แหลมตะลุมพุกพิลาป


เพิ่มเพื่อน    


การเคลื่อนตัวของพายุปาบึกจากอ่าวไทย ขึ้นสู่ชายฝั่งหลายจังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะแหลมตะลุมพุก ช่วงวันที่ 3-5 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้หวนคิดถึงการเคลื่อนตัวของพายุแฮเรียตที่เข้าถล่มแหลมตะลุมพุกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 เพราะเป็นการย่ำรอย

แหลมตะลุมพุกพิลาป โดย "ตรึก พฤกษะศรี" เล่าเหตุการณ์มหาวาตภัย ซึ่งเกิดลมพายุโซนร้อนเป็นพายุหมุนพัดเข้าเต็มพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีความเร็วประมาณ 90 กม.ต่อชั่วโมง ทั้งแรงลมที่พัดใส่อาคารบ้านเรือนโยกคลอน หลังคาหลุดปลิวและลอยทั่วไปทั้งจังหวัด แล้วแรงคลื่นยักษ์ซึ่งสูงกว่า 2-3 เมตร ยังโถมพัดเข้าใส่แหลมตะลุมพุกจนหมู่บ้านขนาดประชากร 4,000 คนราบเรียบเหลืออยู่เพียง 5 หลังเท่านั้น

พายุโซนร้อนแฮเรียตเริ่มพัดเข้าใส่จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2505 ตั้งแต่ยังเป็นดีเปรสชันจนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในบ่ายวันที่ 25 ตุลาคมนั้น ประมาณ 16.00 น. ทางขอบฟ้าตะวันออกและทิศใต้ก็พลันมืดคลุ้มเหมือนอย่างผืนม่านกั้นแล้วเกิดเป็นสายๆ หลายสายแบบลมงวงช้างหรือลมป่องหรือลมหางหนู แต่ครั้งนี้มีเกิดหลายสายอย่างไม่เคยมีมาก่อน

จากนั้นฝนคงตกหนักต่อไปจนค่ำเวลาประมาณ 19.00 น. ก็เกิดมีลมพัดอู้แรงจากทางทิศเหนือ  บ้านหลายหลังเริ่มพังในขณะที่ทางทิศเหนือนั้นปรากฏเป็นเสียงดังลั่น เห็นแสงสว่างจ้าและน้ำก็ไหลเชี่ยวกรากเป็นฟองแตกพุ่งเข้าใส่แหลมตะลุมพุก

แม้ที่ปากพนังน้ำในแม่น้ำก็ล้นท่วมเมืองเช่นกัน ลม ฝนและน้ำคลื่นยักษ์จากทางทิศเหนือนี้พัดกระหน่ำอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วสงบลง โดยผู้คนเกิดสับสนอลหม่าน บ้านพังบ้างแล้ว ที่เจ็บตายก็ช่วยเหลือกันไป ที่ยังรอดอยู่ต่างก็อพยพไปอยู่บ้านหลังที่ใหญ่มั่นคงแข็งแรงกว่า

บางหลังอยู่กันเป็นร้อยคนเฉพาะที่โรงพระจีนนั้นอยู่กันถึง 300 คน แต่ลมพายุสงบเพียง 5 นาทีเท่านั้น น้ำที่ท่วมอยู่ประมาณ 2-3 เมตร ลดลงเพียง 1 คืบก็บังเกิดลมจากทางทิศใต้พัดหวีดหวือเข้ามาใหม่

คราวนี้ทั้งแรงกว่าและระดับคลื่นก็สูงกว่า บ้านที่ถูกทิ้งโยกไว้นั้นพังในพริบตาขณะที่บ้านหลังมั่นคง จุดอพยพของคนนับร้อยๆ ค่อยๆ ถูกน้ำท่วมท้นจนมิด หรือไม่ก็หลุดลอยย้ายตำแหน่ง แตกรานกระทั่งไปกระทบต้นไม้ หลายหลังถูกคลื่นซัดพาลงไปกลางทะเล โดยทุกหลังล้วนแต่มีผู้คนแออัดยัดเยียดติดไปด้วย

จากคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตจากบางหลัง หลังละเพียง 2-3 ชีวิต เล่าว่าต่างกระเสือกกระสนดิ้นรนไม่ผิดกับแมวที่ถูกจับใส่กล่องโยนน้ำ ระลอกหลังนี้พายุพัดอยู่อีก 1 ชั่วโมงจึงสงบ พร้อมกับระดับน้ำที่ลดลงทิ้งซากผู้คนสิ่งของที่ลอยไว้ตามยอดมะพร้าวและป่าแสม รวมทั้งผู้ที่รอดชีวิตทั้งหลายด้วย ส่วนบนพื้นนั้น ซากศพ อาคารบ้านเรือนสิ่งของต่างๆ ระเกะระกะไปทั่ว

ผู้คนที่รอดตายไปติดอยู่บนต้นไม้บ้าง ขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าง ส่วนที่ทนกับแรงน้ำ แรงลมไม่ไหวก็เสียชีวิต หายไปในทะเลบ้าง บ้านพักทับบ้าง ส่วนที่รอดตายบางคนเหลือแต่ร่างกาย เสื้อผ้าหายไปหมด  บางคนก็สติฟั่นเฟือน รุ่งเช้าผู้คนที่รอดตายก็พยายามช่วยเหลือกัน บ้างก็ร่ำร้อง ผู้ประคองตัวเองได้ก็ตามหาญาติ อาหารก็ไม่มีกิน ต้องหามะพร้าวอ่อนกินประทังชีวิตไว้ก่อน

ผู้ที่แข็งแรงพอจะเดินได้ก็พยายามเดินมุ่งหน้าเข้ามาในอำเภอปากพนัง เพื่อแจ้งให้ทางการได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชม. เมื่อทางอำเภอได้รับทราบก็ร่วมมือกับพ่อค้า ประชาชนช่วยเหลือถึงแม้นในตัวอำเภอเสียหายเหมือนกันแต่ยังน้อยกว่า

มหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกคราวนั้น มีคนตายและสูญหายถึง 1,030 คน บาดเจ็บสาหัส 422 คน  ไร้ที่อยู่อาศัย 16,170 คน อาคารบ้านเรือนทั่วทั้งจังหวัดพังทั้งหลัง 22,296 หลัง ชำรุด 50,775 หลัง  สวนยางสวนผลไม้เสียหายประมาณ 791 ล้านต้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยความโทมนัสพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต กระจายข่าวอย่างละเอียด เชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคกับในหลวง รวบรวมสิ่งของ เครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม  และเงินตามศรัทธา เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยดังกล่าว

เพียงเวลาไม่นานนัก ประชาชนที่รับฟังข่าวจากวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ต่างก็หอบหิ้วสิ่งของ ตามที่มีอยู่และซื้อหามาได้ ทั้งถุงข้าว เสื้อผ้า จอบ เสียม หม้อ กระทะ เข้าสู่พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นทิวแถว ได้ข้าวของมากมายกองเต็มไปหมด

และมีพระบรมราชานุเคราะห์ผู้ประสบวาตภัยในครั้งนี้หลายๆ ประการ รวมทั้งการก่อกำเนิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ก็เกิดขึ้นในครั้งนี้เช่นกัน.

-----------
ข้อมูลจาก, ภาพ: เว็บไซต์เมืองคอน.com, เว็บไซต์เทศบาลเมืองทุ่งสง
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"