ไฟเขียวค่ารักษา ยาและเวชภัณฑ์ ขึ้นบัญชีควบคุม


เพิ่มเพื่อน    

    กกร.ไฟเขียว "ยา-เวชภัณฑ์-ค่าบริการทางการแพทย์" ขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม ตั้งอนุ กก.หาข้อสรุปมาตรการดูแล ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย รมว.สธ.แจงกำหนดราคาต้องหารือก่อน ไม่ใช่บังคับเอกชน 
    เมื่อวันที่ 9 มกราคม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ได้พิจารณาทบทวนรายการสินค้าและบริการประจำปี 2562 โดยในส่วนของบัญชีสินค้าควบคุม มีมติให้เพิ่มสินค้า 1 รายการ คือ ยาและเวชภัณฑ์ เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม และถอดสินค้า 4 รายการ ออกจากบัญชีสินค้าควบคุม ได้แก่ น้ำตาลทราย เยื่อกระดาษ เม็ดพลาสติก และแบตเตอรี่รถยนต์
    สาเหตุที่ถอดน้ำตาลทรายออก เนื่องจากปัจจุบันมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายให้ลอยตัวตามกลไกตลาด อีกทั้งสถานการณ์ขณะนี้ ราคาน้ำมันทรายปรับลดลงมามากเหลือ กก.ละ 10 บาท จากเดิมที่เคยขึ้นไปถึง กก.ละ 22 บาท ทำให้ไม่จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุม ส่วนเยื่อกระดาษ เม็ดพลาสติก และแบตเตอรี่รถยนต์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมีผู้ผลิตสินค้าหลายราย มีการแข่งขัน ไม่มีปัญหาทางด้านกลไกราคา จึงไม่จำเป็นต้องอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม ส่งผลให้บัญชีสินค้าควบคุมประจำปี 2562 จะเหลือ 46 รายการ จากเดิมมี 49 รายการ
    ส่วนบัญชีบริการควบคุม ที่ประชุมมีมติให้เพิ่มบริการทางการแพทย์เข้ามาอยู่ในบัญชีบริการควบคุม ทำให้จากเดิมที่มีรายการในบัญชีบริการควบคุม 5 รายการ เพิ่มเป็น 6 รายการ ส่งผลให้จะมีบัญชีสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 2562 ทั้งหมด 52 รายการ ลดลงจากเดิม 54 รายการ ซึ่งจะนำผลที่ประชุมครั้งนี้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า
    นายสนธิรัตน์กล่าวว่า มาตรการดูแลสินค้ายาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกันภัย ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการศึกษาและพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการที่จะเข้ามาดูแลสินค้ายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภคและโรงพยาบาลเอกชน  
    “ยังตอบไม่ได้ว่ามาตรการที่จะทำออกมาจะทำให้ราคายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงบริการทางการแพทย์ ราคาลดลงหรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับข้อสรุปของคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้น แต่ยืนยันว่าทุกอย่างจะดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย และถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพาณิชย์ยกระดับนำรายการสินค้ายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม เพื่อดูแลอย่างจริงจัง” รมว.พาณิชย์ระบุ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่ต้องนำรายการยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์เข้าเป็นบัญชีสินค้าและบริการควบคุม เนื่องจากที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนถึงค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนคิดราคาสูงเกินความเป็นจริง ทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขปัญหา เบื้องต้นอาจมีการกำหนดส่วนต่างกำไรว่าไม่ควรเกินกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์ เช่น ค่าเอกซเรย์ ค่าห้องพักฟื้น ที่จะมีการเข้าไปดูแลราคาให้เหมาะสมด้วย
    ด้าน ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงว่า ในภาครัฐเชื่อว่ามีการควบคุมที่ดีอยู่แล้ว โดยพื้นที่ไหนจะมีการตั้งคลินิกนอกเวลา จะต้องทำประชาพิจารณ์ และได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ก่อนถึงจะทำได้ ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ต้องมีการหารือกันระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกระทรวงพาณิชย์ ส่วนจะต้องกำหนดราคาหรือไม่นั้น ต้องดูตามความเหมาะสม
     ส่วนการกำหนดค่ารักษาพยาบาลให้เป็นสินค้าควบคุมนั้น เรื่องนี้ต้องมีการคุยกัน แต่ไม่ใช่ลักษณะของการบังคับให้เอกชนต้องทำตาม เพราะค่ารักษาพยาบาลแต่ละแห่งมีหลายอย่างประกอบกัน ทั้งต้นทุนต่างกัน ค่าใช้จ่ายต่างกัน ค่ารักษาไม่ใช่อาหาร ไม่ใช่เนย แต่สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการประกาศค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทราบเพื่อจะได้รู้งบประมาณ และเตรียมพร้อมด้านการเงิน
    ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผอ.สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สบส. เปิดเผยว่า มีเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาประมาณ 300 เรื่องต่อปี โดยค่ารักษาพยาบาลแพง มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สบส. พยายามแก้ไขราคายาไม่ให้เกินจริง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"