เฮ'อียู'ปลดใบเหลืองประมง ไทยเร่งฟื้นฟูทรัพยากรทะเล


เพิ่มเพื่อน    


    เฮลั่น! อียูประกาศยกเลิก "ใบเหลือง" ประมงไทย เพียงประเทศเดียวหลังพิจารณาที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม “บิ๊กฉัตร” สุดปลื้ม ยกเป็นความสำเร็จของทุกภาคส่วน ยันเดินหน้าจัดระเบียบฟื้นทรัพยากรทางทะล 
    เมื่อวันที่ 8 มกราคม เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ กล่าวภายหลังนายเคอร์เมนู เวลลา  กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ประกาศแถลงการณ์ผลการพิจารณาปลดใบเหลืองประมงไอยูยูของประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้ ณ สำนักงานใหญ่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ถือเป็นความสำเร็จและน่ายินดีที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูมาโดยตลอด เพราะตั้งแต่ประเทศไทยได้ใบเหลืองเมื่อเดือนเมษายน 2558 ก็ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเต็มที่จนสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ ทั้งด้านกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย ความมุ่งมั่นทั้งหมดส่งผลให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลืองให้กับไทย  
    ทั้งนี้ เป็นการสะท้อนถึงความสำเร็จที่ไทยได้ยกระดับของการทำประมงเชิงพาณิชย์ ทั้งในและนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากล และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค  
    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า จากนี้ไปรัฐบาลไทยก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาการทำประมงไอยูยู 
เพราะตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเชื่อมั่นว่าไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมงไอยูยูไว้อย่างสมบูรณ์ทั้ง 6 ด้านคือ 1.ด้านกฎหมาย 2.ด้านการบริหารจัดการประมง 3.ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4 ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5.ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย
    ส่วนการดำเนินการระยะต่อไปหลังการเจรจาระดับทวิภาคีร่วมกับนายเคอเมนู เวลลาแล้ว ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือในอนาคตกับสหภาพยุโรปเพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมงไอยูยู หรือไอยูยู ฟรีได้โดยสมบูรณ์ต่อไป 
    ขณะที่นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและประมง กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่เป็นเจ้าภาพต้อนรับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ของประเทศไทย พร้อมกันนี้ได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ที่มีมานานจะทำให้การแก้ปัญหาประสบความลำเร็จยิ่งขึ้น
    ทั้งนี้ ในการหารือร่วมกันของรัฐบาลไทยและสหภาพยุโรปมีความยินดีที่จะประกาศให้ประเทศไทยปลดปลดใบเหลือง ในกลุ่มประเทศที่ทำประมงผิดกฎหมายและขอแสดงความยินดีกับรองนายกรัฐมนตรี สำหรับความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นในการทำให้การปฏิรูปนี้เป็นไปได้
    ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ประธานคณะทำงานบังคับใช้กฎหมาย ศปมผ. กล่าวว่า ปัจจุบันคดีประมงที่ผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ภาคการประมงตั้งแต่พ.ค.2558-2561 รวมทั้งสิ้น 4,448 คดี พบว่ามีเรือประมงไม่ติดตั้งระบบการติดตามเรือประมง วีเอ็มเอส 2,054 คดี, ไม่แจ้งจุดจอดรับเรือภายในเวลาที่กำหนด 171 คดี, เรือสนับสนุนการประมงไม่ติดตั้งระบบวีเอ็มเอส 38 คดี, ไม่นำเรือมาทำอัตลักษณ์ 719 คดี, เรือประมงนอกน่านน้ำไทย 80 คดี, เรือประมงในน่านน้ำไทย 1,001 คดี, เรือต่างชาติในน่านน้ำไทย 220 คดี, โรงงานและสถานแปรรูปสัตว์น้ำ 77 คดี, ค้ามนุษย์ในภาคประมง 88 คดี ปัจจุบันคดีแล้วเสร็จจำนวน 3,958 คดี คิดเป็น 89% ของคดีทั้งหมด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"