จังหวัดสุรินทร์จัดเป็น 1 ใน 55 เมืองรอง หรือ Go Local ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เชิญชวนให้ทุกคนมาเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ๆ ภายใต้โครงการ “เที่ยวให้เท่ ... เที่ยวนอกกรอบ” ออกไปเที่ยวเมืองรอง ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย สะท้อนอารยธรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดินแดนอีสานใต้ รวมทั้งยังมีแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรครบวงจรที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เปิดให้พสกนิกรชาวไทยเข้ามาพักผ่อนได้ทุกวันไม่ว่าจะเป็นวันหยุดหรือวันธรรมดา
นางสาวธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการเกษตรอย่างครบวงจรแห่งใหม่ ที่ขอแนะนำให้ทุกคนได้มีโอกาสมาเที่ยวชมกันคือ “ซแรย์ อทิตยา” ตั้งอยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำอำปึล ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งในโครงการพิเศษในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ที่ทรงตั้งพระทัยให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรในพระดำริภายใต้การดูแลของ ‘โครงการเกษตรอทิตยาทร’
คำว่า “ซแรย์ อทิตยา” เป็นภาษาเขมรท้องถิ่น ซึ่งแปลว่า “นา” ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ซึ่งพระองค์ได้ประทานสัญลักษณ์ประจำโครงการฯ อันมีความหมายดังนี้ อักษร “อ” (ออ-อ่าง) สีม่วง เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ที่ทรงเป็นศูนย์รวมใจของเกษตรกร ล้อมรอบด้วยลายกนก แสดงถึงวัฒนธรรมภาคอีสาน และรวงข้าวสีทองเป็นรูปหยดน้ำ แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเกษตรให้รุ่งเรือง หยดน้ำแสดงถึงความร่มเย็น อุดมสมบูรณ์ เปรียบเสมือนน้ำพระทัยที่หยดลงบนผืนดินนั้นให้เจริญงอกงาม แสดงถึงพระปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นพัฒนาการเกษตรของไทยและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรให้ก้าวล้ำนำสมัยตามความก้าวหน้าทางสังคมในยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา จะพบบรรยากาศที่ “ซแรย์ อทิตยา” สวยงามและสบายๆ เป็นกันเอง โดยขณะนี้ได้มีการพัฒนาพื้นที่ให้มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการเกษตรอย่างครบวงจร ในจังหวัดสุรินทร์และพื้นที่ใกล้เคียง
ภายในโครงการประกอบด้วย โรงเรียนชาวนา พื้นที่จัดแสดงความรู้เรื่องข้าว ประเพณีวัฒนธรรม และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะทางสรีรวิทยาของข้าว ปฏิทินแสดงระยะเวลาการเจริญเติบโต และช่วงเวลาการจัดการในการผลิตข้าวหอมมะลิ ซึ่งถือเป็นฐานการเรียนรู้หลัก โดยจัดแบ่งเป็นนิทรรศการฐานการเรียนรู้ทั้ง 6 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้ที่ 1 ความรู้เรื่องข้าว ประเพณีวัฒนธรรมและการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ฐานการเรียนรู้ที่ 2 ทรัพยากรดิน การรักษาดินและการฟื้นฟูดิน ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การปลูกต้นปอเทือง
ฐานการเรียนรู้ที่ 3 ระบบนิเวศแปลงนา การป้องกันกำจัดโรคด้วยพืชสมุนไพรตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และประโยชน์ของแมลงศัตรูข้าวตามความสมดุลของระบบนิเวศ ฐานการเรียนรู้ที่ 4 การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะการปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 อย่างมีประสิทธิภาพ ฐานการเรียนรู้ที่ 5 กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และฐานการเรียนรู้ที่ 6 การแปรรูปข้าว เพิ่มคุณค่าสารอาหาร และเพิ่มมูลค่าเศรษฐศาสตร์สำหรับชาวนาไทยนอกจากจะเป็นฐานการเรียนรู้แล้ว ที่นี่ยังมีเนื้อที่อีกร่วมๆ 20 ไร่ที่กันไว้สร้างอาคารที่พัก ด้วยจุดมุ่งหมายให้ผู้เข้าพักได้ใช้บริการแปลงนาทดลอง อีกทั้งยังได้สัมผัสบรรยากาศของท้องทุ่งนา โดยหากมีความประสงค์ที่จะทดลองปักดำนาในแปลงนาก็สามารถร่วมกิจกรรมกับทางโครงการได้
(หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง)
ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ไม่ควรพลาดและสามารถเดินทางมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เริ่มที่ “ศูนย์คชศึกษา” หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม เป็นหมู่บ้านช้างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองสุรินทร์
นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีความเป็นอยู่ ความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับช้าง รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรมของชาวบ้านที่มีช้างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวส่วย (กูย) หรือกวย จะมีความชำนาญในการคล้องช้างป่า และมีวิธีการฝึกหัดช้างและเลี้ยงช้างที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะฉะนั้นถ้านักท่องเที่ยวได้ไปเยือนที่นี่นอกจากจะได้เที่ยวชมช้างและชุมชนเพลินๆ แล้ว ก็ยังจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง พร้อมทั้งยังจะได้ทำกิจกรรมกับช้างด้วย
(หมู่บ้านหัตถกรรม “เครื่องเงินเขวาสินรินทร์”)
หมู่บ้านหัตถกรรม “เครื่องเงินเขวาสินรินทร์” เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำเครื่องเงินโบราณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดสุรินทร์ เรียกว่า “ลูกปะเกือม” เป็นการนำแผ่นเงินมาตีเป็นรูปกลมๆ หรือรีเกลี้ยงๆ แล้วนำมาลงยาและลงลายต่างๆ เช่น ลายไข่แมงดา ลายดอกพิกุล โดยนิยมทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรี เช่น กำไล เข็มขัด สร้อยคอ ต่างหู
(บ้านท่าสว่าง)
หมู่บ้านผ้าไหมยกทองโบราณ “บ้านท่าสว่าง” ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง เป็นชุมชนที่ทอผ้าไหมยกทองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีกลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา เป็นแกนนำสำคัญ โดยผ้าไหมยกทองของที่นี่จะโดดเด่นในเรื่องของวิธีการทอที่จะทอแบบราชสำนักโบราณ พร้อมทั้งมีลวดลายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ ต้องใช้ความประณีตในการทอ ผู้ทอจะต้องมีความชำนาญ ผ้าทอแต่ละผืนจึงต้องใช้เวลานานในการทอ ที่นี่จะมีพิพิธภัณฑ์ของอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ซึ่งเป็นผู้นำในชุมชน จัดแสดงเกี่ยวกับกระบวนการทอผ้า และเก็บรักษาผ้าไหมไทยเก่าแก่และมีลวดลายสวยๆ ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชม ทั้งนี้ก็มีผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและสินค้าพื้นเมืองจากชุมชนให้เลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วยเช่นกัน
(ปราสาทศีขรภูมิ)
“ปราสาทศีขรภูมิ” ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นปราสาทขอมงดงามที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ ใครที่ชื่นชอบสถาปัตยกรรมขอมแบบโบราณพลาดไม่ได้เลย ด้วยลักษณะของตัวปราสาทมีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ โดยปรางค์ประธานมีความสูงประมาณ 32 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐทั้งหมด ส่วนจุดไฮไลต์ที่เมื่อมาแล้วต้องมาชมคือ ภาพทับหลังหินแกะสลักรูปพระศิวะเต้นรำ ที่มีความสวยงามน่าตื่นตาเป็นอย่างยิ่ง
(วนอุทยานพนมสวาย)
วนอุทยานพนมสวาย มี “พระพุทธสุรินทรมงคล” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองสุรินทร์และสถูปหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พร้อมทั้งมีธรรมเนียมการเคาะระฆัง 1,080 ใบ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าอานิสงส์ของการตีระฆังจะส่งให้เป็นผู้มีชื่อเสียงขจรไกล
(วัดบูรพาราม สุรินทร์)
ยังมีวัดบูรพาราม ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระชีว์” พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดสุรินทร์ ผู้นับถือมักมาบนบานศาลกล่าวเพื่อให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและประสบโชคดีต่างๆ
“ผามะนาว” ตั้งอยู่ที่ อำเภอกาบเชิง มีลักษณะเป็นผาหินเรียบๆ เรียงราย สามารถปีนป่ายหินก้อนเล็กใหญ่เพื่อเสาะหามุมสวยๆ ได้ตามใจชอบ ทิวทัศน์จากผาสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น แต่หากจะดูพระอาทิตย์ตกก็จะต้องไปดูบนเส้นทางที่ขึ้นเขา แต่ไม่ว่าจะมุมไหนการนั่งดูพระอาทิตย์เปลี่ยนสีก็เป็นความเพลิดเพลินได้
“ทมอโรย” ตั้งอยู่ที่ อำเภอกาบเชิง ชมร่องรอยแกะสลักรูปพระราหูอมจันทร์ ซึ่งเป็นที่สำหรับการไว้บูชาขอพร ทมอโรยมีจุดชมวิวเป็นลานหินกว้าง อยู่บนเนินเขาที่สวยงาม สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเนิน 538 (เขาพนม เบง) ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างไทย-กัมพูชา ทมอโรย (เป็นภาษาเขมร) ความหมายว่าหินจำนวนมาก (หินเป็นร้อย) ทมอ แปลว่า หิน หรือเขา โรย แปลว่า ร้อย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติทางทิศใต้ของหมู่บ้านช้างหมอบ หมู่ที่ 14 ตำบลแนงมุด แนวเทือกเขาพนมดงรัก
นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารและจุดถ่ายรูปเช็กอินที่น่าสนใจ อาทิ “ร้านอาหารทิพย์รส” อาหารเด็ดคือ ข้าวหมูเค็ม พร้อมอาหารแนวจีนๆ ตั้งอยู่ที่ เทศบาล 1 (วงเวียนน้ำพุเมืองสุรินทร์) อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เบอร์ติดต่อ 0-4451-1179 เวลาเปิดบริการ อังคาร-อาทิตย์: 06:00-14.00 น., ร้านก๋วยเตี๋ยวถนอมมิตร ที่ใครมาลองก็ไม่ผิดหวังเลยสักคน น้ำซุปหอม กลมกล่อม ราคาสบายๆ มีเมนูให้เลือกมากมาย หมูและเนื้อ ลูกชิ้นจะพิเศษ เพราะทางร้านทำเอง ตั้งอยู่ที่ ถนนปัทมานนท์ (ทางไปจอมพระ ขวามือ ผ่านไฟแดงที่ 3) อำเภอเมืองจังหวัด สุรินทร์ เบอร์ติดต่อ 08-9674-3828 ปิดท้ายด้วยร้านกาแฟ ตั้งถาวรฟาร์ม อยู่ที่ อำเภอชุมพลบุรี ปลูกสวนเมลอนในโรงเรือนสดจากไร่ ปลอดภัยไร้สาร ที่นี่จำหน่ายเมลอนผลสด และมีทุ่งดอกไม้สวยงามภายในฟาร์ม
(อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม))
“นี่คือแหล่งท่องเที่ยวนอกกรอบเมืองรองสุรินทร์ ที่ต้องการเชิญชวนมาเที่ยวทุกวัน โดยเฉพาะหากมาในวันธรรมดาเรียกว่าคุ้มค่าแบบสุดๆ เพราะจะได้ห้องพักในราคาโดนใจ และยังใช้บริการร้านอาหาร เข้าชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้อย่างสะดวก ไม่ต้องแย่งกับใคร ที่สำคัญยังช่วยกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและชุมชนต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย” ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์ กล่าวปิดท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8 และ e-mail: [email protected].
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |