ทุกอย่างจบ 9 พฤษภาคม เซฟ‘เลือกตั้ง’เซฟ‘กกต.’


เพิ่มเพื่อน    

      เพราะว่าเคยมีเหตุให้ต้องเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง มันจึงทำให้ความหวาดระแวงไม่ได้หมดลงไปในครั้งนี้ แม้จะมีกรอบ 150 วัน ภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 เป็นไฟต์บังคับ

                ความกังวลที่เกิดขึ้น ไม่ได้เฉพาะเลื่อนหรือไม่เลื่อนจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ไปเท่านั้น แต่ขยับไปถึงจุดที่ว่า สุดท้ายแล้วการเลือกตั้งจะ โมฆะ หรือไม่

                นั่นเพราะความไม่แน่นอนในเรื่องข้อกฎหมายที่ยังมีความเห็นแย้งกันว่า กรอบ 150 วันนั้นได้รวมจำนวน 60 วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศผลเลือกตั้งด้วยหรือไม่

                หรือเป็นแต่เพียงว่าให้จัดการเลือกตั้งให้เสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ส่วนการประกาศผลการเลือกตั้งที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน จะเกิดหลังจากนั้นก็ได้

                มีการยืนยันจากฝ่ายผู้มีอำนาจคือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าจำนวน 60 วันในการประกาศผลการเลือกตั้งไม่ได้รวมอยู่ใน 150 วัน

                “การจัดเลือกตั้ง 150 วันเป็นเรื่องหนึ่ง การประกาศผล 60 วันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะกฎหมายคนละมาตรา ไม่ใช่เอาสองมาตรามารวมกัน ต้องเลือกตั้งให้เสร็จก่อน จากนั้นถึงนับระยะเวลาการประกาศผลต่อไป อีก 60 วัน”

                เช่นเดียวกับผู้ที่มีหน้าที่และเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ให้ความเห็นในลักษณะเดียวกันว่า เจตนารมณ์ของ กรธ.ตั้งแต่ต้น คือ กรอบเวลา 150 วันไม่นับรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง

                “ได้ชี้แจงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปแล้ว จึงได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 171 ของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ตั้งแต่กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ครบ 4 ฉบับไปอีก 150 วันได้ ก็คือ ภายในวันที่ 9 พ.ค. โดยไม่ต้องนับรวมเวลาในการประกาศผล”

                นี่คือ 2 เสียงที่ มีน้ำหนัก เพราะคนหนึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าแม้ไม่ได้มีตำแหน่งเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย แต่คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบกฎหมายและเรื่องสำคัญต่างๆ ของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนอีกคนคือ โฆษก กรธ.ที่ร่างมาเองกับมือ

                แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความหวาดระแวงลดน้อยลง เพราะในทางปฏิบัติ “ผู้ชี้ขาด” เรื่องนี้ตามรัฐธรรมนูญว่า ใช่หรือไม่ใช่คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” แต่เพียงผู้เดียว

                ความเห็นของ “วิษณุ” และ “กรธ.” เป็นเพียง ความเห็นทางกฎหมาย ลักษณะเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหน้าที่ให้ความเห็นหรือเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ซึ่งหลายครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

                และแม้ว่า กรธ.จะยืนยันว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้ผ่านตา “ศาลรัฐธรรมนูญ” มาแล้วทุกฉบับ แต่ก็ไม่สามารถการันตีอะไรได้ หากเกิดข้อโต้แย้งทางกฎหมาย

                เมื่อปัญหายังไม่เกิด และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยวินิจฉัยประเด็นนี้ จึงไม่มีอะไรรับรองได้ว่า ความเห็นของ “วิษณุ” และ “กรธ.” ถูกต้องหรือไม่

                เมื่อความคลุมเครือยังคงมี ความหวาดระแวงก็ยังคงอยู่ ตอนนี้ทุกคนอาจเชื่อตาม “วิษณุ” และ “กรธ.” และปฏิบัติตามนั้น

                แต่หากมีการประกาศผลหลังวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของ 150 วันไปแล้ว และมีใครไปยื่นให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะสุ่มเสี่ยงทันที เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ดำเนินการกันไป

                เท่ากับว่า โอกาสที่การเลือกตั้งจะ “โมฆะ” มีเหมือนกัน

                ตรงนี้เป็นความหวาดระแวงที่เกิดขึ้นจริง เพราะมีบางฝ่ายมองว่าวิธีดังกล่าวอาจเป็น “ประตูฉุกเฉิน” กรณีที่ผลเลือกตั้งออกมาไม่ตรงตามเป้าหมายที่ใครบางคนวางเอาไว้

                ขณะเดียวกัน ท่าทีของ กกต.เอง โดยเฉพาะ “อิทธิพล บุญประคอง” ประธาน กกต. ก็ดูเหมือนอยากจะจัดการเลือกตั้ง และประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จภายในกรอบ 150 วัน

                “ได้พูดคุยในชั้นของคณะกรรมการ กกต.แล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นว่าจะตัดสินใจอย่างใดว่า 150 วันหมายถึงอะไรกันแน่ ซึ่งเรายังไม่ก้าวล่วงว่าศาลรัฐธรรมนูญ กรธ. หรือคณะกรรมการกฤษฎีกาจะคิดอย่างไร รวมทั้ง กกต. และยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปปรึกษาฝ่ายใด เพราะเราตั้งใจจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จรวมถึงประกาศผลเลือกตั้งภายใน 150 วัน”

                คำพูดของ “ประธาน กกต.” ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจเหมือนกัน แม้จะมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาพูดในเรื่องนี้เยอะแล้ว     

                ไม่แปลก หาก กกต.ไม่อยากจะพาตัวเองเข้าไปเสี่ยง เพราะหากเกิดความผิดพลาดจนทำให้การเลือกตั้งเป็น โมฆะ กกต.ทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาและคดีแพ่ง

                คนอาจมองว่า กกต.ชุดนี้ได้รับการสรรหาเข้ามาในยุคของ คสช. หลายคนมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แต่คงไม่มีใครอยากเป็นคนรับเคราะห์ในครั้งนี้แน่

                ขณะที่วันเลือกตั้งเดิม 24 กุมภาพันธ์ คงไม่เกิดขึ้นเกือบจะแน่นอนแล้ว หลัง “วิษณุ” ออกมาเปิดเผยว่า จะมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนมกราคมนี้ และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือนมีนาคม

                สำหรับวันอาทิตย์ในเดือนมีนาคม ซึ่งจะเป็นวันเข้าคูหา ตามปฏิทินพบว่า วันอาทิตย์แรกของเดือนคือ วันที่ 3 มีนาคม จากนั้นเป็นวันที่ 10 มีนาคม, 17 มีนาคม, 24 มีนาคม และวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนคือ วันที่ 31 มีนาคม

                วันอาทิตย์ที่ 3 และ 10 มีนาคม อาจเป็นเรื่องยาก เพราะหลังจากนั้น 60 วันที่ กกต.จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งคาบเกี่ยวกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงน่าจะเป็นวันอาทิตย์หลังจากนั้น ซึ่งต้องมีพระราชกฤษฎีกาออกมาเสียก่อนจึงรู้แน่ชัด เพราะหลังจากนั้น กกต.ต้องประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน

                ซึ่งหากเป็นกลางเดือนถึงปลายเดือนมีนาคม ระยะเวลาในการประกาศผล 60 วันจะเลยวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นเดดไลน์สุดท้ายใน 150 วันไปแล้ว อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจขึ้นได้

                ทางเดียวที่การเลือกตั้งจะไม่สุ่มเสี่ยง “โมฆะ” และ กกต.จะไม่สุ่มเสี่ยงถูกฟ้องร้องคือ ต้องประกาศผลภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเท่ากับใช้โควตาไม่ครบ 60 วัน แต่นั่นปลอดภัยที่สุด

                เหมือนกับที่ “วิษณุ” เคยระบุเอาไว้แม้จะมั่นใจว่า 60 วันดังกล่าวไม่รวมอยู่ใน 150 วัน แต่เพื่อปลอดภัยที่สุด กกต.ควรจะประกาศให้ทันภายในกรอบดังกล่าว

                “ถ้าประกาศรับรองผลภายใน 9 พ.ค.62 ให้เสร็จเรียบร้อยมันก็จบเรื่อง แต่หากวันเลือกตั้งขยับออกไปจนใกล้ครบกำหนด 150 วัน ก็อาจจะเหลือวันให้ กกต.รับรองผลน้อยในกรณีที่ยึดวันที่ 9 พ.ค.62 ซึ่ง กกต.อาจบริหารจัดการได้ก็ได้ ดังนั้นวิธีที่จะปลอดภัยที่สุดคือ กกต.ประกาศรับรองผลได้ภายในวันที่ 9 พ.ค.62"

                แม้จะเป็นเวลาที่กระชั้นชิด แต่การประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค. อย่างน้อยก็เป็นการ “เซฟตัวเอง” ของ กกต.เอาไว้ด้วย

                ยกเว้นมีใครตั้งใจเดินไปแบบ “คลุมเครือ” แบบนี้ เพื่ออะไรบางอย่าง.

 

                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"