จีนจะให้ 'คนจน' หมดไปอย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

    สำนักข่าวซินหัวของจีนออกข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลปักกิ่งประกาศตั้งเป้าที่จะลด “คนจน” อีก 10 ล้านคน ในอีก 2 ปีข้างหน้า
    โดยเน้นปรัชญาของการ “ไม่ให้ปลา แต่สอนจับปลา”
    นั่นหมายถึงการสอนให้คนจนในชนบทของจีนรู้จักพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่คอยแบมือรอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง
    นี่คือวิธีการที่ยากเย็นกว่าแนวทาง “ประชานิยม” ที่เน้นการเอาใจประชาชนด้วยนโยบายลดแลกแจกแถม โดยที่ไม่ได้สอนวิธีการที่จะทำให้คนยากจนสามารถเรียนรู้ทักษะและวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันของตนเองแต่อย่างไร
    ข่าวทางการจีนอ้างคำพูดของนายหู ชุนหัว รองนายกรัฐมนตรีจีน ที่แถลงว่าจีนจะเร่งความพยายามนำพาประชาชนชาวชนบทหลุดพ้นจากความยากจนให้ได้อีก 10 ล้านคน ภายในปี 2019 ซึ่งถือเป็นปีสำคัญของการเอาชนะสงครามต่อต้านความยากไร้ โดยเฉพาะในชนบท
    ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคยประกาศแผนที่จะทำให้คนจีน 30 ล้านคน พ้นจากความยากจนภายในปี 2020 โดยเริ่มอพยพโยกย้ายคนจน 9.81 ล้านคน ระหว่างปี 2016-2020 ใน 22 มณฑล โดยเน้นในภาคตะวันตก ซึ่งเป็นเขตที่เศรษฐกิจชาวบ้านล้าหลังที่สุดของประเทศ
    รัฐบาลกลางและพรรคคอมมิวนิสต์จีนตระหนักดีว่า หากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน “กระจุก” อยู่เฉพาะในเขตเมืองหลังๆ ริมฝั่งทะเล เช่น เซี่ยงไฮ้, กวางตุ้ง, ปักกิ่งและเซินเจิ้นเท่านั้น ความจนก็ยังจะ “กระจาย” ตัวอยู่อย่างกว้างขวางในมณฑลอื่นๆ ที่เหลือ ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างมากขึ้นทุกที
    หากเป็นเช่นนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่อาจจะอ้างได้ว่าเป็นความหวังของประชาชนชนชั้นกลางและชั้นล่าง  
    หากความเชื่อเช่นนั้นกระจายตัวไปกว้างไกลขึ้น ความร่ำรวยของจีนในภาพรวมก็จะไม่มีความหมายอะไร เพราะท้ายที่สุดเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมของจีนก็จะสั่นคลอน นำไปสู่ความยุ่งยากวุ่นวายได้เช่นกัน
    รองนายกฯ หูได้เรียกร้องการดำเนินตามเจตนารมณ์ของการประชุมการปฏิบัติงานทางเศรษฐกิจส่วนกลาง (Central Economic Work Conference) ที่ตั้งเป้าหมายบรรเทาความยากจน พัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของการทำงานบรรเทาความยากจน
    เขาบอกว่านี่คือแนวทางการวางแผนและการก่อสร้าง “บ้านใหม่” สำหรับพลเรือนผู้ยากจนโยกย้ายเข้ามาพักอาศัยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016-2020) ควรเสร็จสิ้นภายในปี 2019
    นอกจากนั้นเขายังออกคำสั่งควบรวม “การบรรเทาความยากจน” เข้ากับ “ยุทธศาสตร์การชุบชีวิตชนบท” เพื่อกระตุ้นสมรรถภาพการพัฒนาตนเองของประชากรผู้ติดกับดักความยากจน ป้องกันการวกกลับสู่วังวนแห่งปัญหาเดิมอีกครั้ง
    เขาบอกว่าการกระตุ้นการส่งเสริมภาคตะวันออกที่เศรษฐกิจเติบโตมั่งคั่งนั้นไม่ใช่เพียงแค่การสร้างประโยชน์ให้กับคนกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยลดความยากจนของพื้นที่ต่างๆ ในภาคตะวันตก 
    แนวทางการแก้ปัญหาความยากจนก็คือการระดม “กำลังพลทางสังคม” เข้าร่วมโครงการรณรงค์บรรเทาความยากจนของประเทศ
    คำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีจีนคนนี้มีความหมายและมีน้ำหนัก เพราะเขาเป็นสมาชิกกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
    ไม่แต่เท่านั้น หูยังเป็นหัวหน้ากลุ่มนำร่องการบรรเทาความยากจนและการพัฒนาแห่งมุขมนตรี 
    มติที่ว่านี้เกิดขึ้นระหว่างการประชุมด้านการบรรเทาความยากจนและการพัฒนาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2018 หรือก่อนจะเข้าสู่ปีใหม่ไม่กี่วัน
    ตัวเลขทางการอ้างอิงข้อมูลจากนายหลิว หย่งฝู ผู้อำนวยการสำนักงานกลุ่มนำร่องฯ ที่คาดการณ์ว่าจีนนำพาชาวชนบทออกจากความยากจนกว่า 10 ล้านคน ในปี 2018 
    และหากนับย้อนหลังไป 6 ปี สถิติทางการบอกว่า กว่า 80 ล้านคน ได้ยกระดับตนเองพ้นจากสถานภาพของความเป็น “คนยากจน” แล้ว
    รายงานของธนาคารโลกบอกว่า จีนได้สามารถทำให้ประชากรกว่า 500 ล้านคน พ้นจากภาวะ “ความยากจนสุดขั้ว” (extreme poverty) 
    โดยมีสถิติว่า จีนสามารถลดความยากจนจาก 88% เมื่อปี 1981 มาอยู่ที่ 6.5% ในปี 2012 
    โดย “ความยากจนสุดขั้ว” ที่ว่านี้วัดกันที่จุดรายได้ US$1.9 หรือประมาณ 60 บาทต่อวันหรือน้อยกว่านั้น
    การรณรงค์ต่อต้านความยากจนของสี จิ้นผิง น่าสนใจในหลายๆ มิติ เป็นสิ่งที่ชาวโลกกำลังติดตามวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"