เสียหายต้องรับเอง! ชวนกรีดเหตุยื้อปลดล็อก โพลชี้'รธน.60'สืบอำนาจ


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) รัฐสภา ตัวแทนหน่วยงาน ส่วนราชการ พรรคการเมือง คณะบุคคล และประชาชนทั่วไป นำพานประดับพุ่มดอกไม้ ร่วมถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อาทิ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย, ตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และตัวแทนจากมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงวันรัฐธรรมนูญว่า เป็นการให้ความสำคัญกับรูปแบบการปกครองระบบรัฐสภาที่ใช้กฎหมายเป็นหลัก โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บทในการกำหนดบทบาทการคานอำนาจของแต่ละฝ่าย ซึ่งขอฝากไปถึงผู้ใหญ่ที่ชอบพูดว่าประชาธิปไตยเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศว่า ในความเห็นส่วนตัวที่เป็นผู้อาสาสมัครมาเป็นนักการเมืองนั้น ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ แต่อุปสรรคที่แท้จริงคือตัวคน กฎหมายบ้านเมืองก็ไม่ใช่อุปสรรค รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง แต่โดยรวมแล้วไม่ใช่อุปสรรคที่เป็นสาระสำคัญ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยสะดุดคือคน ตัวบุคคลที่เข้ามาทำงานไม่มีความจริงใจหรือรักประชาธิปไตยที่แท้จริง

ส่วนกรณีที่รัฐบาลยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองนั้น นายชวนกล่าวว่า ผู้ใหญ่ในพรรคได้หารือกันแล้วว่าให้แจ้งสมาชิกไม่ต้องเรียกร้องเรื่องนี้ เพราะมีคนรับผิดชอบอยู่ เขาจะรู้เองว่าหากทำช้าเสียหายต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องเรียกร้อง เพราะชาวบ้านที่เบื่อเรื่องการเมืองจะรำคาญ เพราะรัฐบาลจะต้องพิจารณาเองว่าภายใต้เงื่อนเวลามีอะไรต้องทำ เมื่อไหร่ อย่างไร ดูให้เหมาะสม ซึ่งตามกฎหมายมีกรอบเวลาบังคับไว้ เช่น วันที่ 5 ม.ค. 2561 ต้องแจ้งฐานสมาชิกพรรคให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับทราบ จึงต้องถามรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร พรรคจะไม่เรียกร้องใดๆ แต่ถ้าเกิดปัญหาอย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ

พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่า เชื่อว่าปี 2561 คงจะมีการเลือกตั้งอย่างที่รัฐบาลประกาศไว้หลายหน ซึ่งขณะนี้ปัญหาของพรรคการเมืองคือต้องทำกิจกรรมหลายอย่างตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคต้องทำ โดยบางอย่างกำหนดให้ต้องเสร็จภายใน 90 วัน ดังนั้นหากไม่ทำหรือไม่ได้ทำก็เสี่ยงที่พรรคจะถูกลงโทษตามกฎหมาย อีกทั้งยังมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการทำกิจกรรมได้ หวังว่ารัฐบาลจะหาทางแก้ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้โดยไม่เสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย เพราะการเลือกตั้งนั้นพรรคการเมืองต้องเตรียมตัวหลายอย่าง หากใกล้เวลาเกินไปอาจจะฉุกละหุก

เมื่อถามว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือนจะครบ 90 วัน ตามที่กำหนดใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง พรรคได้ดำเนินการอย่างไรไปบ้าง พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวว่า เวลานี้ทำอะไรระวังทุกอย่างเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย อะไรที่ทำได้ก็ทำ ส่วนเรื่องทะเบียนสมาชิกพรรคนั้น ขณะนี้ได้เตรียมเอกสารต่างๆ ไว้แล้ว รวมทั้งได้ทำหนังสือสอบถามไปยังนายทะเบียนกลางว่ามีสมาชิกคนใดที่ย้ายที่อยู่หรือเสียชีวิตหรือไม่ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ในเรื่องการลงพื้นที่เพื่อพบปะสมาชิกนั้นยังไม่ได้ทำ เนื่องจากอาจถูกมองว่าเป็นการทำกิจกรรมทางการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พรรคมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 130,000 คน เมื่อกฎหมายกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้เข้มมาก พรรคจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ส่วนที่มีข้อเสนอว่าหากทำไม่ทันตามกรอบเวลาที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดไว้ ให้ กกต.ยื่นเรื่องต่อ สนช.เพื่อให้แก้ไขกฎหมายลูกนั้น พรรคเคยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาปลดล็อกพรรคการเมือง แต่ไม่ได้รับคำตอบว่าจะดำเนินการอย่างไร ดังนั้นเรื่องแก้กฎหมายคงขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่จะต้องเป็นไปตามโรดแมปเดิมที่วางไว้ด้วย

ปลดล็อกสู่ปรองดอง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันรัฐธรรมนูญปีนี้ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ผ่านการทำประชามติจากประชาชนกว่าสิบล้านคน แต่ยังมีประกาศหรือคำสั่งของคสช.ที่มาจากหัวหน้า คสช.เพียงคนเดียว ซึ่งขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยถูกบัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่พล.อ.ประยุทธ์จะทบทวนเพื่อนำไปสู่การยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่กระทบและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เตรียมการในการกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอย

“ทุกฝ่ายควรสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจซึ่งกันและกันมากกว่าความหวาดระแวง เลิกมองฝ่ายการเมืองว่าเป็นนักเลือกตั้ง ต้องช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่พึ่งที่หวังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ทั้งในมิติของการลงทุน การแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจฐานรากที่มีปัญหาอย่างมาก การลดความขัดแย้งแตกแยกอันจะนำไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์”นายอนุสรณ์ระบุ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปลดล็อคพรรคการเมืองกับการเลื่อนการเลือกตั้ง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-9 ธ.ค.2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามถึงการปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมของพรรคเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งปลายปี 2561 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.60 ระบุว่าเห็นด้วย เพราะแต่ละพรรคการเมืองจะได้มีการเตรียมตัว เตรียมนโยบายของพรรค เพื่อใช้ในการหาเสียง เป็นแรงกระตุ้นในการระดมความคิดของนักการเมือง เกิดความเป็นธรรม และความเป็นอิสระต่อพรรคการเมือง

ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้มีการเลือกตั้ง เพื่อที่จะทำให้บ้านเมือง เศรษฐกิจดีขึ้น และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศว่ารัฐบาลไทยมาจากการเลือกตั้ง รองลงมา ร้อยละ 17.60 ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ ยังไม่สงบเรียบร้อยดี อาจทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่มั่นใจพรรคการเมือง มีแต่นักการเมืองหน้าเดิมๆ ขณะที่บางส่วนระบุว่ารอให้ทุกอย่างลงตัวกว่านี้ บ้านเมืองสงบดีอยู่แล้ว และร้อยละ 4.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
รับได้เลื่อนเลือกตั้ง

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนว่าจะยังมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปลายปี พ.ศ.2561 หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 10.96 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นมาก, ร้อยละ 28.56 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นค่อนข้างมาก, ร้อยละ 29.92 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นค่อนข้างน้อย, ร้อยละ 21.28 ระบุว่าไม่มีความเชื่อมั่นเลย และร้อยละ 9.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการยอมรับของประชาชน หากการปฏิรูปประเทศยังไม่แล้วเสร็จ และอาจทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงต้นปี 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.32 ระบุว่ายอมรับได้ เพราะอยากให้ทำการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จก่อน สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยดี ยังต้องมีการจัดการระบบและระเบียบอีกหลายๆ อย่าง ให้เวลาในการปฏิรูป ปรับปรุงไปเรื่อยๆ ในส่วนของประชาชนนั้นทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ไม่มีสิทธิ์ต่อต้าน

ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งอีก นักการเมืองสร้างแต่ปัญหา ถ้าหากเลือกตั้งไปแล้วไม่น่ามีอะไรดีขึ้น และไม่มีผลกระทบจะเลือกตั้งตอนไหนก็ได้ รองลงมา ร้อยละ 31.44 ระบุว่ายอมรับไม่ได้ เพราะอยากให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด อยากให้รัฐบาลทำตามที่ได้กำหนดไว้ อยากให้เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจแย่มาก ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น และไม่ชอบการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ อยากให้บ้านเมืองดีขึ้นกว่านี้ บางส่วนระบุว่า ที่ผ่านมาไม่เห็นมีการปฏิรูปอะไรเลย การบริหารงานก็ไม่ดีเท่าที่ควร และอยากให้ยกเลิกการประกาศใช้มาตรา 44 และร้อยละ 6.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "รัฐธรรมนูญไทย ในสายตาประชาชน" โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,164 คน เนื่องจากปัจจุบันมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 นับเป็นฉบับที่ 20 ของประเทศไทย โดยรัฐบาล คสช.ได้พยายามชูจุดแข็งว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เน้นการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย สรุปผลได้ดังนี้

ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.29 ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เน้นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน รองลงมา ร้อยละ 26.41 อยากให้เป็นกฎหมายที่มีความยุติธรรม ให้ความสำคัญกับประชาชน พัฒนาบ้านเมือง, ร้อยละ 26.24 ควรใช้ได้จริง ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย, ร้อยละ 23.34 มีหลายมาตราที่เป็นข้อถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กัน, ร้อยละ 13.97 ยังไม่เห็นผลจากการนำมาใช้ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

เมื่อถามว่า ประชาชนรู้หรือไม่ว่ามีการบังคับใช้รัฐธรมนูญฉบับที่ 20 แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.12 ตอบว่ารู้ เพราะสนใจติดตามข่าวเป็นประจำ ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ มีข่าวความคืบหน้าออกมาเป็นระยะๆ ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 34.88 ไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องเข้าใจยาก ไม่ได้ติดตามข่าว ไม่สนใจ ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ฯลฯ

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีที่มีนักวิชาการและนักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล อาจทำให้ได้รัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.67 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 37.63 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 6.70 ไม่แน่ใจ 2.เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เพราะมีกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มข้น ร้อยละ 72.25 เห็นด้วย ขณะที่ 25.43 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 2.32 ไม่แน่ใจ 3.เป็นรัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนาง เพราะทำให้รัฐมีอำนาจ เป็นใหญ่ ไม่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ร้อยละ 45.79 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 49.40 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 4.81 ไม่แน่ใจ

4.รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยาก เพราะต้องอาศัยทั้งเสียงจาก ส.ว.และ ส.ส. ร้อยละ 65.29 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 30.41 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 4.30 ไม่แน่ใจ 5.รัฐธรรมนูญเปิดช่องทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ร้อยละ 57.82 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 37.71 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 4.47 ไม่แน่ใจ 6.รัฐธรรมนูญเปิดช่องทำให้เกิด “นายกฯ คนนอก” ร้อยละ 63.14 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 31.70 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 5.16 ไม่แน่ใจ
ปราบโกงจุดแข็ง รธน.60

สรุปภาพรวม "จุดแข็ง” รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เน้นการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 37.07, เน้นการปฏิรูป พัฒนาคนและประเทศชาติ ร้อยละ 25.45, มีบทลงโทษพรรคการเมืองที่รุนแรง ร้อยละ 16.63, แก้ไขยาก ทำให้ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อยละ 14.23, เปิดโอกาสให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ได้ ร้อยละ 10.02

ส่วนจุดอ่อนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. ร้อยละ 26.92, ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย ร้อยละ 23.46, เน้นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องประชาชน ร้อยละ 21.92, มาจากรัฐบาลทหาร ไม่เป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 16.54, เข้าใจยาก มีเนื้อหายาก ร้อยละ 13.65

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดกิจกรรม "เจาะเวลาหาอนาคต" นิทรรศการวันรัฐธรรมนูญส่งท้ายปี เพื่อจำลองสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศไทยภายในอีกสามสี่ปีข้างหน้า โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "หนึ่งร้อยปีวิกฤติรัฐธรรมนูญ และการเมืองของสยามประเทศ" โดยนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสวนาในหัวข้อ "โฉมหน้าประเทศไทยหลังเลือกตั้ง" นายอภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายพงศกร ยาห้องกาศ นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายชาญวิทย์กล่าวว่า แม้เราอยากมีการเมืองเหมือนประเทศอังกฤษหรือญี่ปุ่น แต่ในช่วงกว่าร้อยปีที่ผ่านมา การเมืองเราไม่ได้ออกมาเป็นแบบนั้น เป็นเรื่องของวัฏจักร วังวน วิกฤติรัฐธรรมนูญ การเมือง ทำให้ประเทศไทยเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยรัฐประหาร และการเขียนรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทุก 10 ปี เรามีความพยายามที่จะออกจากวังวนที่ซ้ำซาก เช่น 1.แนวทางที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีวางไว้ ซึ่งเรียกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิ์ โดยใช้พระเดชเป็นหลัก 2.แนวทางที่ใช้พระคุณเป็นหลัก 3.การตลาดเป็นหลัก และ 4.แนวทางปฏิรูปประชาธิปไตย ที่มากับรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งชอบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพราะเป็นความตั้งใจดีของคนดีแต่ล้มเหลวไป

"ประเทศของเรามีการปฏิวัติ รัฐประหาร อภิวัฒน์อยู่ตลอดเวลา เป็นการยึดอำนาจโดยใช้กำลังทหาร ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยขาดกำลังทหารไม่ได้ รวมถึงการปฏิวัติครั้งต่อไปก็ขาดไม่ได้ อยู่ที่ว่าทหารจะอยู่ฝ่ายไหน แต่ต้องไม่ลืมว่าการปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ.2475 ทหารอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย จึงสามารถยึดอำนาจได้" นายชาญวิทย์ระบุ

ส่วนวิกฤติการเมืองล่าสุด หากดูใกล้ตัวตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน สะท้อนทั้งในและนอกรัฐสภา ทั้งในกลุ่มนักการเมือง ทหาร อำมาตย์ ข้าราชการ การประท้วงเรียกร้องจากคนระดับกลาง ระดับล่าง และระดับมวลชน ทำให้เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง คือเมื่อสมัย นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บ่งบอกว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศในช่วงรัชสมัยที่เปลี่ยนผ่าน มองว่าอนาคตประเทศไทยมีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าจะต้องมีความรุนแรง หนีความรุนแรงได้ยากมาก ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้คือต้องตั้งสติ ช่วยหาทางออก ทำอย่างไรการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไม่มีความเสียหายที่รุนแรง อย่างกรณีของประเทศรัสเซีย จีน เป็นต้น ทำอย่างไรให้เสียหายน้อยสุด และกินเวลาน้อยสุด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมองการเมืองเผินๆ จะคิดว่าเป็นเรื่องของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง แต่หากมองให้ลึกๆ โดยภาพรวมลงไป สิ่งที่เรียกว่าการเมืองการปกครองในสังคมไทยขณะนี้เราดูแค่สีเหลือง แดง ไม่เพียงพอ ต้องมองลึกถึงหลัก 5 M ได้แก่ 1.Monarchy สถาบันกษัตริย์ 2.Military สถาบันทหาร ข้าราชการทหาร ตำรวจพลเรือน ตุลาการ 3.Money นายทุน 4.Middle Class and Media ชนชั้นกลาง ชาวกรุง และสื่อมวลชน 5.Mass มวลชน ซึ่งสิ่งที่เราต้องรอดูคือชนชั้นกลาง และมวลชน เพราะจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก นอกเหนือจากสถาบันกษัตริย์ สถาบันทหาร และนายทุน ที่นำอยู่ในการเมืองไทยมาตลอดเวลาจากนี้ไปชนชั้นกลางและมวลชนจะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ
เปรมโมเดลขัดสภาพ ศก.

ด้านนายอภิชาตกล่าวว่า ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า เป็นระบบการเลือกตั้งกำมะลอ เพราะไม่มีใครได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา อีกทั้งไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการเลือกตั้ง ทำให้ไม่ได้ทั้งรัฐบาลและนโยบายที่ต้องการ ระบบนี้ออกแบบเพื่อจงใจให้พรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงน้อยลง และจงใจให้พรรคขนาดกลางและระดับภูมิภาคได้คะแนนเสียงมากขึ้น การเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มีการชนะกันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองกับพรรคขนาดใหญ่สูงมาก เพราะสามารถเลือกว่าจะเข้าข้างพรรคใดได้ ทำให้เกิดเป็นรัฐบาลผสมเป็นหลัก

นอกจากนี้ เมื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้วไม่สามารถทำตามนโยบายที่ต้องการได้ เพราะมีกรอบแนวทางจาก พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันทางนโยบายระหว่างพรรคการเมือง และทิศทางการเลือกตั้งไม่มีผลในการกำหนดนโยบาย หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ส.ส.และ ส.ว.มีสิทธิ์ใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งลงโทษได้ โดยส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ และนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทำให้ยุทธศาสตร์ชาติกลายเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองใช้ถอดถอนนักการเมืองเท่านั้น

"หากรัฐบาลมีนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือเปรมโมเดล ผมเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากไม่มีอำนาจมาตรา 44 แล้ว รัฐบาลจะขับเคลื่อนระบบราชการได้อย่างไร และจะบริหารจัดการองค์กรอิสระไม่ให้ขัดขารัฐบาลหรือขัดขากันเองได้อย่างไร ส่วนตัวมองว่าเปรมโมเดลขัดกับสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน ที่มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง อีกทั้งในภาพรวมเศรษฐกิจกำลังอยู่ในระหว่างฟื้นตัว แต่กลับมีคนจนเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นจึงต้องคิดต่อว่า เมื่อไม่มีมาตรา 44 แล้ว คนเหล่านี้จะยอมอยู่เฉยหรือไม่ จะแก้ปัญหาอย่างไร หากจะกลับไปแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ทำได้ยาก แทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ" นายอภิชาตระบุ

นายพงศกรกล่าวว่า ปัญหาระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ มองว่าไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน เป็นการตัดทางเลือกประชาชน เป็นระบบเลือกตั้งที่ส่งเสริมพรรคขนาดกลาง รวมทั้งบั่นทอนความเป็นสถาบันพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กสูญหายไปจากระบบ ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การกำหนดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูงเกินไปสำหรับพรรคที่จะเกิดใหม่ รวมทั้งการกำหนดว่าพรรคการเมืองต้องมีสมาชิก 5,000 คน ภายใน 1 ปี และต้องเพิ่มจำนวนเป็น 10,000 คน ภายใน 4 ปี จากข้อมูลของพรรคการเมืองหนึ่งที่ตั้งมาเป็นระยะเวลานาน ขณะนี้มีจำนวนสมาชิกประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้นเอง ส่วนการทำไพรมารีโหวตที่นำมาใช้เป็นครั้งแรก จะเกิดปัญหากับพรรคขนาดเล็กแน่นอน แต่ 2 พรรคการเมืองใหญ่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะมีงบประมาณ ดังนั้นกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดจะทำให้พรรคขนาดเล็กหายไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"