ให้ปชช.ส่งข้อมูล ‘17ราย’ชิง‘ก.ต.’ ‘27ก.พ.’รู้ใครได้


เพิ่มเพื่อน    

 ศาลเดินหน้าหา 2 ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ตีปี๊บให้ใครมีข้อมูล 17 ผู้สมัครส่งมาได้ถึง 16 ม.ค. วางปฏิทินคัดเลือก 8 ก.พ. ส่งบัตรเลือกให้ผู้พิพากษาทั่วประเทศตัดสินใจก่อนส่งกลับ 26 ก.พ. วันรุ่งขึ้นนับคะแนน มั่นใจศาลยุคดิจิทัลเป็นไปตามเป้าปี 2563 แน่ 

เมื่อวันศุกร์ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการคัดเลือก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในส่วนของบุคคลภายนอก ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 จำนวน 2 ราย ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2561-2 ม.ค.2562 ว่าสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมขอเชิญชวนประชาชนร่วมให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือความเหมาะสมในการดำรงตำเเหน่ง ก.ต.ของผู้สมัครเข้ารับการรับเลือกเป็น ก.ต.เพื่อให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครกลั่นกรองคุณสมบัติเเละความเหมาะสมของผู้สมัคร ก่อนรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติไปยังคณะกรรมการดำเนินการเลือก ก.ต.ต่อไป
“ผู้ประสงค์จะให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง ก.ต.ของผู้สมัคร ให้แจ้งข้อคิดเห็นพร้อมระบุชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ แล้วจะส่งเอกสารดังกล่าวไปยังประธานคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร กทม. 10900 หรือโทรสารหมายเลข 0-2541-2770 หรือ E-mail:[email protected] ภายในวันที่ 16 ม.ค.”
นายสราวุธกล่าวขั้นตอนต่อไปว่า หลังตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จสิ้น จากนั้นสำนักงานศาลยุติธรรมจะส่งบัตรเลือก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิให้ผู้ที่มีสิทธิเลือก ได้แก่ ผู้พิพากษาและผู้พิพากษาอาวุโสทั่วประเทศ 4,633 คน ในวันที่ 8 ก.พ. และให้ผู้มีสิทธิเลือกต้องส่งบัตรกลับมาสำนักงานศาลยุติธรรมในวันที่ 26 ก.พ. ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเลือก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิจะนับคะแนนในวันที่ 27 ก.พ. โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้พิพากษาทั่วประเทศมีสิทธิเลือก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอกด้วยตนเอง โดยการเลือก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอกนั้น จะห้ามหาเสียงเช่นเดียวกับการเลือก ก.ต.ในทุกชั้นศาล โดยสำนักงานศาลยุติธรรมจะเผยแพร่ประวัติและวิสัยทัศน์ของผู้สมัครให้ผู้มีสิทธิเลือกได้รับทราบทางเว็บไซต์ศาลยุติธรรมต่อไป
    ทั้งนี้ นายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ยังได้ออกประกาศคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2562 เรื่องการให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง ก.ต. ตามมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (3) โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า อาจจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานมาให้เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบ เรียกผู้สมัครหรือผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือประกาศรายชื่อผู้สมัครเพื่อให้บุคคลทั่วไปให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง ก.ต. หรือวิธีการอื่นใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ แล้วรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติไปยังคณะกรรมการดำเนินการเลือก ก.ต.
สำหรับรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการรับเลือกเป็น ก.ต.บุคคลภายนอกมีทั้งสิ้น 17 คน คือ 1.นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) 2.นายวรสิทธิ์ โรจนพานิช อดีต ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ 3.นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ นักวิชาการอิสระ สาขารัฐศาสตร์ 4.พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 5.นายเผด็จ วงษ์เวียงจันทร์ เจ้าของกิจการ บจก. พี ดี อินเวนชั่น 6.นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ 7.ดร.สุรพงศ์ นิ่มกุลรัตน์ กรรมการสภาสถาบันอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.นายดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย 9.นายกฤษณ์ เพ็ชรศิริ วิศวกรอิสระ 10.นายเมธี ครองแก้ว อดีต ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ 11.นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บจก.สยามพาร์ค บางกอก 12.นางทรงพร โกมลสุรเดช อดีตปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 13.ผศ.ดร.ธนาชัย สุขวณิช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 14.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการ ป.ป.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิ 15.นายลิขิต ลีแสวงสุข กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 16.นางสุวรรณี สิชฌรังษี ข้าราชการบำนาญ และ 17.นายสวัสดิ์ ใจเย็น อดีตพนักงาน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
สำหรับ ก.ต.นั้น เป็นองค์กรทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม มีมีหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนชั้น มีอำนาจให้คุณให้โทษ ผู้พิพากษาที่กระทำความผิดรวมถึงคุ้มครองความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดย ก.ต.ทั้งคณะจะมีทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต.โดยตำแหน่ง มี ก.ต.ชั้นศาลฎีกา 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์ 4 คน และศาลชั้นต้น 2 คน และ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากบุคคลภายนอกอีก 2 คน มีวาระ 2 ปี และเป็นติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ
วันเดียวกัน นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า หลังสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลที่มีนายสราวุธเป็นประธานแล้ว ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ครั้งแรกแล้ว โดยผลประชุมเชื่อว่าศาลยุติธรรมจะบรรลุเป้าหมายเป็น D-Court ได้ในปี 2563 หรือ ค.ศ.2020) ได้ โดยเมื่อเป้าหมายและนโยบายชัดเจนแล้ว สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไปโดยสรุป คือ 1.นอกจากการเตรียมเรื่องไอทีแล้ว สิ่งที่สำคัญคือเตรียมคนในองค์กรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 2.จัดทำ Enterprise Architecture (EA) คือ การบูรณาการไอทีเข้ากับ Business เพื่อวางระบบ IT กับการทำงานของศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องต่อการทำงาน 
3.กำหนด Expected Digital Transformation (EDO) หรือความคาดหวังในการปรับเปลี่ยนสู่ D-Court คืออะไร ต้องส่งเสริมให้บุคลากรได้ทราบถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลง 4.ปรับเปลี่ยนสู่ D-Court ต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลด้วย ซึ่งที่ประชุมมีมติรับข้อเสนอแนะทั้งหมดไปขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมตามเป้าหมายต่อไป 
“นโยบายการขับเคลื่อนศาลยุติธรรมสู่ยุคดิจิทัลนั้น นายสราวุธมีกำหนดจะแถลงให้สื่อมวลชนทราบ พร้อมการสรุปผลงานศาลยุติธรรมช่วงรอบปีในวันที่ 18 ม.ค.นี้” นายสุริยัณห์กล่าว และว่า ถึงความคืบหน้าการเดินหน้าให้มีตำรวจศาล หรือ Court Marshal ว่าเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติรับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. ...แล้ว โดยได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"