ธปท. ไม่ห่วงเงินเฟ้อปีนี้ส่อหลุดเป้าหมาย เหตุประชาชนยังใช้จ่ายปกติ แถมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตสอดคล้องศักยภาพ ยันมีเครื่องมือดูแลหากสถานการณ์พลิกล็อก
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ไม่กังวลว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้อาจจะหลุดกรอบล่างของตัวเลขคาดการณ์ที่ 1-4% เนื่องจากประชาชนยังคงใช้จ่ายเป็นปกติ และเศรษฐกิจไทยยังเติบโตสอดคล้องกับศักยภาพ โดย ธปท.มีเครื่องมือดูแลเศรษฐกิจหากสถานการณ์ในประเทศไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ การที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 1% แต่คนยังมองว่าของไม่ถูกนั้น ยังมีปัจจัยที่ถ่วงน้ำหนักให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำอยู่ที่สินค้าเทคโนโลยีค่อนข้างมาก เช่น โทรศัพท์มือถือ ทีวีจอแบน ซึ่งแม้สินค้าเหล่านี้จะไม่ใช่สินค้าที่ประชาชนจับจ่ายใช้สอยทุกวัน แต่ก็อยู่ในตะกร้าที่ต้องนำมาคำนวณเงินเฟ้อเช่นกัน
แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน แต่ก็ยังไม่น่ากังวล เพราะตราบใดที่เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ การบริโภค การจ้างงาน การลงทุนยังขยายตัว ไม่ได้มีสัญญาณว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปกตินี้จะทำให้พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนไปจนทำให้ชะลอการจับจ่ายใช้สอย โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งมาจากราคาพลังงานในตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
"เมื่อพิจารณาแล้ว เงินเฟ้อที่ต่ำอยู่ในกรอบล่าง ก็ไม่ได้มีความกังวลมาก ซึ่งในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น ธปท.ให้ความสำคัญกับเพดานหรือกรอบบนมากกว่า เพราะถ้าเมื่อใดก็ตามที่เงินเฟ้อสูงกว่ากรอบเพดานจะมีผลกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะเงินเฟ้อที่สูงมาก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน ทั้งศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และปัญหาด้านสังคมตามมา ซึ่งเราให้น้ำหนักตรงนี้มากกว่า" นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวอีกว่า ขณะนี้เสถียรภาพระบบการเงินของไทยจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปก็ยังไม่สามารถวางใจได้เต็มที่นัก เนื่องจากยังมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เปรียบเสมือนเป็นธนาคารเงาขนาดใหญ่ในระบบการเงินไทย, การออกพันธบัตรที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ, การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดใหญ่, การให้สินเชื่อแบบมีเงินทอนในภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณให้เห็นว่ามีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในระบบการเงิน จึงทำให้ยังไม่สามารถวางใจได้เต็มที่นักกับเสถียรภาพระบบการเงินของไทย
"พอเสถียรภาพระบบการเงินไม่เกิดปัญหา ทุกคนก็จะไม่รู้สึกว่ามันสำคัญ แต่พอรู้สึกว่าเสถียรภาพมีปัญหา มันก็จะช้าไปแล้ว ดังนั้นมาตรการการดูแลเสถียรภาพจะต้องทำล่วงหน้า เป็นมาตรการเชิงป้องกัน เราจึงไม่ควรวางใจ หรือวางใจได้ไม่เต็มที่นัก เพราะไม่ใช่ข้อมูลตัวเลขที่ทำให้กังวล แต่พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบการเงินเป็นสัญญาณที่ให้เห็นว่ามีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในระบบการเงิน มี NPL ในสินเชื่อที่อยู่อาศัย แข่งขันปล่อยสินเชื่อแบบเกินพอดี ดังนั้นการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ต้องใช้มาตรการหลายอย่างเข้ามาดูแลร่วมกัน ทั้ง Micro Prudential, Macro Prudential และมีนโยบายการเงินในภาพใหญ่ที่ต้องสอดคล้องกัน" นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวอีกว่า สิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คำนึงถึงและให้ความสำคัญคือการป้องกันไม่ให้ผลข้างเคียงจากการที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อเนื่องนาน มาสร้างความเปราะบางและเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยในอนาคต
สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง และมีความเสี่ยงในด้านต่ำเพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้ ธปท.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 4% แต่ยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ อย่างไรก็ดี ธปท.พร้อมจะใช้เครื่องมือต่างๆ ทางการเงินเข้ามาดูแล หากเห็นว่าความเสี่ยงมีแนวโน้มจะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ดี การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจะไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องดังเช่นในอดีต ซึ่ง กนง.จะมีการประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาประกอบการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |