เมื่อวานผมเขียนถึงคำประกาศล่าสุดของจีนว่าจะลดจำนวนคนยากจนลงอีก 10 ล้านคนในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วยการ "สอนให้จับปลา ไม่แจกปลาเฉยๆ"
เป็นข่าวที่น่าสนใจมากสำหรับคนไทยที่ได้ยินได้ฟังคำสัญญาของนักการเมืองที่กำลังหาเสียงขณะนี้ ว่าจะแก้ปัญหาความยากไร้ของคนไทยอย่างไร
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศเอาไว้ว่า อีก 2 ปีข้างหน้าจะยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชนบทให้พ้นจากขีดความยากจน 10 ล้านคน
เขาทำอย่างไร? นอกจากจะสร้างบ้านใหม่ให้อยู่แล้ว รัฐบาลปักกิ่งจะใช้เทคโนโลยีของบริษัทไอทียักษ์ของจีน เช่น Alibaba, Tencent, JD.com และอื่นๆ เข้าไปช่วยคนชนบทให้สามารถขายสินค้าการเกษตรและอื่นๆ ผ่านระบบออนไลน์
สีจิ้นผิงกำกับให้เศรษฐีจีนลงมาช่วยคนจนอย่างเป็นรูปธรรม
บริษัทยักษ์เหล่านี้เมื่อขายของผ่านออนไลน์ได้มหาศาล ก็ต้องมีระบบ logistics อันหมายถึงการส่งของตามคำสั่งไปถึงบ้าน
ด้วยระบบการส่งของทั่วประเทศนี่แหละที่ทำให้มีการสร้างงานระดับท้องถิ่นอย่างมโหฬาร
ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยให้ชาวไร่ชาวนาในถิ่นกันดารเข้าถึงตลาดข้างนอกได้ผ่าน platforms ของเหล่าบรรดาบริษัทยักษ์เหล่านี้อย่างกว้างขวางได้เช่นกัน
เหมือนที่เมืองไทยเราเคยพูดถึงการใช้เว็บไซต์ช่วยคนต่างจังหวัดขายสินค้า OTOP เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้คนชนบท
แต่ในภาคปฏิบัติของประเทศไทยยังไม่อาจจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เพราะขาดการประสานงาน ขาดความต่อเนื่อง และไร้การเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคอย่างจริงจัง
ผลงานการแก้ปัญหาความยากจนของจีนมีสถิติที่น่าประทับใจ ธนาคารโลกยังยอมรับว่าตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิงประกาศนโยบายเปิดประเทศเมื่อ 40 ปีก่อน จีนสามารถแก้ปัญหาความยากจนในชนบทได้อย่างมีนัยสำคัญ
ตัวเลขทางการบอกว่าระหว่างปี 1981 ถึง 2008 จำนวนสัดส่วนประชากรจีนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1.25 เหรียญสหรัฐฯ (หรือ 40 บาทต่อวัน) ได้ร่วงลงจาก 85% มาอยู่ที่ 13.1%
หากคิดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็ประเมินกันว่าคนจีนประมาณ 600 ล้านคนได้ขยับตัวเองจากคนที่มีรายได้ย่ำแย่ดีขึ้นตามลำดับ
ไม่ได้แปลว่า "รวย" ขึ้น เพียงแค่ว่า "หายจนดักดาน" มากกว่า
แต่ขณะเดียวกัน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ห่างขึ้นเช่นกัน เพราะอัตราเติบโตเศรษฐกิจหรือ GDP ของจีนที่วิ่งขึ้นไปปีละ 9-10% นั้นไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์เท่ากันระหว่างคนที่อยู่ในเขตเมืองและชนบท
ขณะเดียวกันพอเศรษฐกิจพองโตก็ตามมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จนกลายเป็นมะเร็งร้ายแห่งมลพิษที่ทำลายคุณภาพชีวิตของคนจีนไม่น้อยเช่นกัน
ความไม่เท่าเทียมทางด้านเศรษฐกิจก็นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโอกาสที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างคนจีนในเมืองและต่างจังหวัดว่าด้วยบริการการศึกษาและสาธารณสุข
นำไปสู่ความขัดแย้งอันเกิดจากความแตกต่างทางสถานภาพและโอกาสของคนจีน
นั่นเป็นที่มาของแนวทางของสีจิ้นผิง ที่ต้องการตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่เขาจะต้องยอมให้อัตราเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในภาพใหญ่ลดตัวลงบ้าง เพื่อเน้นคุณภาพและความเท่าเทียมในสังคม
งบประมาณที่เคยเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเมืองไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ทางรถไฟ หรือสนามบิน ก็เริ่มหันมาทุ่มเรื่องการเปิดโอกาสให้คนยากไร้ในชนบท
อย่าได้แปลกใจถ้าหากจีสิ้นผิงและผู้นำจีนคนอื่นๆ เห็นภาพของการประท้วงอย่างรุนแรงของชนชั้นกลางและล่างในฝรั่งเศส ที่มีภาพการเผาบ้านเผาเมืองอย่างรุนแรงแล้ว จะไม่คิดหาทางป้องกันเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ในจีน
วิเคราะห์ได้ไม่ยากว่าคนจีนที่มีความรู้สึกไม่พอใจกับความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนย่อมจะต้องมีไม่น้อย ยิ่งการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมมากขึ้น
จีนเขาแก้ปัญหาความยากจนอย่างไรจึงเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศไทยเราในหลายๆ มิติ
หลายคนอาจอ้างว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้นำเขามีอำนาจเบ็ดเสร็จจึงสั่งการต่างๆ ได้เด็ดขาด แต่นักการเมืองที่ได้ฉันทานุมัติจากประชาชนในระบอบเลือกตั้งอย่างของไทยก็ย่อมไม่มีข้ออ้างว่าคิดไม่เป็นทำไม่ได้เพราะ "ไม่มีอำนาจเด็ดขาด"
เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้นำทุกระบบจะต้องแก้ปัญหาความยากจน หาไม่แล้วก็อยู่ในอำนาจไม่ได้เช่นกัน
ประวัติศาสตร์ยืนยันแล้วว่า อำนาจเด็ดขาดอย่างเดียวไม่ได้รับรองเสถียรภาพแห่งอำนาจแต่อย่างใด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |