. กล่าวว่า เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าในช่วงนี้ประเทศไทยกำลังจะมีพระราชพิธีสำคัญ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก แน่นอนคนไทยทุกคนล้วนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่ ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ตำหนิกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่าคิดแต่อยากจะเลือกตั้ง และพยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดความวุ่นวายนั้น ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องคงไม่ใช่เพียงแค่อย่าเลื่อนการเลือกตั้ง ความชัดเจนของรัฐบาล คสช.ในการกำหนดวันเลือกตั้งจะช่วยคลายความกังวลของทุกฝ่าย แต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กลับไม่มีความชัดเจน เกิดการโยนกันไปมาระหว่างรัฐบาล คสช.และ กกต. จนประชาชนเกิดความสับสน
"สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดก็คือความชัดเจน แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ได้สัญญากับนานาประเทศว่าจะจัดการเลือกตั้งตั้งแต่หลายปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน และมีแนวโน้มว่าอาจจะเลื่อนออกไปอีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนต้องการให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด จึงอยากเรียกร้องให้ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแสดงความชัดเจนออกมาเสียที หยุดย่ำยีประเทศ อย่าเพิกเฉยต่อความหวังของประชาชน และหยุดขวางโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากความเสียหายไปมากกว่านี้" นายพงศ์เกษมกล่าว
น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่(อนค.) กล่าวว่า การที่ ผบ.ทบ.ออกมาพูดในลักษณะดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในฐานะที่ตัวท่านเองมีหน้าที่หนึ่งคือการดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะเป็นการประกาศชัดเจนว่าอยู่ตรงข้ามกับผู้ชุมนุม และสะท้อนความไม่เข้าใจอารมณ์และความต้องการของประชาชน ที่ต้องการเปลี่ยนเข้าสู่การเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสงบผ่านการเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่ได้เท่ากับความวุ่นวาย ความไม่ชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งต่างหากที่จะเป็นต้นเหตุของความไม่สงบในบ้านเมือง
"ที่สำคัญอย่างยิ่ง ผบ.ทบ.ไม่ควรหยิบยกเรื่องงานพระราชพิธีมาเป็นประเด็นในการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน เพราะพระราชพิธีสำคัญกับการเลือกตั้งสามารถดำเนินการไปด้วยกันได้ในระบอบประชาธิปไตย หากผู้มีอำนาจไม่เจตนาจะสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหา ดังนั้น การให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ.จึงไม่เหมาะสม และอาจจะถูกมองได้ว่าเจตนาจะสร้างเรื่องให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นเสียเอง" น.ส.พรรณิการ์กล่าว
ขู่ ปชช.ลุกฮือขับไล่
นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ(พ.พ.ช.) กล่าวว่า จากการที่พรรคเพื่อชาติได้เดินสายพบปะประชาชนทั่วประเทศ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันถึงความลำบาก เดือดร้อน โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง ส่วนใหญ่ต่างต้องการให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว ด้วยเป็นความหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงครั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62 จึงเกิดกระแสต่อต้านขึ้น โดยเฉพาะครั้งนี้เป็นกระแสที่รุนแรงมากกว่าทุกครั้ง เพราะถือว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจนว่าจะจัดเลือกตั้งขึ้นในวันดังกล่าว จึงเสมือนเป็นสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับคนไทย และเป็นที่รับรู้ต่อนานาอารยประเทศ ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนต่างแสดงออกถึงความไม่พอใจเมื่อรัฐบาลที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก
นายรยุศด์กล่าวว่า กระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก แม้กระทั่งกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน ก็ออกมาเรียกร้องไม่ให้เลื่อนการเลือกตั้ง รวมถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบแฟลชม็อบ ซึ่งได้ผลตอบรับดีเกินคาด เช่นเดียวกันยังมีองค์กรภาคประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา แสดงออกถึงการคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง เป็นการชุมนุมอย่างไม่มีรูปแบบ แต่แฝงไปด้วยพลัง และอุดมการณ์อันแรงกล้า ที่รัฐบาล หรือ คสช. จะประมาทไม่ได้
"เรากำลังรอฟางเส้นสุดท้ายสักเส้นหนึ่ง ที่ความอดทน อดกลั้นของประชาชนจะขาด และออกมาต่อต้านอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งประเทศ หากถึงวันใดที่ประชาชนไม่ยอมอีกแล้ว กระแสสังคมถูกจุดติด ลุกลามบานปลาย จนยกระดับเป็นการชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศขึ้นมา เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล ก็มีความเป็นไปได้สูง หาก คสช.เมินความรู้สึกของสังคม และประเมินพลังของประชาชนต่ำไป ซึ่งอาจส่งผลต่อรัฐบาล คสช.อย่างคาดไม่ถึง ประวัติศาสตร์ได้บอกแล้วว่า ผู้ก่อการรัฐประหารทุกคณะจุดจบเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังทันยังพอลงได้ แม้จะลำบากหน่อย แต่ถ้าลงช้ากว่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และคณะ ระวังจะลงไม่สวย" นายรยุศด์กล่าว
ที่แยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน กทม. ทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว”, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมปราศรัยแสดงพลังในจุดยืน “ไม่เลื่อน ไม่ล้ม ไม่ต่อเวลาการเลือกตั้ง” คู่ขนานไปพร้อมๆ กับการจัดกิจกรรมดังกล่าวที่บริเวณศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วบริเวณ
อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.00 น. มีเหตุชุลมุนเล็กน้อยระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง ก่อนจะเจรจากันสำเร็จ โดยเจ้าหน้าที่ยินยอมให้ใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ได้ จากนั้นเวลาประมาณ 17.30 น. น.ส.ณัฏฐาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยวางพวงหรีดเขียนชื่อ สนช., กกต., คสช., ครม., สปช. และ กรธ. หรือแม่น้ำทั้ง 6 สาย เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้การเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 ที่ถูกเลื่อนออกไป
ด้านนายสิรวิชญ์อ่านแถลงการณ์ว่า ข้อเรียกร้องความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งไม่ได้รับการตอบสนอง ทางกลุ่มขอยื่นคำขาดต่อรัฐบาล คสช. 3 ข้อ ดังนี้ 1.ไม่เลื่อนวันเลือกตั้งให้ล่วงเลยกว่าวันที่ 10 มี.ค. 2.ไม่ล้มการเลือกตั้งด้วยการใช้เล่ห์กล ข้ออ้าง หรือเทคนิคทางกฎหมายใดๆ และ 3.ไม่ต่อเวลาให้กับการอยู่ในอำนาจของตน ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความได้เปรียบ
“หากภายในวันที่ 18 ม.ค.ไม่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง เพื่อเปิดทางให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง มวลชนจะยกระดับการชุมนุมสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 17.00 น. วันที่ 19 ม.ค.62” นายสิรวิชญ์กล่าว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคปชป.และอดีต กกต. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า มีบันทึกการประชุมระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับ กกต. ครั้งที่ 185 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 ที่เผยแพร่กันว่า ประธาน กรธ.และตน มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน เป็นที่รู้เรื่องแล้วว่าหมายถึงการหย่อนบัตรอย่างเดียว เจตนาของการเผยแพร่เอกสารดังกล่าว เข้าใจว่าน่าจะต้องการให้สังคมเห็นว่า การยื้อการเลือกตั้งออกไปสามารถทำได้ถึงไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.2562
เตือน กกต.ติดคุก
เมื่อมาค้นดูรายละเอียดของการประชุม ปรากฏว่าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นเพียงแค่สรุปการประชุม ไม่มีบันทึกการประชุมตามที่มีผู้เอามาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เมื่อดูในรายละเอียดแล้ว เป็นดังนี้ 1) การประชุมครั้งที่ 185 ในวันนั้น มิใช่วาระเกี่ยวกับการพิจารณาตีความหมายมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหา แต่เป็นวาระการพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ซึ่งเป็นกฎหมายลูก 2) จากเอกสารสรุปการประชุมที่เผยแพร่ต่อสาธารณะในเว็บไซต์ของ กรธ. ไม่มีข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญเลย 3) การหยิบยกเรื่อง 150 วันนั้น เป็นการถามจากตนในช่วงท้ายของการประชุม เพราะเป็นสิ่งที่ กกต.กังวลว่าจะเป็นความผิด
4) การตอบของอาจารย์มีชัย เป็นเพียงลมปากว่าแค่หย่อนบัตร แต่เมื่อตนบอกว่าจะขอทำหนังสือถามมาอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นลายลักษณ์อักษร ท่านก็ว่าต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ 5) บันทึกการประชุมที่เผยแพร่ ไม่เคยเผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่สามารถค้นได้ในเว็บไซต์ของ กรธ. และเพิ่งอาจจะเขียนเสร็จหรือเพิ่งแก้ไข มีใครลงนามรับรองบ้าง แทบไม่มีใครทราบเลย แต่มีเจตนาจะมาแก้ต่างว่า หย่อนบัตรใน 150 วัน ไม่ผิดกฎหมาย เพื่อความชอบธรรมในการยื้อการเลือกตั้ง 6) การปฏิเสธไม่ยอมตอบเอกสารที่เป็นทางการที่ กกต.สอบถามไปยัง กรธ. แสดงถึงความขลาดกลัวที่จะร่วมรับผิดชอบของ กรธ. หากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตว่า การจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วันนั้น ให้รวมประกาศผลด้วย
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ "กกต.จะทำให้ผู้เสียภาษีเป็นผู้รับความเสี่ยงหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ" ระบุว่า ตามที่เผยแพร่หนังสือของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ถึงประธาน กกต. ซึ่งระบุว่าการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธ.ค.2550 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีการประกาศผล 11 ครั้ง (ขณะนั้นกำหนดเวลา 90 วัน) พบว่า กกต.ประกาศผลภายใน 90 วัน 2 ครั้ง แต่ประกาศเลย 90 วัน 9 ครั้ง โดยใช้เวลาระหว่าง 88 วัน จนถึงสูงสุด 115 วัน มีผู้อ่านตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากในปี 2550 ไม่มีการลงโทษ อาจแสดงว่าถ้าเกิน 150 วันตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่เป็นไร ตนไม่ทราบว่า กรณีปี 2550 นั้น การประกาศ 2 ครั้งที่อยู่ภายใน 90 วันเป็นประกาศใหญ่ที่ครอบคลุมจำนวน 95% หรือไม่ เพราะถ้าครอบคลุม และประกาศที่เกินเวลาเป็นการเลือกตั้งซ่อมบางเขตไม่กี่คนก็ไม่เป็นไร นอกจากนี้ ในปี 2550 ไม่มีผู้ใดฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ดังนั้น กกต.ก็ปลอดภัย แต่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีการเปลี่ยนกติกา ซึ่งจะทำให้มีการต่อสู้กันอย่างหนัก ไม่เฉพาะจากฝั่งผู้แพ้ แต่จะมีจากฝั่งผู้ชนะด้วย
"จึงจะมีคนที่ไม่พอใจการชี้ขาดของ กกต.ทั้งสองฝั่ง ดังที่นายวิษณุ เครืองงาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 4 ม.ค.ว่า การเลือกตั้งในครั้งก่อนๆ ผู้ที่แพ้มักจะร้องเรียน แต่เลือกตั้งครั้งนี้ใช้ระบบใหม่นับทุกคะแนนเสียง ซึ่งจะได้เห็นคนชนะร้องเรียน เพื่อทำลายคะแนนที่จะเสียไปให้กับฝั่งตรงข้ามที่จะได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นจะเห็นการร้องเรียนอุตลุดวุ่นวาย แม้หลายคนบอก กกต.สามารถแจกใบแดง ใบเหลืองไปก่อนได้ แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสุดท้ายคะแนนในการจัดตั้งรัฐบาลจะเรรวน คนที่ถูกเลือกเข้ามาแล้วอาจถูกสอยภายหลัง"
นายธีระชัยระบุอีกว่า เป็นอันว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะกระตุ้นการฟ้องร้องกันมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน ถ้ามีใครร้องว่าการประกาศผล 95% หลัง 150 วันทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ใครจะรับประกันได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะหยิบยกเจตนารมณ์ของ กรธ.ขึ้นมาประกอบการพิจารณาหรือไม่ ประเด็นที่ทุกคนต้องตระหนักคือ ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ขยายเวลาจาก 90 วันไปเป็น 150 วัน และในเมื่อปี 2550 การประกาศผลเลือกตั้งที่ล่าช้าที่สุดก็เกิดขึ้นใน 115 วัน ดังนั้น การวางปฏิทินให้ประกาศผลภายใน 150 วันย่อมปลอดภัยไร้กังวล เพราะกรณีถ้าหากการเลือกตั้งเกิดเป็นโมฆะ นอกจาก กกต.จะมีความผิดอาญาและต้องหารยาวรับชดใช้ค่าใช้จ่ายเลือกตั้งหลายพันล้านบาทเองแล้ว ยังไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีทั้งมวล และสร้างปัญหาต่อการจัดตั้งรัฐบาลอีกด้วย
นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถ้าจะตีความแบบศรีธนญชัย! กำหนดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 150 วัน ยังสามารถตีความได้อีกอย่างหนึ่งว่า ระยะเวลา 150 วันนั้น เป็นเพียงระยะเวลาการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ส่วนจะเลือกตั้งเมื่อใด นานเท่าใด ไม่เกี่ยว (ขณะนี้การตีความมี 2 อย่างคือ 1.ตีความตามที่ กกต.ตีความ คือต้องเลือกตั้งและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน และ 2.ตีความตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญตีความว่า ระยะเวลาเลือกตั้งแล้วเสร็จคือวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่มีและไม่ได้ ส.ส.เลยแม้แต่สักคนเดียว)
เลื่อนเลือกตั้งไม่คุ้มค่า
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไร กับการเลื่อนเลือกตั้ง โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,029 คน ระหว่างวันที่ 8-12 ม.ค.62 สรุปผลได้ ดังนี้
1.ประชาชนคิดอย่างไร กับการเลื่อนเลือกตั้ง อาจไม่ใช่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ อันดับ 1 ร้อยละ 31.50 เห็นว่า ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม ไม่สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง, อันดับ 2 ร้อยละ 23.32 กกต.ต้องประกาศวัน เวลา เลือกตั้งที่ชัดเจน, อันดับ 3 ร้อยละ 20.11 ส่งผลกระทบกับรัฐบาลและ กกต. มีกระแสข่าวในทางลบ, อันดับ 4 ร้อยละ 17.96 ถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลา มีนัยแอบแฝง, อันดับ 5 ร้อยละ 15.68 ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ก็ต้องมีการเลือกตั้ง
2.“ข้อดี” ของการเลื่อนเลือกตั้งคือ อันดับ 1 ร้อยละ 48.45 เห็นว่าทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวลงพื้นที่หาเสียงได้มากขึ้น, อันดับ 2 ร้อยละ 29.19 กกต.มีเวลาเตรียมการต่างๆ เกี่ยวกับเลือกตั้งอย่างรอบคอบ รัดกุม, อันดับ 3 ร้อยละ 27.95 ประชาชนมีเวลาในการตัดสินใจมากขึ้น
3.“ข้อเสีย” ของการเลื่อนเลือกตั้งคือ อันดับ 1 ร้อยละ 49.17 เห็นว่าบ้านเมืองขาดเสถียรภาพ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ, อันดับ 2 ร้อยละ 44.97 ทิศทางการเมืองไม่ชัดเจน อึมครึม เสียเวลา, อันดับ 3 ร้อยละ 30.70 เกิดความขัดแย้ง ใส่ร้าย โจมตีทางการเมืองมากขึ้น
4.เมื่อพิจารณาแล้ว ประชาชนคิดว่าการเลื่อนเลือกตั้งจะทำให้เกิดความคุ้มค่าหรือไม่ อันดับ 1 ร้อยละ 63.75 เห็นว่าไม่คุ้มค่า เพราะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจ การเมืองขาดเสถียรภาพ เสื่อมเสียภาพลักษณ์ เป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ
ที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการ อาคาร B นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาผู้นำเยาวชน(YLDF) โดย ดร.วงษ์ภูมิ วนาสิน และเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 100 คนทั่วประเทศ ร่วมแถลงจัดตั้ง “เครือข่ายปฏิบัติการเลือกตั้ง หรือ CEPP : Civic Election Participation Partnership” ภายใต้การรับรองของ กกต. เพื่อช่วยประเทศทำหน้าที่ 3 ประการ คือ 1) การรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2) การชักจูงให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันให้มากๆ เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และ 3) การสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง และให้มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
นายศรีสุวรรณแถลงสรุปภารกิจของ CEPP จะมุ่งเน้นการตรวจสอบเพิ่มอีก 4 ประการ คือ 1) ตรวจสอบเล่ห์ฉลของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ส่อไปในทางซื้อสิทธิ์-ขายเสียง 2) ตรวจสอบพรรคการเมืองทุกพรรคว่ามีนโยบายที่ทำได้จริงและขัดต่อกฎหมายหรือไม่ 3) ตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐว่ามีความเป็นกลางในการเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครพรรคใด พรรคหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ และ 4) ตรวจสอบ กกต.ว่าดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่ด้วย
ทั้งนี้ CEPP จะเปิดรับประชาชน หรือองค์กรภาคประชาสังคม หรือแนวร่วมทั่วประเทศที่ประสงค์จะเห็นการเลือกตั้งในทุกระดับเป็นไปโดยโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม ได้ผู้แทนของประชาชนมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ สามารถอีเมลมาสมัครได้ที่ [email protected] ซึ่งระบบคัดกรองคือการเลือกตั้ง จะต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยคนหรือกลุ่มคนที่เราเรียกว่า “มือที่มองไม่เห็น” และหาก CEPP พบความผิดปกติจะใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการบุคคลหรือกลุ่มคนเหล่านี้ทันที แม้กระทั่งผู้ควบคุมกฎก็ไม่ละเว้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |