ศาลอุทธรณ์ของเมียนมาตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ยกคำร้องอุทธรณ์ของนักข่าวรอยเตอร์ชาวเมียนมา 2 คนที่โดนศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 7 ปี ฐานทำผิดกฎหมายความลับทางราชการ จากการสืบสวนเหตุการณ์ฆ่าหมู่ชาวโรฮีนจา
ถั่น ซอ อ่อง (กลาง) ทนายความของนักข่าวทั้งสองคนกล่าวกับสื่อมวลชนภายหลังคำตัดสินของศาลที่นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 / AFP
รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 กล่าวว่า วา โลน อายุ 32 ปี และจ่อ โซ อู อายุ 28 ปี สองนักข่าวของรอยเตอร์ชาวเมียนมา โดนจับกุมที่นครย่างกุ้งเมื่อเดือนธันวาคม 2560 แล้วต่อมาโดนตัดสินจำคุกในความผิดฐานละเมิดกฎหมายความลับของทางราชการ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าเป็นการจัดฉากขึ้นเพื่อปกปิดการสอบสวนของนักข่าวทั้งสอง
อัยการกล่าวหาว่า ทั้งคู่มีข้อมูลลับเกี่ยวกับปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงในรัฐยะไข่ ที่กองทัพเปิดการกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธที่โจมตีตำรวจรักษาชายแดน อันส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮีนจาอพยพหนีภัยข้ามชายแดนเข้าบังกลาเทศมากกว่า 720,000 คน พร้อมกับคำบอกเล่าพฤติการณ์โหดร้ายของกองทัพเมียนมาที่องค์การสหประชาชาติระบุว่าเป็น "การล้างเผ่าพันธุ์"
ผู้พิพากษาอ่อง หน่าย แห่งศาลอุทธรณ์ภูมิภาคย่างกุ้งตัดสินว่า คำพิพากษาเดิมนั้นเป็น "การตัดสินที่สมเหตุสมผล" ตามกฎหมาย "ศาลจึงตัดสินใจยกคำร้องอุทธรณ์นี้" ผู้พิพากษาท่านนี้กล่าว
นักข่าวทั้งสองถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำอินเส่งของนครย่างกุ้งมานาน 13 เดือนแล้ว และไม่ได้มาฟังคำตัดสินเมื่อวันศุกร์ด้วย แต่ภรรยาของทั้งคู่ซึ่งมารอฟังคำตัดสินด้วยความหวังเลือนราง ต่างร่ำไห้
ภายหลังถูกจับกุม นักข่าวคู่นี้ยืนกรานว่าพวกเขาเป็นเหยื่อของการจัดฉากของตำรวจ โดยพวกเขาอ้างคำให้การของตำรวจนายหนึ่งที่กล่าวว่า ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ตำรวจคนอื่นๆ วางกับดักพวกเขา ขณะถูกจับนั้นทั้งคู่กำลังสืบข่าวการวิสามัญฆาตกรรมชาวโรฮีนจา 10 คนที่หมู่บ้านอินดินในรัฐยะไข่ การดำเนินคดีกับพวกเขาถูกมองว่าเป็นการลงโทษเรื่องการสืบข่าวนี้ และเป็นคำเตือนถึงนักข่าวคนอื่นๆ ด้วย
ทีมทนายความของพวกเขายังสามารถยื่นฎีกาต่อศาลสูงสุดของเมียนมา แต่มีบางฝ่ายชี้ว่า มีอีกทางเลือกคือการขออภัยโทษจากประธานาธิบดี ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีวิน มินต์ จะภักดีต่อนางอองซาน ซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของรัฐบาลพลเรือนชุดนี้
คริสเตียน ชมิดต์ เอกอัครราชทูตของสหภาพยุโรปประจำเมียนมา กล่าวด้านนอกศาลหลังคำตัดสินว่า เขาหวังพึ่งประธานาธิบดีเมียนมาเพื่อแก้ไขความอยุติธรรมนี้
ส่วนเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษกล่าวกับบีบีซี เรียกร้องให้นางซูจีตรวจดูว่ากระบวนการนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และขอให้นางถือเสียว่า อนาคตของนักข่าวผู้กล้าหาญทั้งสองเป็นประโยชน์ส่วนตัวของนางเอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |