หุ้นสัมปทานทำพิษ 3 รมต.-1 ผู้ช่วยรมต. รอดยาก!?


เพิ่มเพื่อน    

หากตีความตามลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ใน หมวด  9 เรื่อง การขัดกันแห่งผลประโยชน์ บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา  184 วงเล็บ (2)บัญญัติห้ามไม่ให้ ส.ส.และสว.  ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ  หน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  หรือรัฐวิสาหกิจ  หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ  หน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะ เป็นการผูกขาดตัดตอน  หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็น คู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว  ทั้งนี้  ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ซึ่งกรณีดังกล่าว เมื่อไปดูรธน.อีกมาตราที่เชื่อมโยงกันคือมาตรา  186 บัญญัติชัดเจนว่า ให้นําความในมาตรา  184ข้างต้น  มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม ซึ่งแม้มีข้อยกเว้นไว้หลายเรื่องในมาตราดังกล่าว แต่ไม่มีการเขียนล้อเอาไว้ เพื่อไม่ให้รมต.ถือครองหุ้นสัมปทาน

ดังนั้น หากรัฐมนตรีมีหุ้นสัมปทานไว้ในครอบครอง ก็จะไปเข้าข่ายต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามรธน.มาตรา 170 ที่บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ในวงเล็บ  (5) กระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา186หรือมาตรา187ที่ก็คือไปถือครองหุ้นสัมปทาน

ประเด็นสำคัญคือ รัฐธรรมนูญปี 60  ที่เป็นรธน.ฉบับปัจจุบัน รวมถึง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี  2553 ซึ่งตุลาการศาลรธน.ปัจจุบันหลายคน ก็อยู่ร่วมตอนเขียนคำวินิจฉัย ได้ตีความกรณีรัฐมนตรี-ส.ส.-สว.ถือหุ้นสัมปทานไว้ชัดเจน ที่สรุปได้ว่า  ทั้งรธน.และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ห้ามรัฐมนตรี-ส.ส.-สว. มีหุ้นสัมปทาน แต่ห้ามไว้ว่า หากเข้ารับตำแหน่งเช่น เป็นรัฐมนตรี ต้องไม่ถือครองหุ้นไว้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือห้ามทุกกรณี พูดง่ายๆ หากมีไว้ ก็ต้องขายหมด จะเอาไปฝากไว้กับภรรยาที่เป็นคู่สมรส  ก็ไม่ได้ อันเป็นการเขียนรธน.ที่ก็ชัดเจนอยู่แล้วคือเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะรมต.อยู่ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการออกมติครม.หรือออกฎหมาย ทำโครงการที่อาจทำให้บริษัทที่มีสัมปทานกับรัฐแม้จะเป็นบริษัทกึ่งๆ รัฐวิสาหกิจอย่างบริษัทลูกของ ปตท.ก็ตาม ได้ประโยชน์ ได้โครงการ จนทำให้หุ้นขึ้น แล้วรัฐมนตรี-คู่สมรส คนในครอบครัวก็ได้ประโยชน์จากหุ้นที่เพิ่มขึ้น

แต่กรณีของส.ส.-สว. คำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่เป็นบรรทัดฐาน มีดีกรีความเข้มข้นน้อยลงมาหน่อย คือ ให้ส.ส.-สว.หากมีหุ้นมาก่อนจะมาเป็นส.ส.-สว. ยังให้ถือไว้ได้ แต่ห้ามซื้อเพิ่ม ห้ามครอบครองเพิ่ม หลังเข้ารับตำแหน่งส.ส.-สว. แต่ของรมต. นั้น ห้ามถือไว้เลยแม้แต่หุ้นเดียว ต้องขายทิ้งหมด

ดังนั้น หากดูตามหน้าเสื่อ การสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญของ   3.รมต. คือ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ , นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และอีกหนึ่งอดีตรมต. ที่ปัจจุบันเป็น  กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ยุติธรรม คือ  ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ จึงลุ้นหนักไม่ใช่น้อย มีโอกาสสูงที่อาจถูกศาลรธน.ชี้ว่ามีคุณสมบัติขัดรธน.

เพราะบางคน เช่น ไพรินทร์ ชูโชติถาวรก็เข้ามาเป็นรัฐมนตรี หลัง รธน.ประกาศใช้  6 เม.ย. 60 จนไปแสดงบัญชีทรัพย์สินกับป.ป.ช.และถูก เรืองไกร เรืองกิจวัฒนะ นำไปร้องต่อกกต. นอกเสียจาก ฝ่ายทนายความของ ทั้งสี่คน ต้องไปสู้คดีในประเด็นต่างๆ เช่น หุ้นที่ถืออยู่  ไม่เคยรับสัมปทานจากรัฐ แต่ดูแล้ว ก็คงยาก เพราะบริษัทเหล่านี้ ตรวจสอบได้ง่ายว่ามีสัญญาสัมปทานจากรัฐ จริงหรือไม่ ซึ่งแค่เพียงหนึ่งสัญญา ก็ถือว่าเข้าข่ายแล้ว

ส่วนหากว่า ทั้งสี่คน ไม่รอดในศาลรธน.จะเป็นอย่างไร ก็พบว่ารธน.ปี  60 เขียนต่างจากรธน.ปี50  คือต่อให้ลาออกจากตำแหน่งรมต.ก่อน ศาลรธน. ตัดสินก็ไม่มีผล และสุดท้าย หากไม่รอด ก็ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นรมต.ภายในสองปีนับแต่ศาลรธน.ชี้ขาด แต่ไม่ห้าม หากจะมีตำแหน่งในพรรคการเมืองเช่น รองหัวหน้าพรรค

 ด้วยเหตุนี้ หาก สุวิทย์ เมษินทรีย์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่ลงส.ส.ไม่ได้ เพราะขาดคุณสมบัติ หากหลังเลือกตั้ง พลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล ก็อดเป็นรมต. อยู่ดี 

ท่ามกลางข้อสงสัยกันว่า แล้วหน่วยงานอย่าง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่เป็นด่านแรกในการตรวจสอบ คุณสมบัติ ให้คำแนะนำบุคคลที่จะมาเป็นรมต. ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ต้องทำอย่างไรไมให้ขัดรธน. ไม่ได้ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ  เรื่องพวกนี้ ได้อย่างไร ????


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"