ไม่ได้เลื่อนเลือกตั้งกันส่งเดช


เพิ่มเพื่อน    

    ที่จริงอยากฟังชัดๆ 
    จากคนที่บอกว่า การเลือกตั้งต้องมีขึ้นวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์เท่านั้น
    ห้ามเลื่อน!
    กลัวว่าจะไม่ได้เลือกตั้ง 
    กลัวว่าเลือกตั้งจะช้าออกไปอีก ซึ่งตามรัฐธรรมนูญนั้น วันที่ ๙ พฤษภาคมถือเป็นวันสุดท้าย นับจากนี้ไปก็ ๔ เดือน ไม่มีทางเกินนี้แล้ว 
    ไม่ว่ารัฐบาล คสช. จะมีเหตุอันใด ไม่สามารถเลื่อนได้อีก
    เพราะจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 
    และผลของการทำผิดรัฐธรรมนูญ คงไม่ต้องบอกว่า รัฐบาล คสช.จะต้องเจอกับอะไร 
    เพียงแต่วันนี้ ยังได้ยินไม่ชัดเจนว่า เสียงที่ค้านการเลื่อนเลือกตั้ง อันเนื่องมาจากการอธิบายถึงช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีเป้าหมายอะไรกันแน่ 
    ในแง่ของการเลื่อนการเลือกตั้ง ที่มีการรับปากเอาไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เรื่อยมาจนถึง ๒๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๖๒ หากย้อนกลับไป แต่ละครั้งล้วนมีเหตุทั้งสิ้น 
    จะสมเหตุสมผลหรือไม่ ทุกฝ่ายก็รู้ดี 
    ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมของสถานการณ์
    ความไม่พร้อมของรัฐธรรมนูญ
    ล้วนเป็นเหตุให้เลื่อนกำหนดวันเลือกตั้ง
    แต่ใครจะเข้าใจหรือไม่ ก็อยู่ที่ธงของแต่ละฝ่าย 
    สำหรับครั้งนี้คือ สุดท้าย เพราะถูกบังคับด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางเลื่อนออกไปได้อีก ประกาศออกมาเป็นทางการเมื่อไหร่ ก็คือวันนั้น 
    ยกเว้นจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย 
    ที่อยากฟังเหตุผลว่าเลื่อนไม่ได้ นอกจากด่าเรื่อง รัฐบาลทหาร ทรราช สืบทอดอำนาจ แล้ว มีเหตุผลอื่นในใจอีกหรือไม่ 
    ขณะที่การอธิบายถึงสาเหตุต้องเลื่อน ซึ่งก็เลื่อนไม่กี่วัน เพราะต้องสับหลีกไม่ให้กิจกรรมต่างๆ ไปตรงกับวันเตรียมงานพระราชพิธี ที่กางปฏิทินออกมาก็รู้ได้ทันที ว่าควรกำหนดทำอะไรวันไหน 
    แต่ดูเหมือนว่าคนบางกลุ่มไม่พยายามจะเข้าใจ 
    บางคนออกตัวแรงไปถึงขึ้นว่า อย่าโยงเรื่องล้มเจ้า 
    อย่าโยงเรื่องพระราชพิธีที่คนไทยรอคอย
    ฯลฯ
    "ผล" ทุกอย่างมาจาก "เหตุ" 
    มีเหตุอะไร ที่จะบอกว่า กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองบางกลุ่ม ออกมาคัดค้านการเลื่อนวันเลือกตั้ง  คือกลุ่มล้มเจ้า 
    ยังมองไม่ออก!
    ถ้าจะมี ก็คงเป็นพวกรั้น ไม่ฟังเหตุผลว่า ต้องเลื่อนเพราะอะไร 
    ไม่มีการนำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาโยงกับการเลื่อนวันเลือกตั้ง  
    มีเพียงการอธิบายว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้กิจกรรมการเมือง การเลือกตั้ง ไปชนกับ วันจัดและเตรียมพระราชพิธี 
    คร่อมกันได้ไม่เป็นไร 
    แต่ที่ยังกำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้ "อิทธิพร บุญประคอง" ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ก็อธิบายไปแล้วว่า
    "กกต.จะพิจารณากำหนดและประกาศวันเลือกตั้ง เมื่อพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว"
    เผื่อมีคนไม่พยายามจะเข้าใจว่าพระราชกฤษฎีกาคืออะไร? 
    คัดลอกจากข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า 
    พระราชกฤษฎีกา คือ บัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๕ บัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย"
    การตราพระราชกฤษฎีกา
    ในการตราพระราชกฤษฎีกา ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็น ๓ กรณี คือ
    ๑.พระราชกฤษฎีกาที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราพระราชกฤษฎีกาในกิจการที่สำคัญอันเกี่ยวกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะเป็นการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยของกฎหมาย เพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
    ๒.พระราชกฤษฎีกา ที่ออกมาเพื่อใช้กับฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียวไม่บังคับใช้กับประชาชนทั่วไป  ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลเห็นสมควรตราข้อบังคับใช้ในการบริหารงานทั่วไป ในกิจการของฝ่ายบริหาร เช่น  พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเบิกค่าเช่าบ้านของข้าราชการ เป็นต้น
    ๓.พระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บท คือ พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด ที่ให้อำนาจตราพระราชกฤษฎีกาได้ โดยการวางหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือการจัดระเบียบการบริหารราชการไว้ เช่น พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๒๒ กำหนดว่าการให้ปริญญาใดๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา กรณีนี้กฎหมายแม่บทจะกำหนดแต่หลักสาระสำคัญไว้ ส่วนรายละเอียดให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือให้ออกเป็นกฎกระทรวง
    สาเหตุที่กฎหมายแม่บทมักจะกำหนดแต่หลักการใหญ่ๆ ส่วนในรายละเอียดปลีกย่อยกำหนดให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้น สามารถอธิบายเหตุผลได้ ๔ ประการ คือ
    ๑.ทำให้กฎหมายแม่บทกำหนดอ่านง่าย เข้าใจง่าย เพราะมีแต่หลักการใหญ่ๆ อันเป็นสาระสำคัญ
    ๒.ประหยัดเวลาของผู้บัญญัติกฎหมายแม่บท ที่จะไม่ต้องเสียเวลาพิจารณารายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งสมควรมอบหมายความไว้วางใจให้ฝ่ายบริหารไปกำหนดได้เอง
    ๓.พระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงแก้ไขให้ทันกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายกว่ากฎหมายแม่บท ทั้งนี้ เพราะกฎหมายแม่บทจะต้องผ่านความเห็นชอบของบุคคลหลายฝ่าย
    ๔.ทำให้กฎหมายเหมาะสมกับกาลเวลาอยู่เสมอ เพราะถ้าพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็เพียงแต่แก้ไขพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงเท่านั้น ไม่ต้องแก้ไขตัวกฎหมายแม่บท
    ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา คือ บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือได้รักษาการตามกฎหมายแม่บทที่บัญญัติให้ออกพระราชกฤษฎีกานั้นๆ ตัวอย่าง เช่น พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๔๔ ผู้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา
    ผู้มีอำนาจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ คณะรัฐมนตรี
    ผู้มีอำนาจตราพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ พระมหากษัตริย์
    ร่างพระราชกฤษฎีกา จะใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
    กล่าวโดยสรุป พระราชกฤษฎีกา คือ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี 
    มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย และพระราชกำหนด
    การตราพระราชกฤษฎีกา รัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องจะอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดนั้นๆ เสนอร่าง พระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา โดยร่างพระราชกฤษฎีกานั้น จะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้อง
    เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว จะต้องนำร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกานั้นๆ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 
    จากนั้นจึงนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ต่อไป
    ที่ต้องยกมาให้อ่านยืดยาว ก็เพื่อให้รู้ว่า ณ เวลานี้ อยู่ในกระบวนการไหน 
    ไม่เฉพาะ พรรคการเมือง หรือมวลชนอยากเลือกตั้ง ที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง  
    คนไทยส่วนใหญ่ล้วนต้องการการเลือกตั้งด้วยกันทั้งนั้น 
    แต่ไม่ใช่ สักแต่จะเลือกตั้ง โดยไม่ดูหน้าดูหลัง
    ไม่ใช่มุ่งจะเอาชนะ ต้องเลือกตั้งวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์นี้เท่านั้น โดยไม่สนใจว่ากระบวนการลงตัวหรือไม่ 
    ย้ำอีกทีเลือกตั้งก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างแน่นอน 
    ประเด็นถัดมาพูดกันเยอะ หากประกาศรับรองผลเลือกตั้งหลังวันที่ ๙ พฤษภาคม การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่ 
    มาตรา ๘๕ คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง 
    รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๘ ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๗ (๑) (๒)  (๓) และ (๔) มีผลใช้บังคับแล้ว
    หากตีความว่า "แล้วเสร็จ" ให้หมายรวมถึงการรับรองผลด้วยนั้น ถ้าเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ไม่มีเหตุผลอะไรที่ กกต.จะประกาศรับรองผลไม่ทัน 
    เพราะมีเวลากว่า ๑ เดือน 
    ย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ 
    การรับรองผลการเลือกตั้งล็อตแรก ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ไปจนถึงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม จึงได้ ส.ส.ครบ ๙๕% จึงเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ 
    ใช้เวลาไม่ถึงเดือน 
    ไม่เป็นปัญหาให้การเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ 
    จึงไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล
    ฉะนั้นในภาพรวมการเลื่อนเลือกตั้ง ไม่ได้เลื่อนส่งเดช 
    ก็ไม่ควรมีใครมาก่อกวนแบบส่งเดชเช่นกัน.
                            ผักกาดหอม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"