สิ้นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ "เขมานันทะ" นักเขียนคนสำคัญผู้แตกฉานพุทธศาสนา ตั้งสวดพระอภิธรรม 14-19 ม.ค. วัดชลประทานรังสฤษดิ์
เมื่อวันที่ 13 มกราคมนี้ นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่า นายโกวิท เอนกชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2550 จากไปด้วยอาการปอดติดเชื้อที่โรงพยาบาลเชียงราย เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2562 เวลา 05.00 น. สิริอายุรวม 81 ปี นับว่าวงการวรรณกรรมไทยสูญเสียนักเขียนผู้แตกฉานทางพุทธศาสนาคนสำคัญ โดยจะมีพิธีรดน้ำศพในวันที่ 14 ธ.ค. เวลา 16.30 น. ณ ศาลาจารุมิลินท กำหนดสวดพระอภิธรรม เวลา 19.00 น. ถึงวันที่ 19 ม.ค. และฌาปนกิจวันที่ 20 ม.ค.นี้ เวลา 16.30 น. ณ เมรุ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี งดรับพวงหรีด
นายชายกล่าวต่อว่า ในส่วนของการช่วยเหลือด้านต่างๆ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท
นายโกวิท เอนกชัย หรือนามปากกา "เขมานันทะ" "รุ่งอรุณ ณ สนธยา" "ฉับโผง" "กาลวิงก์" และ "มุนีนันทะ" เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 ที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมี่อ พ.ศ.2508 ต่อมาได้อุปสมบท และฝึกปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสภิษขุที่สวนโมกขพลาราม และภายหลังได้ฝึกปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ขณะอยู่ในสมณเพศได้สร้างสรรค์และสืบสานงานพุทธศิลป์จำนวนมากไว้ที่โรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกขพลาราม ทั้งในรูปแบบบทกวีและจิตรกรรมโบราณของไทย นับเป็นต้นแบบอันทรงค่าและมีบทบาทในการให้การศึกษาแก่ผู้ไปเยือนทั้งในด้านพุทธปัญญาและพุทธศิลป์มาถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ นายโกวิท เอนกชัย มีผลงานทั้งร้อยแล้วและร้องกรอง ผลงานร้อยแก้วมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งบทความ ความเรียงธรรมบรรยาย บทวิจารณ์วรรณคดี และนวนิยาย ผลงานดังกล่าวมีเนื้อหาลึกซึ้ง ใช้ถ้อยความและท่วงทำนองการเขียนอย่างมีวรรณศิลป์ แสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง และมีเจตนามุ่งประสานความคิดความสัมพันธ์ด้วยมิตรภาพกับทุกศาสนาในโลก ผลงานของนายโกวิท เอนกชัย ทั้ง 60 เรื่อง นับเป็นการผสมผสานพุทธปัญญากับศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างกลมกลืนและงดงาม มีมุมมองแหลมคมในการวิเคราะห์ วิจารณ์ สามารถอธิบายปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทั้งสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างชัดเจน จึงสามารถสืบสานธรรมะให้แก่คนรุ่นใหม่และผู้สนใจใฝ่ธรรมได้อย่างกว้างขวาง จนเกิดการจัดตั้งพุทธสถานและอาศรมขึ้นหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กล่าวได้ว่า จุดเด่นของผลงานของนายโกวิท อยู่ที่ความสามารถในการสืบสานและหลอมรวมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยได้อย่างมีวรรณศิลป์ โดยมุ่งหวังให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกันในสังคมโลกด้วยสันติและไมตรี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |