คนไทยไม่ทิ้งกัน แห่บริจาค132ล. ช่วยเหยื่อปาบึก


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" ปัดแอคสร้างภาพปีนหลังคาตอกตะปู แจงให้กำลังใจคนทำงาน สั่งเร่งดูแลชีวิตความเป็นอยู่ชาวประมง 22 จังหวัด ขีดเส้นสรุปยอดเสียหาย 10 ม.ค. ครม.เคาะ 19 มาตรการยืดชำระหนี้ให้สินเชื่อเหยื่อปาบึก พร้อมอนุมัติลดหย่อนภาษีเงินบริจาค-ค่าใช้จ่ายซ่อมบ้าน สมเด็จพระสังฆราชฯ   ประทาน 1 ล้านช่วยผู้ประสบภัย
    เมื่อวันที่ 8 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า จากการลงพื้นที่เห็นแล้วว่าประชาชนน่าสงสาร เขาจนแย่อยู่แล้ว บ้านช่องแม้จะซ่อมมาก็เหมือนเดิม ให้อยู่อาศัยได้ แต่เมื่อดูในบ้านที่นอนหมอนมุ้งเขาดูได้ที่ไหน เครื่องมือประกอบอาชีพก็ไม่ดีพอ จึงได้สั่งการไปแล้ว จะเน้นดูแลพี่น้องประมงทั้งชายฝั่งและประมงพื้นบ้านให้ดีขึ้นทั้ง 22 จังหวัด ในเรื่องบ้านและอุปกรณ์ที่เป็นพื้นฐานความจำเป็นของครอบครัว โดยเร่งรัดให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากปาบึก ตนทนเห็นสภาพแบบนั้นไม่ได้ ต้องหามาตรการให้เหมาะสมในการดำเนินการ รัฐมนตรีหลายกระทรวงได้รับไปแล้ว เพื่อเร่งดำเนินการให้ทั่วถึง
    อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่ตนเดินทางไปต่างจังหวัด ไม่ได้ไปหาเสียง หรือไปเพื่อสร้างคะแนนนิยม แต่ไปเพื่อรับฟังจากเขา และเวลาเดินพบประชาชน ไม่ได้เดินตามที่เขาจัดให้เดิน จะเห็นได้ว่าตนเดินเข้าไปที่บ้าน เข้าไปที่เรือนั้นอยู่นอกกำหนดการทั้งสิ้น
    “การที่ผมขึ้นหลังคา ไม่ใช่ผมเท่ ผมแอค ไม่ใช่ ต้องมองว่าที่ผมทำ ทำเพื่ออะไร ผมให้กำลังใจคนที่กำลังตอกอยู่ข้างบน และถามว่าเหนื่อยหรือไม่ ร้อนหรือไม่ อยู่บนนี้ทั้งวัน เขาก็ตอบว่าไม่เป็นไรครับ ผมทำได้ ซึ่งผมเห็นว่ามันต้องพูดกับลูกน้องเขาบ้าง ให้กำลังใจ นายกฯ ก็ขึ้นมาได้เหมือนกัน ทุกคนจะได้มีกำลังใจในการทำงาน ลูกน้องเขาไม่ได้มุ่งหวังว่าผมจะต้องไปทำเก่งกว่าเขา ผมพอทำได้ เด็กๆ เคยฝึกเคยเรียนมา สมัยประถม มัธยม เขาก็สอนมา ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรเลย ฉะนั้นอย่าไปมองว่าทุกอย่างสร้างภาพ ไม่ใช่หรอก ทุกอย่างต้องมีการฝึกฝนทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
    นายกฯ กล่าวว่า เรื่องการซ่อมบ้านเรือนได้สั่งการไปแล้ว จะต้องแบ่งโซนนิ่งพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย และขอความร่วมมือจากภาคเอกชนหรือประชาชนทั่วไป ถ้าเป็นไปได้ช่วยบริจาคสิ่งของที่ไม่ได้ใช้แล้ว ดีกว่าทิ้งเป็นขยะ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้วงเงินจากกรมบัญชีกลางไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มเติม 20 ล้าน ทุกจังหวัด ดังนั้นต้องใช้จ่ายให้คุ้มค่า เมื่องบบริจาคมาต้องแยกสัดส่วนการใช้จ่ายให้ดี ทั้งนี้ อย่างที่ดำเนินการถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน ไม่ใช่รัฐบาลทำอย่างเดียว และขอบคุณทุกคนที่ร่วมบริจาคสมทบช่วยผู้ประสบภัย นี่คือประวัติศาสตร์ความเป็นไทย ไม่มีที่อื่นทำแบบนี้ได้ นอกจากประเทศเราเท่านั้น
    "สิ่งสำคัญเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จิตอาสาทำงานต่อไป เพราะบ้านเรือนต้องช่วยกันทำความสะอาดอีกนาน รวมถึงครัวจิตอาสาพระราชทาน จะมีต่อเนื่องไปจนกว่าเขาจะหากินกันเองได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนผ่อนคลาย มีขวัญกำลังใจ ที่ครัวทหารและจิตอาสาลงไปประกอบเลี้ยง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา นายกฯ ได้เป็นประธานรับมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุปาบึกในพื้นที่ภาคใต้ ในงาน "รวมน้ำใจไทยช่วยวาตภัยใต้" ซึ่งจัดโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยมีการถ่ายทอดสดออกอากาศตลอดการจัดรายการผ่านช่อง 9 และเครือข่ายทั่วประเทศ รวมทั้งเปิดหมายเลขโทรศัพท์พิเศษระบบอัตโนมัติ หมายเลข 0-2245 0700-19 (20 คู่สาย) เพื่อให้ประชาชนได้โทรศัพท์เข้ามาร่วมบริจาคในขณะดำเนินรายการ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบเงินส่วนตัวช่วยเหลือ จำนวน 100,000 บาท ก่อนที่นายกฯ จะร่วมรับสายโทรศัพท์ด้วยตนเอง พร้อมเปิดเผยด้วยว่า สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานเงินจำนวน 1 ล้านบาท ในการช่วยเหลือครั้งนี้ด้วย
สรุปยอดเสียหาย 10 ม.ค.
    ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้รายงานในที่ประชุมว่าจะมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อลงไปช่วยฟื้นฟูบ้านเรือนของประชาชน โดยเฉพาะการเข้าไปซ่อมแซมบ้านพักอาศัย รวมถึงการทำความสะอาดบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ 
    นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการช่วยเหลือของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบจำนวนความเสียหายของบ้านเรือน รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำลังสำรวจความเสียหายของพื้นที่การเกษตร และการทำประมง ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งเข้าไปสำรวจให้เสร็จภายในวันที่ 10 ม.ค.นี้ สำหรับการเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ได้รับเงินบริจาคมาแล้วทั้งสิ้น 132.3 ล้านบาท แต่ยังไม่รวมการบริจาคโดยการโอนผ่านบัญชี
    นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) แถลงว่า ครม.อนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ได้แก่ 1.มาตรการหักลดหย่อนภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยบุคคลธรรมดา สามารถนำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่ากับจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ เช่นเดียวกันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ นอกจากนี้ บุคคลธรรมดายังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ หรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคาร หรือห้องชุดไม่เกิน 100,000 บาท และค่าซ่อมแซมรถ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ ไม่เกิน 30,000 บาท โดยต้องเป็นการใช้จ่ายระหว่างวันที่ 3 ม.ค.-31 มี.ค. 2562
    2.มาตรการทางด้านการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) จำนวน 7 แห่ง รวม 19 มาตรการ ประกอบด้วย การพักชำระหนี้ตั้งแต่ 3-6 เดือน และการให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินหรือการซ่อมแซม เช่น ธนาคารออมสิน พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามความหนักเบาของผู้ประสบภัย และให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและฟื้นฟูการประกอบอาชีพ, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 เดือน สำหรับลูกหนี้ที่หลักประกันเสียหาย และให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมหรือทดแทนอาคารเดิม วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ มีการประเมินว่ารัฐอาจสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีด้านอสังหาริมทรัพย์ 60 ล้านบาท และด้านรถ 820 ล้านบาท แต่เป็นประโยชน์เพื่อการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปาบึก
    น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางจะนำเสนอมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ให้คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุพิจารณาในวันที่ 9 ม.ค.นี้ เพื่อออกหนังสือเวียนแจ้งให้ผู้มีอำนาจของหน่วยงานของรัฐสามารถใช้ดุลพินิจในการงดหรือลดค่าปรับ หรือขยายเวลาสัญญาได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาต
พณ.เยียวยาผู้ประสบภัย
    ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าขึ้น บ้านท่าสูงบน บ้านแหลมโฮมสเตย์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ประสบภัยจากพายุปาบึก มีประชากรได้รับผลกระทบกว่า 179,868 ครัวเรือน หรือกว่า 5 แสนคน โดยได้นำสิ่งของที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และวัสดุก่อสร้าง ไปมอบให้กับประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่จำนวนกว่า 2,200 คน เพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระด้านค่าครองชีพในเบื้องต้น พร้อมทั้งร่วมทำความสะอาด “Big Cleaning” ชายทะเลหาดบ้านเราะด้วย
    ทั้งนี้ ล่าสุดได้ประสานไปยังผู้ผลิต ให้เร่งผลิตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็นในการทำความสะอาดบ้านเรือนและซ่อมแซมบ้านเรือน เช่น น้ำยาทำความสะอาด อุปกรณ์ทำความสะอาด กระเบื้องมุงหลังคา สังกะสี ตะปู ฝาไม้ เป็นต้น เพื่อจัดส่งเข้าพื้นที่ และให้ลดราคาเป็นพิเศษ รวมทั้งได้ประสานห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยในราคาพิเศษด้วย นอกจากนี้ ได้นำคณะเดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจชาวสวนทุเรียนและมังคุด โดยมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่ไปสำรวจว่ามีอะไรเสียหายเพิ่มเติม และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยา จะประสานให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยดูแล 
    นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบภัย และได้รับผลกระทบใน 23 จังหวัด ใน 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.ผ่อนผันการแจ้งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย 2.ผ่อนผันการยื่นงบการเงินประจำปี 
    3.ขยายระยะเวลาการยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลที่ต้องยื่นจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัด และการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ครบกำหนดส่งระหว่างวันที่ 1-31 ม.ค.2562 และ 4.จัดตั้งศูนย์บริการรับจดทะเบียน ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นขอจดทะเบียนให้กับนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ใน 23 จังหวัดที่ประสบภัย ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 มีจำนวนนิติบุคคลใน 23 จังหวัด คงอยู่ทั้งสิ้น 192,575 ราย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"