ราชสกุลจิตรพงศ์สืบค้น'บ้านปลายเนิน' พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์'นายช่างใหญ่สยาม'


เพิ่มเพื่อน    

 

ซ่อมแซมตำหนักไทย บ้านปลายเนิน ที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในอดีต
 

    "บ้านปลายเนิน" หรือ"วังคลองเตย" บนถนนพระรามสี่ สถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และส่งเสริมศิลปินและศิลปวัฒนธรรมของแผ่นดินไทย อดีตเป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่รู้จักกันดีในพระสมัญญานามว่า "นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม" และ "สมเด็จครู" พระราชโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังเสี่ยง เพราะจะมีโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ระฟ้าประชิดตำหนักตึกในบ้านปลายเนิน ตำหนักแห่งนี้เป็นสถานที่สุดท้ายในพระชนม์ชีพของสมเด็จครู ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเป็นบุคคลสำคัญของโลก 
    หากเสาเข็มแรกสามารถตอกลงในชั้นดินได้จะสร้างความเสียหายต่อบ้านปลายเนิน คลังองค์ความรู้ของครูช่างไทยและกระทบผลงานส่วนพระองค์อันเป็นมรดกของชาติ เหตุนี้ ราชสกุลจิตรพงศ์ โดย ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ พระทายาทผู้อาศัย สืบทอด และดูแลรักษาบ้านปลายเนิน จัดงาน "ศาสตร์ ศิลป์ สืบสอน ณ บ้านปลายเนิน" พาย้อนอดีตของสถานที่ทรงคุณค่าสู่โครงการพัฒนาบ้านปลายเนินยุคใหม่ ตลอดจนการสืบต่อพระปณิธานโดยพระทายาทในแต่ละรุ่น พร้อมกันนี้ ทายาทบรรยายและนำชมสถาปัตยกรรมสำคัญในวังคลองเตยสำคัญย่างเต็มไปด้วยความหมาย  

 

       

ม.ล.ตรีจักร จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นเหลนเผยโครงการพัฒนาบ้านปลายเนินยุคใหม่ 
 

    ม.ล.ตรีจักร จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นเหลนของราชสกุลจิตรพงศ์ เล่าว่า บ้านปลายเนินยุคต้นเป็นที่ประทับในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประสูติที่พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยโตและโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ พระญาติและมิตร ได้ชักชวนให้พระองค์มาทรงตากอากาศที่ตำบลคลองเตย ทรงพระสำราญ จึงทรงหาซื้อที่นาริมคลองปลูกสร้างตำหนักจนเสร็จปี 2457 ทรงย้ายจากที่ประทับเดิม วังท่าพระ ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร  มาประทับที่ตำหนัก ณ ตำบลคลองเตยแห่งนี้ ทรงเรียกตำหนักนี้ว่า "บ้านปลายเนิน" มาประทับถาวร และพระวรกายดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันตำหนักนี้อายุกว่า 100 ปีแล้ว 
    "อาคารหลังแรกที่สร้าง คือ ตำหนักไทย ท่านประทับอยู่ที่นี่จริงๆ มีห้องบรรทม ห้องแต่งองค์ ห้องเสวย และที่สำคัญที่สุดมีห้องทรงงานด้วย งานฝีมือสำคัญต่างๆ จากห้องทรงเขียนที่ตำหนักไทยนี้ 10 ปีต่อมาพระองค์ทรงชราภาพ หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายา สร้างอาคารหลังที่ 2 ขึ้น เรียกว่า "ตำหนักตึก" มีห้องบรรทม ห้องเสวย ห้องพักผ่อน แต่ท่านยังเสด็จมาทรงงานที่ตำหนักไทย และใช้ท้องพระโรงรับแขกหรือคนมาเฝ้าในวาระต่างๆ ในบั้นปลายของพระชนม์ ทรงประทับที่บ้านปลายเนินจนสิ้นพระชนม์ ปี 2490 ณ ห้องบรรทม ตำหนักตึก" ม.ล.ตรีจักรกล่าว

ตำหนักตึก คลังความรู้และรักษามรดกของชาติอาจกระทบจากคอนโดฯ สูง
 

 

    บ้านปลายเนินยุคสอง หลัง "สมเด็จครู" สิ้นพระชนม์ ทายาทรุ่นที่สี่ย้อนเวลาให้ฟังว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประทับของพระธิดา พระโอรส มีการแบ่งที่ดินเป็น 5 ส่วน ส่วนอนุรักษ์ดูแลโดยพระธิดา สองพระองค์ที่ไม่มีทายาท โดยพระธิดาทั้งสองตัดสินใจเก็บรักษาของพระบิดาทั้งหมดไว้ในห้องบรรทม ไม่มีการเคลื่อนย้าย อีกทั้งปรับปรุงบ้านปลายเนินครั้งใหญ่ เปลี่ยนที่ตั้งตำหนักไทยและใช้เป็นสถานที่จัดงานวันนริศ ทุกๆ วันที่ 28-29 เมษายน ท้องพระโรงบนตำหนักปรับเปลี่ยนใช้ในโอกาสสำคัญของครอบครัว เช่น งานวันนริศ พิธีทำบุญ   
    ส่วนยุคใหม่ บ้านปลายเนิน ม.ล.ตรีจักร กล่าวว่า เป็นยุคที่ไม่มีเจ้านายพระองค์ไหนประทับในสถานที่อนุรักษ์แห่งนี้แล้ว ย้อนไปปี 2555 ก่อนงานทำบุญครบ 150 ปี วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในปี 2556 ปีนั้นหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาองค์สุดท้ายที่ประทับบ้านปลายเนิน ได้อนุญาตให้ทายาทรุ่นเหลน นำโดย ผศ.ดร.ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ พี่สาวของตน เปิดหีบห่อที่บรรจุวัตถุโบราณที่ทรงสะสมและของใช้ส่วนพระองค์กล่องแรก มีการบันทึกภาพและเรื่องราวแบบร่างฝีพระหัตถ์ทั้งหมด เนื่องจากมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์มีโครงการผลิตหนังสือจำหน่ายในวาระ 150 ปีดังกล่าว   
    "พวกเราทายาทรุ่นหลานและรุ่นเหลนในราชสกุลจิตรพงศ์เข้ามาดูแลพื้นที่แห่งนี้ รวมถึงศิลปวัตถุโบราณที่เก็บไว้ในตำหนักตึก ที่ประทับแห่งสุดท้าย เหมือนไทม์แคปซูลเก็บเรื่องราวของบ้านปลายเนินยุคต้นจนถึงยุคสอง บรรจุอยู่ในห้องบรรทม ชั้น 2 ถึงเวลาแล้วที่เราจะเปิดไทม์แคปซูลเหล่านั้น และเปลี่ยนแปลงบ้านปลายเนิน นอกจากงานฝีพระหัตถ์ ยังพบสิ่งของที่น่าสนใจ คือ สมุดบันทึก เปิดออกมาพบเรื่องราวที่ท่านเขียนไว้ ผมรู้สึกสนุก มีหน้าที่สืบค้นว่าคือผลงานชิ้นใดในประเทศไทย" 


หัวโขน ศิลปวัตถุที่ค้นพบใหม่ มาทำการจัดแสดง 

    ทายาทรุ่นเหลนเผยว่า ตั้งแต่วันนั้นมาการจัดนิทรรศการในวันนริศเปลี่ยนไป เราอยากหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากสมุดบันทึกของท่านมาจัดแสดง เช่น ภาพร่างด้านหนึ่งของวัดราชาธิวาส หนึ่งในผลงานสถาปัตยกรรมสำคัญ แล้วยังมีภาพร่างพระอาทิตย์ชักรถในพระที่นั่งบรมพิมาน ทั้งยังพบพระราชหัตถเลขาติดต่อกับบุคคลอื่นๆ ตั้งแต่ช่างจนผู้ว่าจ้างงาน เอกสาร ซึ่งเล่าที่มาผลงานออกแบบ เช่น จดหมายถึงกรมขุนนริศพระยศขณะนั้น เป็นพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 พระราชทานคำแนะนำการออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ ให้ใช้วัสดุใหม่ เป็นที่มาการสร้างด้วยหินอ่อน หน้าบันให้ผสมกระจกสเตนกลาส หลังได้รับจดหมายฉบับนี้แล้ว กรมขุนนริศสร้างสรรค์ผลงานชุดภาพหน้าต่างพระอุโบสถ วัดเบญฯ ผูกเป็นเรื่องพร้อมคำอธิบายถึง 10 ด้าน ปัจจุบันถ้าไปเยี่ยมชมจะเห็นภาพเทพพนมสเตนกลาสรูปเดียว ก็ต้องค้นหาพระราชหัตถเลขาต่อไป เหตุใดที่ท่านออกแบบมาไม่ได้ผลิตจริง   
    ปี 2559 พระธิดาพระองค์สุดท้าย สิ้นชีพิตักษัย ทายาทบ้านปลายเนินเริ่มพัฒนาบ้านปลายเนิน มีการเปิดตำหนักไทยให้ประชาชนเข้าชมและได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดยวันนริศปี พ.ศ.2560 มีผู้เข้าชมตำหนักไทยมากกว่า 2,000 คน ส่งผลให้สภาพทรุดโทรม ม.ล.ตรีจักรระบุเป็นที่มาการซ่อมตำหนักไทย มีพิธีบวงสรวง ทำทะเบียนและตรวจสอบศิลปวัตถุทั้งหมด พบมุมมองใหม่ๆ เช่น ศีรษะโขนพระลักษณ์ไม่เขียนลาย แต่เป็นลายปั้นประดับต่างจากชิ้นอื่น อีกตัวอย่างประติมากรรมยักษ์ทำด้วยไม้ เดิมตั้งอยู่ในมุมไม่แสดงสีสันความงามของศิลปวัตถุ ก็ต้องมาหาที่จัดแสดงใหม่ 
    "ที่สนใจที่สุดเรากำลังตามหาหนังสือที่ทรงอ่านก่อนเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ค้นพบรายการหนังสือส่วนพระองค์จำนวน 298 เล่ม มีชื่อหนังสือ ชื่อผู้เขียน และปีที่พิมพ์ เป็นบันทึกที่พระโอรส พระธิดาทรงจัดทำไว้ ทุกเล่มอายุเกิน 100 ปี หากเปิดเผยชื่อหนังสือจะเป็นประโยชน์ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา นอกจากนี้ แม้ท่านปู่ท่านย่าจะคัดสรรศิลปวัตถุที่ทรงสะสมที่ดีที่สุดมาแสดงไปแล้ว แต่สิ่งที่ท่านหวงที่สุดอาจถูกเก็บไว้ในบ้านปลายเนิน เราจะนำสิ่งของที่ค้นพบใหม่มาทำการแสดงเพิ่มเติม" ม.ล.ตรีจักร ทายาท ย้ำภารกิจในการสืบสานสมบัติชาติ

สืบค้นเรื่องราวจากบันทึกส่วนพระองค์ของสมเด็จครู
 

    บ้านปลายเนินในปัจจุบันทายาทตั้งใจจะอนุรักษ์ให้เป็นสถานที่เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย โครงการที่ได้เริ่มแล้วคือการบูรณะซ่อมแซมตำหนักไทย ทายาทคนเดิมเล่าว่า ได้ออกแบบแก้ไขข้อบกพร่องที่พบยุคสอง เพื่อให้อาคารนี้อยู่ไปตราบนานเท่านาน รวมถึงรองรับการเข้าชมได้มากขึ้น นอกจากนี้ จะพัฒนาสวน คูคลอง งานระบบระบายน้ำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ขณะที่ระบบไฟฟ้าแสงสว่างปรับเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัยและหนุนการแสดงศิลปวัตถุให้ดีขึ้น จะทำให้เสร็จพร้อมจัดงานวันนริศปี 2562 นี้ หลังจากนั้นจะซ่อมแซมตำหนักตึกรองรับสิ่งของที่ค้นพบใหม่ และเดิมเปิดให้เข้าชมปีละครั้ง วันข้างหน้าจะสามารถเข้าชมได้เพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างวางแผนงาน 
    "บ้านปลายเนินยุคใหม่สำหรับผม ไม่เพียงเล่าเรื่องราวของช่างที่เคยอยู่เก่งอย่างไร แต่จะเล่าถึงวิถีชีวิต ท่านอยู่อย่างไร นอนตรงไหน อ่านอะไร ฟังเพลงอะไร ใช้สิ่งของอะไร ท่านถึงได้พัฒนาตัวเองเป็นช่างใหญ่ที่เก่งถึงเพียงนี้" ม.ล.ตรีจักรย้ำเจตนารมณ์ 

 

ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นสี่นำชมสถาปัตยกรรมตำหนักตึก 

    ผศ.ดร.ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นสี่ ซึ่งนำชมบริเวณตำหนักไทย เรือนคุณย่า ตำหนักตึก และเรือนละคร โดยขณะชมด้านนอกตำหนักตึก อาคารสุดท้ายของพระชนม์ชีพ ผศ.ดร.ม.ล.จิตตวดี กล่าวว่า ทรงสิ้นพระชนม์ในห้องบรรทมที่ตำหนักนี้ รวมพระชันษา 83 ปี ถือเป็นห้องที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบ้านปลายเนิน ภายในศิลปวัตถุตั้งอยู่ เศษเล็บสมเด็จครู ผ้าเช็ดพระพักตร์ในโหล เส้นพระเกศา ที่สำคัญพระบรมอัฐิเจ้านายราชสกุลจิตรพงศ์ทุกพระองค์อยู่ในห้องนี้ 
    "ในฐานะทายาทผู้ดูแลรักษาเป็นครั้งแรกได้เปิดเผยตัวอย่างสิ่งที่ค้นพบใหม่ในตำหนักตึก นำผลงานฝีพระหัตถ์ชิ้นสำคัญมาจัดแสดงต่อสาธารณชน ด้วยหวังว่าจะมีผู้คนเข้ามาศึกษาศิลปวัตถุ ผลงานอันทรงคุณค่า เมื่อบริษัทเอกชนจะขึ้นคอนโดฯ สูง 36 ชั้น สร้างประชิดตำหนักตึก และเรือนละคร ห่างไปแค่ระยะ 25 เมตร รายงานอีไอเอผ่านแล้ว หากตอกเสาเข็ม ทายาทต้องเร่งขนสิ่งของโดยเร็ว สิ่งที่สูญเสียคือประวัติศาสตร์และตำแหน่งการวางสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ การจัดทำบันทึกและตำแหน่งต้องใช้เวลา ถ้าไม่ทำประวัติศาสตร์ส่วนนี้จะสูญหายไป" ทายาทรุ่นเหลน ซึ่งร่วมทีมสถาปนิกอนุรักษ์บ้านปลายเนิน เผยความกังวลบ้านปลายเนิน สถานที่เก่าแก่จะทานตึกขนาดใหญ่ได้เพียงใดในท้าย. 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"