เลือกตั้งแน่มีนาคม


เพิ่มเพื่อน    

    เดินทางสายกลาง
    จะพอใจ หรือขัดข้องใจ ยกเอาไว้ก่อน 
    แต่มีความชัดเจนให้เห็น 
    หลังนายกฯ ประยุทธ์ โยนไปให้ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้ขาดว่าเจตนารมณ์ของ กรธ. ต่อกรอบเวลา ๑๕๐ วัน ในการจัดการเลือกตั้งนั้น
    รวมการประกาศผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ 
    แล้ว กรธ.ก็แจกแจงให้เห็นถึงเจตนารมณ์
    "อุดม รัฐอมฤต" อดีตโฆษก กรธ. พูดเอาไว้แบบนี้ 
    ...เจตนารมณ์ของ กรธ.ตั้งแต่ต้น คือ กรอบเวลา ๑๕๐ วัน ไม่นับรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง 
    เรื่องนี้ได้ชี้แจงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปแล้ว 
    จึงได้มีการบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา ๑๗๑ ของกฎหมายดังกล่าว 
    ดังนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ตั้งแต่กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ครบ ๔ ฉบับ ไปอีก ๑๕๐ วันได้
    ก็คือภายในวันที่ ๙ พฤษภาคม โดยไม่ต้องนับรวมเวลาในการประกาศผล...
    พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา ๑๗๑ บัญญัติเอาไว้ว่า
    ....ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ....
    ถามว่าฟังขึ้นหรือไม่? 
    ถ้าบัญญัติในบทถาวรคงจะมีปัญหาให้ตีความมากกว่านี้ 
    แต่มาตรา ๑๗๑ อยู่ในบทเฉพาะกาล 
    และใช้เฉพาะการเลือกตั้งครั้งแรกเท่านั้น 
    ส่วนสาเหตุที่ต้องบัญญัติเช่นนี้ คำตอบก็อยู่ที่ตัวบทกฎหมายนั่นเอง 
    รัฐธรรมนูญใหม่ กฎหมายเลือกตั้งใหม่ ทุกอย่างใหม่หมด 
    การเลือกตั้งครั้งแรกจึงต้องยึดเอามาตรา ๑๗๑ เป็นหลัก 
    และมาตรา ๑๗๑ ระบุเอาไว้ชัดเจน 
    ...ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ...
    หมายความว่า ให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วันนับแต่กฎหมายลูกบังคับใช้
    แค่ "กำหนดวันเลือกตั้ง" เท่านั้น
    ไม่ใช่เลือกตั้งให้เสร็จภายใน ๑๕๐ วัน 
    ส่วนการประกาศผลการเลือกตั้งบัญญัติเอาไว้ในมาตรา ๑๒๗ 
    .....ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้คณะกรรมการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
    ในการตรวจสอบเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการต้องรับฟังรายงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งและข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากแหล่งต่างๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย
    ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การประกาศผลการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างด้วยโดยอนุโลม
    ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ กำหนดเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งใหม่.....
    สรุปคือ ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน ๖๐ วันนับจากวันเลือกตั้ง
    แต่....เจตนารมณ์ของ กรธ.ไม่ใช่การวินิจฉัยที่มีผลตามกฎหมาย
    และเสียดายที่ กรธ.ไม่พูดถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๘ เอาไว้ด้วย
    มาตรา ๒๖๘ อยู่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า
    ...ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) มีผลใช้บังคับแล้ว
    เพราะรัฐธรรมนูญมีศักดิ์เหนือกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.
    และไม่มีการอธิบายว่า "เลือกตั้งแล้วเสร็จ" นั้นให้รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ 
    หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เจตนารมณ์ของ กรธ.จะเป็นเหตุผลลำดับต้นๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนำไปพิจารณา
    ผลจะออกมาเช่นไร อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ 
    และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญ 
    แต่อย่างน้อยก็เป็นอันชัดเจน ไม่มีใครดิ้นได้อีก 
    การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ ๙ พฤษภาคมแน่นอน 
    การเลื่อนไปหลังวันที่ ๙ พฤษภาคม ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ 
    และถ้าฟัง "วิษณุ เครืองาม" แล้วน่าจะมีความยุ่งยากน้อยลง 
    “เอาเป็นว่าประกาศในเดือนมกราคม และการเลือกตั้งไม่เกินเดือนมีนาคม กกต.จะเป็นผู้กำหนด”
    หมายถึงการประกาศพระราชกฤษฎีประกาศเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร!
    ที่จริงการให้สัมภาษณ์ของ "วิษณุ เครืองาม" วานนี้ (๑๐ มกราคม) มีการถามตอบได้ประเด็นเป็นน้ำเป็นเนื้อพอสมควร 
    เช่น.....
    ขณะนี้ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมาใช่หรือไม่? 
    คำตอบคือ "ยัง"
    กกต.สามารถตัดสินใจเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งได้ก่อนวันที่ ๒๖ มกราคมนี้หรือไม่?
    คำตอบคือ "น่าจะเป็นเช่นนั้น"
    ข้อถกเถียงการจัดเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วัน ต้องรวม ๖๐ วันที่ กกต.จะประกาศผลเลือกตั้งด้วยหรือไม่? คำตอบคือ "การจัดเลือกตั้ง ๑๕๐ วันเป็นเรื่องหนึ่ง การประกาศผล ๖๐ วันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะกฎหมายคนละมาตรา ไม่ใช่เอาสองมาตรามารวมกัน ต้องเลือกตั้งให้เสร็จก่อน จากนั้นถึงจะนับระยะเวลาการประกาศผลต่อไป อีก ๖๐ วัน โดยในส่วนนี้คิดว่า กกต.ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะคาดว่าผู้ชนะเลือกตั้งอาจร้องผู้แพ้เพื่อตัดคะแนนไม่ให้นำไปรวมในปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งนี้ หากจะประกาศผลก่อนเพื่อสอยทีหลังก็ไม่ควร เพราะอันตราย จะกระทบการจัดตั้งรัฐบาล"
    การเอา ๒ มาตรา คือ มาตรา ๑๒๗ และ ๑๗๑ ในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มารวมกัน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ 
    หากจำกันได้ กลุ่มแรกๆ ที่พูดเรื่องนี้คือทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทย 
    ย้อนกลับไปที่ถ้อยแถลงของ "อุดม รัฐอมฤต" 
    “ผมว่าคนที่ตีความ เขาหาเรื่อง ต้องการจะเลือกตั้งโดยเร็ว แต่เรายืนยันเจตนารมณ์ของ กรธ. และไม่ใช่เพิ่งมาตีความตอนนี้ แต่เราตีความตั้งแต่ต้น โดยก่อนที่จะมีกฎหมายลูก มีการพูดกันถึงเรื่องพวกนี้ กกต.ก็ถาม พอถามมาเราก็ตอบไปว่า เราไม่ได้เป็นคนตีความเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่โดยความตั้งใจของ กรธ.เป็นอย่างนี้”
    ก็คงจะเช่นนั้น 
    เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้มันบ่งบอก 
    การประท้วงต่อต้าน เลื่อนการเลือกตั้ง เป็นสีสันทางการเมืองในยุครัฐบาลที่ถูกด่าว่าเป็นเผด็จการทหาร 
    วันนี้สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นกันได้อย่างเต็มที่ 
    แต่มวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเริ่มกลายเป็นเนื้อเดียวกับพรรคการเมืองไปเสียแล้ว  
    บุคคลระดับแกนนำนอนเตียงเดียวกัน 
    แล้วมาบอกต่างคนต่างเคลื่อนไหว ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน 
    ใครจะเชื่อ
    สุดท้ายก็ต้องไปดูที่ปลายทาง 
    มีใครรับตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ 
    เพราะในอดีตมันเป็นเช่นนั้น 
    นั่นคือผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง 
    สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นแค่ฉากบังหน้า 
    นิยามประชาธิปไตยก็เริ่มจะสับสน
    บางคนยิ่งพูดก็ยิ่งเลอะ 
    ใช้ตรรกะแปลกๆ ในการอธิบายสิ่งที่ตัวเองคิด
    เช่น "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ บอกว่า
    “รัฐประหารในประเทศนี้ที่เกิดซ้ำซาก 
    ไม่ได้เกิดจากประชาชนโง่
    ไม่ได้มาจากประชาชนไม่รู้จักประชาธิปไตย 
    ไม่ได้มาจากนักการเมืองโง่ 
    นักการเมืองไม่ดีมีแต่คอร์รัปชัน 
    ไม่ได้มาจากนักการเมืองสกปรก 
    แต่รัฐประหารทุกครั้ง เกิดขึ้นเพราะประชาชนฉลาดเกินกว่าที่เขาจะควบคุมได้”
    เป็นคำอธิบายที่ย้อนแย้งในตัวเอง
    คิดในมุมกลับ ประชาชนฉลาด ทหารไม่มีโอกาสทำรัฐประหารแน่นอน 
    เพราะประชาชนที่ฉลาด จะรีบจัดการกับคนโกงเสียก่อนที่ทหารจะนำไปเป็นข้ออ้างเพื่อทำการรัฐประหาร
    ตบตูด...ลืมไปว่า สถานะของ "โอ๊ค" วันนี้คือจำเลยที่ได้ประกันตัวจากคดี ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินรับโอนเงินที่ได้จากการอนุมัติสินเชื่อระหว่าง ธ.กรุงไทย กับกลุ่มกฤษดามหานครโดยมิชอบ 
    ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
    มีข่าวว่า ทีมทนายความยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลางช่วงก่อนปีใหม่ ให้โอ๊คไปร่วมงานแต่งน้องสาว อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ที่ฮ่องกง ช่วงเดือนมีนาคมนี้ 
    และศาลมีคำสั่งอนุญาต    
    แต่มีเงื่อนไขคือ โอ๊คต้องเดินทางกลับมารายงานตัวต่อศาล ภายในวันที่ ๒๖ มีนาคม 
    รอดูว่า "โอ๊ค" จะกลับมาเข้าคูหากาพรรคตระกูลเพื่อหรือไม่ ถ้าการเลือกตั้งมีขึ้นวันที่ ๓๑ มีนาคม
    หรือออกไปนานแล้ว.
                                ผักกาดหอม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"