"อิทธิพร" รับ กกต.มีมติส่งศาล รธน.ฟัน 3 รมต.-1 อดีต รมช. ถือหุ้นสัมปทานรัฐขาดคุณสมบัติ "สุวิทย์" ไม่กังวลยันใกล้ไขก๊อกเล่นการเมือง "ไพรินทร์" ยันก่อนรับตำแหน่งโอนหุ้นเข้ากองทุนหมดแล้ว "เรืองไกร" จ่อยื่นสอย "บิ๊กตู่" ต่อ ชี้เปิดเว็บ-ไอจี-เฟซบุ๊กเข้าข่ายเจ้าของสื่อขัด รธน.
สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการประชุมลับเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการไต่สวน กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบรัฐมนตรี 4 รายคือ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ ถือครองหุ้นสัมปทานของรัฐเข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติเห็นว่าการถือครองหุ้นของทั้ง 4 รัฐมนตรีเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง เห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 นั้น
เมื่อวันที่ 11 มกราคม นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยอมรับว่า กกต.ได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายสุวิทย์, นพ.ธีระเกียรติ, นายไพรินทร์ และ ม.ล.ปนัดดา สิ้นสุดลงหรือไม่จากกรณีถือหุ้นสัมปทานรัฐ เข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 170 วรรคสาม แต่ขอที่จะไม่เปิดเผยว่าเป็นความเห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอหรือไม่ และ กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์หรือเสียงข้างมาก
"ในการพิจารณา ไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นการพิจารณาไปตามเนื้อหา รายละเอียดทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งได้ตัดสินไป กกต.ก็คำนึงถึงศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุผลในคำวินิจฉัยนั้นด้วย อันไหนเป็นกรณีเหมือนกัน เราก็ต้องมองไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มองเอาไว้ กรณีไหนคล้ายกัน แต่ไม่ใช่โดยแท้ ก็จะถือว่ายังไม่เกี่ยวข้อง และอาจจะเป็นประเด็นที่เราเห็นว่า ยังไม่มีบรรทัดฐานชัดเจน ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่า ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด" นายอิทธิพรระบุ
เมื่อถามว่า กรณีนี้ข้อเท็จจริงต่างจากกรณีการถือครองหุ้นของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไปแล้วว่าไม่ผิด และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยชัดเจนใช่หรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า คงสรุปอย่างนั้นไม่ได้ แต่ละกรณีมีหลายประเด็น บางประเด็นก็เกี่ยวพัน หรือคล้ายกัน ส่วนระยะเวลาการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องตามหลักปฏิบัติโดยปกติ เมื่อผ่านเป็นมติ กกต.แล้ว ทางสำนักงาน กกต.ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวนายเรืองไกร สมาชิกพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) ได้ยื่นคำร้องขอให้กกต.ตรวจสอบเมื่อเดือน ม.ค.และ ก.พ.2561 โดยตามคำร้องระบุว่า ม.ล.ปนัดดาได้แสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ว่ามีหุ้นของบริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. กว่า 6,000 หุ้น แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่เหตุผลที่นายเรืองไกรอ้างในการยื่น กกต.ตรวจสอบย้อนหลัง เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติในลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ จะต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตามมาตรา 160 ประกอบ 187
ส่วนนายสุวิทย์ คำร้องระบุถือหุ้นในบริษัท GPSC หรือบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 9 หมื่นหุ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมบริษัทลูกของ ปตท. ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ ขณะที่นายไพรินทร์และคู่สมรสถือหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ โดยถือหุ้นใน บมจ. GPSC 5 หมื่นหุ้น, บมจ.IRPC 2.4 แสนหุ้น, บมจ.
ปตท. 5 พันหุ้น, บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล 6 หมื่นหุ้น, บมจ.ไทยออย 4 หมื่นหุ้น, บมจ.กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมมท์ 3 แสนหุ้น, บมจ.บ้านปู พาวเวอร์ หมื่นหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง 2.6 หมื่นหุ้น, สำหรับ นพ.ธีระเกียรติ ถือหุ้นสัมปทาน SCG ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 5 พันหุ้น
เมิน กกต.ฟันถือหุ้น
ทางด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ไม่กังวลกับเรื่องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่กระทบต่อการทำงานในฐานะรัฐมนตรีและงานการเมือง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้พูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ภารกิจในฐานะรัฐมนตรีนั้นใกล้เสร็จหมดแล้ว เมื่อถึงเวลาจะลาออกมาทำงานการเมืองเต็มตัว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเร็วขึ้หรือช้าลง เพราะเราดูภารกิจเป็นหลัก เช่นการจัดตั้งกระทรวงใหม่
ส่วนกรณีนี้จะทำให้ถูกโจมตีหรือไม่นั้น นายสุวิทย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่จะถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม แต่เรามีความบริสุทธิ์ใจ มีหลักฐานเตรียมพร้อมเพื่ออธิบาย ขอยืนยันว่า เมื่อถึงเวลาจะแสดงสปิริตอยู่แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง และหารือร่วมกับ 4 รัฐมนตรี แต่ใกล้เวลาแล้วที่เราจะตัดสินใจ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ เพราะเรามีแผนที่จะลาออกกันอยู่แล้ว
นายไพรินทร์เปิดเผยว่า ก่อนเข้ารับตำแหน่งตนเองได้โอนหุ้นทั้งหมดเข้าสู่กองทุนส่วนบุคคลทั้งหมดแล้ว และไม่ได้มีส่วนยุ่งเกี่ยวในการบริหารจัดการในหุ้นดังกล่าว ขณะเดียวกันได้ชี้แจงต่อ กกต.ไปแล้ว โดยยืนยันตนเองบริสุทธิ์ ส่วนจะผิดกติกาหรือไม่นั้น คงต้องรอผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การสืบสวนครั้งนี้จะไม่มีผลต่อต่อตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงเลือกตั้งแล้ว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่เล่นการเมืองอีกในรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง
นพ.ธีระเกียรติกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ผลสรุปต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี หาก กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐมนตรีทั้ง 4 คนจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เลยหรือไม่ว่า จะเป็นกรณีเดียวกับนายดอน ซึ่งท้ายสุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งให้พักงาน นายดอนก็ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ สำหรับกรณีนี้เช่นเดียวกัน เมื่อ กกต.ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ถ้าสั่งให้พักงานก็ต้องพัก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า หลังจากเกิดเรื่องขึ้นทั้ง 4 คน สามารถลาออกจากการถือหุ้นได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า แล้วแต่รัฐมนตรีจะตัดสินใจ อย่างไรก็ตามกรณีนี้จะมีหลักอยู่ 3 อย่างคือ ศาลอาจจะพิจารณาให้ 4 รัฐมนตรีหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ หรือรัฐมนตรีหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่เอง หรือ 4 รัฐมนตรีจะขอลาออกเลยก็ได้ โดยในส่วนของคดี 4 รัฐมนตรีก็ไปต่อสู้กันในศาล ซึ่งหากเทียบกับกรณีของนายดอน จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
สำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะสามารถตามดำเนินคดีกับ 4 รมต.ได้หรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่จำเป็น แต่ทราบว่าเรื่องนี้มีการไปร้องที่ ป.ป.ช.ด้วย ซึ่งกรณีไปร้องที่ ป.ป.ช. เป็นเรื่องคุณสมบัติ แต่กรณีไปร้องที่ กกต. เป็นเรื่องของการทุจริตประพฤติมิชอบ
เมื่อถามย้ำว่า หากศาลพิจารณาให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 4 คน ตอนนี้ไม่ถือว่าเป็นผู้ที่ขัดคุณสมบัติ ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เพราะต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแสดงสปิริตลาออกของ 4รัฐมนตรีว่า มาตรฐานทางการเมืองแต่ละพรรคมีความแตกต่างกัน ตนทำได้แต่เพียงพูดว่าถ้าสำหรับพวกตนก็เป็นอีกบรรทัดฐานหนึ่ง แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ไม่มีความประสงค์ที่จะปรับเปลี่ยนหรือยกระดับในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และได้แต่ท่องคาถาว่า แล้วแต่กฎหมายอย่างเดียว
ถึงคิวยื่นสอย "บิ๊กตู่"
วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เปิดเผยว่า หลังจากติดตามข้อเท็จจริงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี เปิดเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ของตนเองเพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ กับพี่น้องประชาชนแล้ว พบว่ากรณีดังกล่าวอาจมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา และอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติห้ามนายกฯ เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ถ้าเป็นก็มีบทบัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ดังนั้น กรณีที่นายกฯ เปิดเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ จึงอาจเข้าข่ายเป็นเจ้าของสื่อมวลชนใดๆ ตามมาได้ ซึ่งนายกฯ ทราบดีมาก่อนแล้ว เห็นได้จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 1 ก.ย.58 ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ...ที่มีความในมาตรา 3 ระบุว่า “สื่อมวลชน” หมายความว่าสื่อกลางที่นำข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่มวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใด ที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป
"นายกฯ ยังทราบถึงข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญแล้วด้วย ทั้งนี้ ตามความในหนังสือที่ นร 1503/ว(ร)157 ลงวันที่ 5 เม.ย.60 ข้อ 3.2.3 ลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี คือเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ดังนั้นเมื่อนายกฯ รู้กฎหมายอยู่แล้ว แต่ยังเปิดเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์และเว็บไซต์ของตนเองเพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ กับพี่น้องประชาชน ย่อมถือว่าการฝ่าฝืนข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญสำเร็จแล้ว และเข้าข่ายที่จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ดังนั้นในวันที่ 14 ม.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ผมจะไปยื่นเรื่องให้ กกต.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่" นายเรืองไกรระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |