11ม.ค.62-เมื่อช่วงเช้าที่บริเวณภายในฌาปนสถานเมรุชั่วคราววัดหนองแวงพระอารามหลวง บริเวณเกาะกลางน้ำ ด้านหลังพุทธมณฑลอีสาน ริม ถ.เลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) พร้อม รศ.นพ.ชาญชัย พานทอวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. และ รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. ยังคงลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการก่อสร้างเขาพระสุเมรุและนกหัสดิงค์เทินบุษบก ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิยาคม หรืทอหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
โดยในการก่อสร้างดังกล่าวนี้นั้นมีความคืบหน้าอย่างมากและเป็นไปตามลำดับขั้นที่ทีมช่างศิลป์จิตอาสา,ทีมคณาจารย์ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา มข. รวมไปถึง ประชาชนจิตอาสา และกำลังทหาร จาก มทบ.23 ที่ได้ช่วยกันดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งล่าสุดพบว่ามีการติดตั้งฐานตัวนกหัสดีลิงค์ ฐานบุษบก และการปักเสาบุษบกเรียบร้อยแล้ว และในวันนี้จะเป็นขั้นตอนสำคัญคือการยกยอดบุษบก และยอดฉัตร ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกตัวนี้ ซึ่งคณะทำงานต้องคำนวณแรงลง แรงต้านและการลำดับขั้นตอนการประดับตกแต่งนภาพรวมทั้งหมด ซึ่งพบว่าบริเวณหางของนกหัวดีลิงค์นั้นได้มีการตั้งโต๊ะหมู่บูชาองค์พญาแถน ตามความเชื่อของครูช่างศิลป์ เพื่อให้การทำงานนั้นเป็นไปโดยไม่มีอุปสรรค เป็นไปตามขั้นตอน และไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ
ดร.ยุทธพงษ์ มากวิเศษ ครูช่างนกหัสดีลิงค์ กล่าวว่า นกหัสดีลิงค์เทินบุษบกตัวนี้ เป็นนกที่ตัวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งคณะทำงานได้ออกแบบโครงสร้างตัวนกที่เป็นไม้เนื้อแข็ง สูง 22.6 เมตร มีการนำไม้ไผ่มาทำโครงด้านนอก และใช้กระดาษสีขาวมาพับคล้ายการทำเปเปอร์มาเช่ หรือประติมากรรมกระดาษ ซึ่งทั้งหมดจะถูกเผาพร้อมกับร่างหลวงพ่อในวันที่ทำพิธีฌาปนกิจ ประดิษฐานบนฐานแปดเหลี่ยม กว้าง 16 เมตร ประกอบด้วยนาคที่มีความยาว 5 เมตร 12 ตน และรายล้อมด้วยสัตว์หิมพานต์ 32 ตน ทั้งนี้ในปัจจุบันภาคอีสานของไทย มีครูนกหัสดีลิงค์ ที่ประกอบด้วยพระสงฆ์ 3 รูป และฆราวาส 3 คน ทุกท่านมีครูมีคาย หรือเครื่องแก้ติดตัวที่จะต้องนำไปไหนมาไหนด้วยทั้งหมด ซึ่งทีมช่างนกหัสดีลิงค์ที่ระดมกันมาร่วมงานเพื่อทำถวายของหลวงพ่อคูณนั้นทุกคนมีวัตถุมงคล มีผ้ายันต์ มีของที่มาแต่งแก้ทั้งหมด โดยเฉพาะหัวหน้าช่าง ที่ต้องมีติดตัวมากกว่าเพื่อน และที่สำคัญในรถยนต์ของทีมช่างทุกคนก็จะมีเครื่องเซ่นไหว้ เครื่องบูชา และเครื่องแก้ ทั้งหมด เพราะนกหัสดีลิงค์ตามตำนานแล้วนั้นคือนกที่มากินศพ
“แต่ด้วยบารมีของหลวงพ่อคูณ ที่ยอมรับว่า มข.และทีมช่างศิลป์จิตอาสา จากทั่วประเทศ ที่ได้ปวารนาตนมาทำงานให้กับหลวงพ่อ ทุกคนไม่มีเหตุใดๆเกิดขึ้นเลย ก่อนทำงานทุกวันและตามลำดับขั้นตอนต่างๆก็จะมีการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง บอกล่าวหลวงพ่อ บอกกล่าวพระยาแถน เพื่อให้งานนั้นดำเนินงานได้ทันตามกำหนด ซึ่งแม้นกตัวนี้จะใหญ่และมีรายละเอียดเยอะแต่ทุกคนนั้นทำด้วยความเต็มใจและตั้งใจ และทำกัน 24 ชั่วโมง ซึ่งโดยส่วนตัวผมเชื่อว่าบารมีของหลวงพ่อคูณนั้นทำให้งานไหลลื่นและทีมช่างทุกคนก็เชื่ออย่างนั้นพูดแล้วก็ขนลุก ตั้งแต่การปรับพื้นที่ การเริ่มทำงาน เริ่มติดตั้งเตาเผา เริ่มติดตั้ง ฐานนก หรือองค์ประกอบของนก การติดตั้งสัตว์ป่าหิมพานต์ การติดตั้งพญานาค ที่ลงล็อกเหมาะเจาะ และเหมาะสมทั้งหมด ไม่มีเคลื่อน ไม่มีโยก มีเอียง ซึ่งหามาดูตรงจุดฐานก็จะพบว่า เรามีการกำหนดจุดต่างๆไว้ทั้งหมด และเมื่อยกมาวาง หรือทำการประกอบในจุดที่กำหนด ก็ลงล็อกพอดี สร้างความประหลาดใจให้กับทีมช่างทุกคนอย่างมาก ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นแต่ละขั้นตอนนั้นทีมช่างทุกคนก็ได้แต่สาธุและระลึกถึงบารมีของหลวงพ่อคูณ เกจิอาจารย์ชื่อดังที่เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของทุกคน”
ขณะที่ รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า หลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพเรียบร้อยก็จะเข้าสู่พิธีราษฎร์ ซึ่งพิธีราษฎร์ก็คือพิธีของราษฎร์ ที่ได้ดำเนินงานกันเรื่อยมา ซึ่งน่าจะเริ่มพิธีได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันที่ 29 ม.ค. ซึ่งจะเริ่มจากพิธีฟ้อนรำลึกถึงหลวงพ่อ เป็นการฟ้อนเพื่ออาลัย ไม่ใช่เป็นการฟ้อนเพื่อสมโภชน์ ซึ่งคำว่าฟ้อนในภาษาอีสานก็คือคำว่ารำในภาษากลาง ซึ่งหลังจากฟ้อนแล้วเสร็จจะเป็นพิธีขอขมา ซึ่งเป็นขนบมาตั้งแต่โบราณที่ต้องทำ ซึ่งเมื่อฟ้อนเสร็จ และตามขอขมาสรีระสังขารหลวงพ่อคูณเสร็จ ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ก็จะเข้าสู่พิธีการฆ่านกหัสดีลิงค์ ตามประเพณีและขั้นตอนของนางสีดา แห่งเมืองอุบลราชธานี โดยนางสีดา ที่จะมาฆ่านกหัสดีลิงค์ในงานของหลวงพ่อคูณนั้นจะใช้คนในการร่วมขบวนไม่เกิน 50 คน ทั้งหมดจะไม่มีการซ้อมใดๆ จะเป็นไปตามธรรมชาติ และเป็นไปตามการดำเนินงานของคณะนางสีดา ซึ่งเมื่อขั้นตอนของการฆ่านกหัสดีลิงค์แล้วเสร็จก็จะเข้าสู่การฌาปนกิจสรีระสังขารของหลวงพ่อคูณ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาประมาณ 23.00 น.โดยจะใช้ในรูปแบบเผาจากข้างบนลงมาข้างล่าง ซึ่งไฟที่ใช้ในการเผาหลวงพ่อคูณนั้น ไม่ใช่ไฟที่เผานกหัสดีลิงค์ ซึ่งไฟที่ใช้ในการเผาร่างของหลวงพ่อคูณนั้น คือไฟที่อยู่ในเตาเผา
“ต้องมองให้ออกนะครับว่า ภาพของนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ในงานของหลวงพ่อคูณนั้น มีโลงทั้งหมด 3 โลง นกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ในตัวของนกจะมีทั้งหมด 2 โลง โดยโลงที่อยู่ต่ำสุดเป็นโลงแสตนเลส ซึ่งมีลูกศิษย์ของหลวงพ่อสร้างมาถวาย เป็นโลงที่ออกแบบพิเศษ เพื่อให้เถ้าของหลวงพ่อนั้นร่วงตกลงมาในโลงแห่งนี้ ทันทีหลังเผาเสร็จ โดยจะมีการปิดตายด้วยกุญแจ 4 ดอก ซึ่งในวันเผาจริงนั้น โลงแสตนเลสนี้ จะถูกเปิดออก วางทับด้วยตะแกรงเหล็กและไม้จิก ถัดขึ้นไปเป้นโลงที่ 2 ซึ่งเป็นโลงจริงที่ใส่สรีระสังขารของหลวงพ่อคูณ ซึ่งเมื่อในช่วงของการเผานั้นไม้จิกจะเป็นเชื้อเพลิงในการเผาหลวงพ่อ โดยมีเตาเผาครอบทับทั้งหมด ซึ่งในเตานั้นจะระอุและเผาไหม้ไปทั้งหมดในเตาแห่งนี้ ซึ่งสรุปได้ว่า โลงที่ 1 และโลงที่ 2 นั้นจะอยู่ในตัวนก”
รศ.ดร.นิยม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนโลงที่ 3 นั้นจากภาพที่ทุกคนจะเห็นคือตัวนกเทินบุษบก ซึ่งบุษบกนี้นั้นจางอยู่บนตัวนก ซึ่งมีความสูงถึง 2 เมตร โดยโลงที่ 3 นั้นจางอยู่บนบุษบก ซึ่งเป็นโลงเปล่า หรือภาษาช่างเรียกว่าโลงหลอก ซึ่งในวันงาน จะใช้วิธีการแทงหยวก ตามวิธีโบราณของอีสานเช่นเดียวกัน โดยทีมช่างแทงหยวกจิตอาสา จะมาลงพื้นที่หน้างานในวันที่ 28 ม.ค. ทั้งหมด ม.ขอนแก่น ไม่ได้เน้นความอลังการ เราเน้นความเรียบง่าย เป็นไปตามขนบของอีสานทั้งสิ้น และที่สำคัญคือเราทำงานที่ยึดตามพินัยกรรมทุกขั้นตอนทั้งหมด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |