เทือกเขา “อันนะปุรณะ” ยามเช้าจากหน้าต่างห้องพักในย่านเลคไซด์ เมืองโปขรา ประเทศเนปาล
ลุมพินีวัน ที่ตั้งของวิหารมายาเทวี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า อยู่ห่างไปจากโรงแรมที่พักของผมแค่ 22 กิโลเมตร แต่ทราบว่าใช้เวลาเดินทางมากกว่า 1 ชั่วโมง หากไปกราบเสาอโศกและรอยพระบาทในวันนี้ก็มีทางเลือกให้เดินทางไปยังเมืองโปขราด้วยรถเที่ยวกลางคืน-ถึงเช้า หรือไม่ก็ค้างคืนในย่านลุมพินีบาซาร์แล้วจึงเดินทางด้วยบัสเที่ยวกลางวันของพรุ่งนี้ แต่คำนวณเวลาที่เหลือซึ่งต้องกลับไปขึ้นเครื่องบินที่นครโกลกาตา ประเทศอินเดียกลับเมืองไทยในอีกห้า-หกวันนับจากนี้แล้วรู้สึกว่าไม่เป็นผลดีทั้งสองทาง เก็บลุมพินีวันไว้ตอนขากลับจากโปขราดีกว่า
เช้านี้หลังจากที่กุนเธอร์-มังสวิรัติชาวเยอรมันวัย 65 ปีกลายเป็นอดีตเพื่อนร่วมทางไปแล้ว ผมก็เริงร่ามีชีวิตชีวาเหมือนวิหคยามเช้า ปล่อยเวลาให้เลื่อนไหลไปโดยไม่รู้สึกกดดัน ออกไปเดินเล่นในละแวกใกล้ๆ โรงแรมหมายจะหามื้อเช้าแต่หาไม่เจอ ย่านนี้ไม่ใช่ย่านนักท่องเที่ยว จึงกลับมาสั่งรูมเซอร์วิส และส่งข้อความสอบถามข้อมูลเรื่องที่พักในเมืองโปขรากับเพื่อนชาวญี่ปุ่นผู้เคยคะยั้นคะยอว่า “หากข้ามมาเนปาลแล้วคุณต้องไปโปขราให้ได้ คุณไปนั่งมองเทือกเขาหิมาลัยจากที่นั่นแล้วตายตาหลับได้เลย” เพื่อนพูดมาอย่างนี้จะไม่ไปได้อย่างไร
กว่าจะตอบโต้ข้อความกันเสร็จสรรพและเช็กเอาต์จากโรงแรมได้ก็ปาเข้าไป 10 โมง (ทั้งที่ตื่นนอนตั้งแต่ 7 โมงเช้า) ตอนแรกผมคิดว่าจะไปแลกเงินรูปีเนปาลที่โปขราเลยทีเดียว แต่หนุ่มรีเซ็พชั่นคนเดียวกับเมื่อคืน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเขาคือเจ้าของหรือหุ้นส่วนโรงแรมขนาดเล็กแห่งนี้แนะนำว่าให้แลกเสียก่อน รถบัสไปโปขราอาจจะรับเงินรูปีอินเดีย แต่ไปถึงโน่นตอนค่ำๆ แล้วอาจมีปัญหา แท็กซี่และร้านค้าอาจไม่รับ หรือรับแต่ไม่มีเงินทอนให้
โรงแรมที่พักหลายแห่งในอินเดียและเนปาลมักบริการรับแลกเงิน ส่วนจะถูกกฎหมายหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ผมให้รูปีอินเดียไป 4,000 หนุ่มรีเซ็พชั่นส่งกลับมาเป็นรูปีเนปาล 6,400 ส่วนเงินไทย 1 บาทนั้นแลกเงินเนปาลได้ 3.5 รูปี ตามอัตราแลกเปลี่ยนบนกระดานซื้อขายสกุลเงิน แต่ในความเป็นจริงเหลือประมาณบาทละ 3.3 รูปีหรือน้อยกว่า
จากโรงแรมผมเดินไปยังถนนใหญ่แล้วข้ามไปอีกฝั่ง สถานีขนส่งไภรวา (Bhairahawa Bus Park) ดูเงียบเหงา หนุ่มเชียร์แขกหน้าสถานีถามว่าไปไหน พอตอบว่าไปโปขราเขาก็ชี้ให้ไปคุยกับคนในช่องขายตั๋วช่องหนึ่ง ได้ความว่ารถบัสนักท่องเที่ยว (Tourist Bus) ออกไปตั้งแต่ 7 โมงแล้ว หลังจากนั้นก็จะเป็นรถท้องถิ่น (Local Bus) ออกชั่วโมงละคัน ตอนนี้เหลือเที่ยวเวลา 11.35 น. เป็นเที่ยวสุดท้าย
“คุณจะไปไนท์บัสก็ได้ ออก 1 ทุ่มครึ่ง, 2 ทุ่มครึ่ง และ 2 ทุ่ม 45” คนขายตั๋วเสนอทางเลือก
ผมเกิดความลังเลว่าวันนี้ควรจะไปลุมพินีวันเสียก่อนดีไหม ทันได้นั้นอาการปวดท้องหนักเข้าจู่โจม ไม่ใช่อาการปวดหลังกินข้าวเช้าที่เกิดขึ้นได้ตามปกติเพราะกินไปตั้งนานแล้ว ตัดสินใจจะเดินไปเข้าห้องน้ำที่โรงแรมแล้วเปิดห้องพักต่ออีกคืน วันนี้ไปลุมพินีวัน พรุ่งนี้ค่อยไปโปขรา
ภายในรถโดยสารท้องถิ่น เส้นทางไภรวา-โปขรา
แต่หนุ่มเชียร์แขกคนเดิมเข้ามาขวางไว้ บอกว่าให้รอสักครู่ จะมีคนมาให้คำตอบเรื่องรถได้ดีกว่าคนขายตั๋วเมื่อกี๊ อาจจะยังมีรถนักท่องเที่ยวตกค้าง ผมขอไปเข้าห้องน้ำที่โรงแรม เขาชี้ไปยังห้องน้ำของสถานีขนส่งที่อยู่แยกออกไปทางด้านหลังของตัวอาคารสถานี เหมือนเป็นคำสั่งที่ต้องปฏิบัติตาม ผมเดินตรงไปแต่โดยดี
ห้องน้ำสกปรกแต่สกปรกน้อยกว่าห้องน้ำสาธารณะทั่วไปของอินเดีย และช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้น้อยคนจะคำนึงถึงสุขภาวะ ผมดำเนินกิจธุระด้วยจิตใจที่เข้มแข็งและคงไม่สามารถให้รายละเอียดกับท่านผู้อ่านได้ ออกมาจ่ายเงินให้กับลุงคนเฝ้าส้วมแขนด้วนหนึ่งข้าง ราคา10 รูปีเนปาล กระเป๋าใบเล็กที่เอาเข้าไปด้วยเขลอะฝุ่นตรงจากที่วางบนขอบหน้าต่าง ส่วนกระเป๋าเสื้อผ้ายังสะอาดดีเพราะฝากลุงเอาไว้
เมื่อกลับไปยังห้องขายตั๋ว บุรุษคนใหม่รูปร่างอ้วนพีก็ให้คำตอบเหมือนเดิมคือไม่มีรถนักท่องเที่ยวเหลืออีกแล้ว และไม่ทันจะตอบว่าไปหรือไม่ไปกับรถบัสท้องถิ่นแกก็เขียนตั๋วให้เรียบร้อย ราคา 620 รูปีเนปาล หรือประมาณ 200 บาท แกตอบคำถามผมเรื่องเวลาไปถึงโปขราว่า “2ทุ่มนิดๆ” ระยะทางไม่ถึง 200 กิโลเมตร เดินทาง 8 ชั่วโมงกว่า และในทางปฏิบัติที่ผมจะเล่าต่อไปนั้น บัสของเราใช้เวลาเดินทางถึงเกือบ 10ชั่วโมง
เนื่องจากไม่ทำการบ้านให้ดีจึงไม่รู้ว่ารถบัสนักท่องเที่ยวนั้นส่วนมากจะออกจากย่านลุมพินีบาซาร์ ใกล้ๆ พุทธสังเวชนียสถาน ซึ่งบัสเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องเดินทางผ่านสถานีขนส่งแห่งนี้ แต่นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เมื่อคืนนี้ผมมาถึงด่านชายแดนอินเดีย-เนปาลเวลา 3 ทุ่ม จะให้เดินทางต่อไปยังย่านลุมพินีบาซาร์คงเกือบเที่ยงคืน ดังนั้นต้องขอเตือนท่านที่จะข้ามชายแดนควรกะเวลาให้มาถึงตั้งแต่ตอนกลางวัน และจองที่พักล่วงหน้าจากเว็บไซต์โดยเข้าไปเลือกที่พักในย่านลุมพินีบาซาร์ มีอยู่มากมายและราคาถูกกว่าแถวนี้ (ห่างจากด่านชายแดนราว 3 กิโลเมตร)
รถบัสท้องถิ่นหน้าตากลางเก่ากลางใหม่ขนาดกะทัดรัดเข้าเทียบจอดช้าไปราว 10 นาที และออกตอนเที่ยงตรง ผมเอากระเป๋าเสื้อผ้าขึ้นหลังคา นำกระเป่าใบเล็กขึ้นรถ เดินไปยังด้านหลัง มีฝรั่งชาย-หญิงคู่หนึ่งวางกระเป๋าใบใหญ่ 2 ใบไว้บนเก้าอี้ 2 ตัวฝั่งขวาก่อนถึงเบาะหลัง โดยที่ตัวของทั้งคู่นั่งอยู่ฝั่งซ้าย ผมจึงต้องไปนั่งเบาะแถวหลังสุดซึ่งนั่งไม่ค่อยถนัดจึงถามฝรั่งทั้งสองว่า “กระเป๋าของพวกคุณใช่ไหม ช่วยเอาไปวางบนพื้นหรือวางที่เบาะหลังหน่อย ผมจะไปนั่งตรงนั้น” คุณชายก็เอาใบหนึ่งวางลงบนพื้นตรงทางเดินและอีกใบวางบนเบาะแถวหลังสุด แล้วผมก็ไปนั่งแทนที่กระเป๋า
สภาพบ้านเรือนชาวเนปาลระหว่างเส้นทางไภรวา-โปขรา
รถออกมาได้สักพักมีสตรีสูงอายุขึ้นมา แกหาที่นั่งไม่ได้ คู่รักจากแดนศิวิไลซ์ก็ต้องเอากระเป๋าจากเบาะแถวหลังสุดมาวางบนพื้นอีกใบข้างๆ กับกระสอบข้าวสารของใครก็ไม่รู้ พวกเขาลงจากรถที่เมืองพุฒวัล (Butwal) อีกเมืองท่องเที่ยวที่กำลังมีชื่อเสียง ห่างจากสิทธัตถะนคร(Siddharthanagar) ที่เราเพิ่งจากมาแค่ยี่สิบกว่ากิโลเมตร (ส่วนลุมพินีวันนั้นต้องเลี้ยวไปทางทิศตะวันตก)
คนที่นั่งข้างผมเป็นชายหนุ่มอัธยาศัยดีมาก หน้าตาไม่เหมือนอารยันแบบอินเดียและไม่เหมือนชนเผ่า แต่ออกคล้ายๆ พม่าหรือไทย เขามากับรถคันนี้เพื่อจะไปลงที่พุฒวัลเพราะเป็นเด็กรถเที่ยวกลางคืนที่จะเดินทางจากพุฒวัลไปที่ไหนสักแห่งซึ่งผมจำไม่ได้ ภาษาอังกฤษเขาดีมากและแนะนำอะไรผมตั้งหลายอย่าง
เมื่อถึงเมืองพุฒวัล รถไม่ได้วิ่งต่อไปบนถนนไฮเวย์ Siddhartha Rajmarg ซึ่งระยะทางจะสั้นที่สุด แต่เลี้ยวขวาไปบนถนนไฮเวย์ตะวันออก-ตะวันตก เส้นนี้ระยะทางจะยาวขึ้น ไม่แน่ใจว่าทำเวลาได้ดีกว่าหรือไม่ แต่ผ่านเมืองต่างๆ ที่ทำกำไรให้กับบริษัทรถมากกว่าอย่างแน่นอน แม้ว่าผู้โดยสารต่างชาติอย่างผมจะอ่วมอรทัยทางร่างกายไปพอสมควร
ถนนช่วงแรกเป็นทางกำลังก่อสร้าง รถโยกโคลงเคลงและฝุ่นคลุ้งเข้ามาในตัวรถจนต้องเอาหน้ากากอนามัยขึ้นมาสวม ช่วงที่ผ่านเมืองพุฒวัลไปแล้วยิ่งแย่กว่า ถนนแคบ หากวัดให้ดีจะเหลือไม่ถึง 2 เลนด้วยซ้ำ ยางมะตอยก็หลุดออกกลายเป็นหลุมมหาภัยและยังคงไว้ซึ่งฝุ่นและอาการโคลงเคลง ตามโค้งที่มีจำนวนนับไม่ถ้วนรถฝั่งของเราซึ่งเป็นฝั่งขึ้นเขาติดยาว ที่สวนลงมาส่วนมากก็คือรถบรรทุกอินเดียที่กลับจากขนสินค้าไปส่งที่โปขรา มอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ Royal Enfield ที่ปัจจุบันผลิตในอินเดีย และบรรดามอเตอร์ไซค์โชคอัพยาวๆ อีกหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นYamaha, Honda และโดยเฉพาะ Bajaj ของอินเดีย
มีอยู่โค้งหนึ่ง รถมอเตอร์ไซค์ถูกเผาเหลือแต่โครงถูกเสียบอยู่บนปลายของเสาไม้ สงสัยว่าจะเป็นอนุสรณ์การต่อสู้ด้วยความรุนแรงของกลุ่มกบฏเหมาอิสต์ที่ทุกวันนี้ได้เป็นแกนนำรัฐบาลของเนปาลเรียบร้อยโรงเรียนคอมมิวนิสต์
ระหว่างทางตั้งแต่เริ่มต้น เจ้าหนุ่มเด็กรถเป็นผู้ทำหน้าที่ดีเจคอยเปิดเพลงออกจอทีวีเป็นมิวสิควิดีโอ เขาเปิดเสียงค่อนข้างดัง เพลงจะไม่รันไปยังเพลงถัดไปในลิสต์ ต้องพึ่งการกดปุ่มจากเขา และส่วนมากแล้วเขาก็มัวแต่ยุ่ง ผู้โดยสารจึงได้ฟังแต่ละเพลงพร้อมดูเอ็มวีซ้ำเพลงละ 2เที่ยวเป็นอย่างน้อย เพลงเพราะดีอยู่เหมือนกันแต่ถ้าต้องฟังซ้ำอยู่ตลอดเวลาก็จะกลายเป็นเพลงน่ารำคาญไปอย่างน่าเสียดาย
ศาลาพักใจของชาวเนปาลตอนใต้
หลังจากที่เด็กรถเก่งภาษาอังกฤษลงไป คนที่นั่งข้างผมตอนนี้กลายเป็นชายชาวเนปาลหน้าตาละม้าย “ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น” แชมป์โลกขวัญใจคนใหม่ของชาวไทย เขาเคี้ยวผงหมากและเมื่อได้เวลาเขาก็เปิดกระจก (ที่ผมปิดไว้เพราะฝุ่นเข้ามา) ยื่นหน้ามาใกล้ผมที่นั่งติดหน้าต่างแล้วบ้วนน้ำหมากอย่างชำนิชำนาญไม่มีกระเซ็นกระสายไหลย้อนเข้ามาในรถ แต่จะโดนรถคันหลังหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ จากนั้นก็หยิบขวดน้ำขึ้นมาจิบดื่มและมีน้ำใจยื่นให้ผมแต่ผมมีอยู่แล้วจึงได้แต่ขอบคุณ ตอนที่ผมหยิบขนมโอริโอ้ขึ้นมากินแล้วยื่นให้เขาบ้าง เขาก็รับไปกินชิ้นหนึ่ง ผมยื่นให้อีกหลังจากนั้นก็ไม่รับแล้ว นี่คือการผูกมิตรเล็กๆ ระหว่างคนที่พูดกันไม่รู้เรื่องแม้แต่คำเดียว
ตอนกลางวันที่รถบัสไม่ได้จอดแวะพักเพื่อรับประทานอาหารแต่จอดตามเขตเมืองเล็กๆ ก็มีคนขึ้นมาขายเนื้อมะพร้าวแก่ตัดเป็นชิ้น 3 เหลี่ยมเรียงซ้อนกันบนถาดพูนเป็นรูปเจดีย์ นอกจากนี้ก็มีแตงกวาลูกใหญ่ยักษ์ผ่าได้ลูกละ 4 ซีกจิ้มเกลือกิน ผมไม่ได้ซื้อมาลองเพราะขนมที่ซื้อมาจากสถานีขนส่งไภรวาเหลืออยู่อีกเยอะ
ตามเมืองเล็กๆ ที่รถบัสผ่าน ไม่น้อยเป็นบ้านเรือนลักษณะตึกแถวสาม-สี่ชั้น ดูคงทนแข็งแรง ตามย่านรานค้าเต็มไปด้วยป้ายโฆษณาทูบอร์ก เบียร์สัญชาติเดนมาร์ก เรียกได้ว่าที่ไหนเป็นเขตที่มีร้านค้าที่นั่นต้องมีป้ายของเบียร์ยี่ห้อนี้ ซึ่งผมชิมหลายครั้งแล้วก็ต้องขออภัยวิจารณ์ว่ารสชาติจืดไปนิด แต่หลายคนชอบที่นุ่มๆ หอมๆ ดื่มง่าย
รถบัสหยุดให้เข้าห้องน้ำธรรมชาติครั้งหนึ่ง ผมลงตามผู้โดยสารคนอื่นๆ ไป มีต้นไม้สูงใหญ่ขึ้นอยู่รกครึ้มทั้งสองฝั่งถนน เห็นว่าฝั่งซ้ายมีคนไปยืนปลดทุกข์อยู่เยอะแล้ว จึงข้ามถนนไปฝั่งขวา ไม่ทันจะเสร็จธุระก็เห็นผู้หญิงลุกขึ้นทีละคนสองคนออกมาจากพุ่มไม้ ผมตกใจทำธุระได้เพียงครึ่งเดียวก็เก็บอีกครึ่งที่เหลือข้ามฝั่งกลับไป
ก็น่าจะบอกกันก่อน ฝั่งซ้ายห้องน้ำชาย ฝั่งขวาห้องน้ำหญิง
ถนนในช่วงครึ่งหลังที่ค่อยๆ ไต่ขึ้นเขาดีขึ้นมาก ทิวทัศน์ก็น่าชม ช่วงปลายๆ รถวิ่งชิดไหล่เขา เบื้องล่างของอีกฝั่งคือโตรกธารไหลเชี่ยว หรือไม่ก็เป็นหุบเหวเวิ้งว้างจนไปจรดกับเขาอีกลูก แลดูงดงาม ยิ่งใหญ่ และน่ากลัวไปพร้อมกัน แต่เสียงหัวเราะของผู้โดยสารที่ดูหนังรักปนตลกจากดีวีดีของรถก็ช่วยลดความหวาดเสียวลงไปได้บ้าง
ฟ้ามืดได้สักพักแล้ว รถจอดแวะพักให้เข้าห้องน้ำ (ปกติ) และรับประทานอาหารแบบง่ายๆ ที่จุดแวะพักแห่งหนึ่ง อากาศเย็นลงมากจนผมจามออกมาหลายครั้ง รีบวิ่งขึ้นไปหยิบเสื้อแจ็กเก็ตมาสวม รถจอด 15 นาทีก็ไปต่อ กระทั่งเวลาราว 3 ทุ่มครึ่งรถจอดสนิทลงที่สถานีขนส่งแห่งเก่า(Old Bus Park) ไม่ใช่จุดที่ผมคาดไว้
ลักษณะทัวริสต์บัสที่สวนมาจากอีกฝั่ง
โชเฟอร์แท็กซี่หลายคนยืนรออยู่ตรงบันไดรถบัส ผมเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงคนเดียว เจ้าหนึ่งเสนอราคา 500 รูปี ผมบอกว่า “ได้ยินมาว่า 300 รูปีเท่านั้นแหละ” พวกเขาพากันหัวเราะ โชเฟอร์หน้าตาออกไปทางอารยันตอบตกลง แต่ระหว่างที่เดินไปขึ้นรถของเขาที่จอดปะปนอยู่กับแท็กซี่คันอื่นๆ ล้วนยี่ห้อ Suzuki และ Tata เขาพูดว่า “ไนท์ไทม์ ขอเป็น 400 รูปีละกันนะท่าน” ผมไม่ว่าอะไร
ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางแค่ครู่เดียวเราก็มาถึงย่านที่เรียกว่า Damside หรือ “ฝั่งเขื่อน” ซึ่งเพื่อนญี่ปุ่นของผมได้แนะนำว่าหากต้องการเห็นเทือกเขาหิมาลัยให้พัก Damside หากต้องการปาร์ตี้ดื่มกินให้พักย่าน Lakeside หรือ “ฝั่งทะเลสาบ”
ผมเดินเข้าไปในเกสต์เฮาส์ชื่อ Lumbini Resort ลุงเจ้าของหน้าตาออกไปทางญี่ปุ่นยิ้มรับ ราคาห้องพักแบบไม่มีแอร์คืนละ 1,000 รูปี อุณหภูมิตอนนี้ 20 องศาเท่านั้น เนื่องจากโปขราสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,400 เมตร
หาอาหารค่ำกินเรียบร้อยแล้วผมก็กลับที่พัก หลับลงได้โดยง่ายเพราะความเพลีย ตื่นเช้าขึ้นมาเปิดหน้าต่างออกมาเจอสิ่งที่เพื่อนญี่ปุ่นอธิบายว่า “นั่งมองแล้วตายตาหลับได้เลย”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |