ไทยต้องเร่ง RCEP เมื่อ CPTPP เดินเครื่อง!


เพิ่มเพื่อน    

    ข้อตกลงเขตการค้าเสรีใหม่ล่าสุดที่เรียกขานกันว่า TPP-11 หรือ CPTPP ที่มีสมาชิก 11 ประเทศร่วมก่อตั้ง มีผลประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา
    สหรัฐฯ ภายใต้อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาเป็นคนริเริ่มให้เกิด TPP หรือ Trans-Pacific  Partnership แต่โดนัลด์ ทรัมป์ฉีกทิ้งหน้าตาเฉย
    ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกแรกเริ่ม วันนี้ก็ยังไม่ได้เป็น แม้จะได้แสดงความสนใจ และกระซิบญี่ปุ่นขอให้ช่วยเชียร์ให้เราเข้าเป็นสมาชิกในจังหวะที่เหมาะควร
    พอทรัมป์เบี้ยว ดึงสหรัฐฯ ออก ญี่ปุ่นก็ก้าวเข้ามาเป็นแกนนำ ยืนยันกับอีก 10 ประเทศผู้ก่อตั้งว่าจะต้องเดินหน้าต่อไป เพราะทุกประเทศเห็นประโยชน์ของการลดภาษีและอุปสรรคการค้าขายต่อกัน
    ประเทศที่เหลือปรับเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ เติมคำว่า Comprehensive and Progressive อันหมายถึงการทำให้ครอบคลุมกว้างขวางและให้ "ก้าวหน้า" มากขึ้น 
    จึงปรับชื่อใหม่ให้เป็น CPTPP โดยไม่สนใจว่าสหรัฐฯ จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้หรือไม่
    ที่เป็นประเด็นสำคัญสำหรับข้อตกลงนี้คือไม่มีจีนอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะแรกเริ่มเดิมทีที่อเมริกาเสนอตั้งเขตการค้าเสรีนี้ก็เพื่อสกัดอิทธิพลของจีน
    เพราะจีนไปผลักดันเขตการค้าเสรีอีกกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคนี้ที่เรียกว่า RCEP หรือ Regional  Comprehensive Economic Partnership ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ รวมถึงอาเซียนทั้ง 10 ชาติ บวกจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เกาหลีใต้, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
    ว่ากันว่าการที่จีนหนุนเนื่อง RCEP นั้นก็เพื่อจะสกัดอิทธิพลของอเมริกาในเอเชียเช่นกัน
    เปรียบเทียบสองกลุ่มนี้แล้วก็จะเห็นว่า RCEP น่าจะใหญ่กว่าทั้งในแง่ของเศรษฐกิจรวมของสมาชิก และพลังอำนาจการต่อรองที่มีทั้งจีน, อินเดียและญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มนี้
    กลุ่ม TPP มีญี่ปุ่น, แคนาดา, เม็กซิโก, เปรู, ชิลี, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, และอาเซียนอีก 4  ประเทศคือ สิงคโปร์, มาเลเซีย, บรูไน และเวียดนาม
    การประกาศเปิดตัวทีพีพีครั้งนี้มีครบทุกประเทศสมาชิกที่ได้ขออนุมัติจากรัฐบาลหรือรัฐสภาของตนเองแล้ว ยกเว้นเวียดนามที่จะผ่านขั้นตอนนี้ในต้นปีและคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในวันที่ 14 มกราคมนี้
    ทีพีพีมีประโยชน์ต่อประเทศที่เป็นสมาชิกตรงที่จะยกเลิกหรือลดกำแพงภาษีของสินค้าที่ค้าขายระหว่างกัน
    แน่นอนว่าทุกประเทศจะมีทั้งได้และเสีย แต่ทุกชาติสมาชิกประเมินแล้วจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียเปรียบจึงยอมลงนามในข้อตกลงนี้
    เช่นญี่ปุ่นบอกว่าจะได้เปรียบจากการส่งออกรถยนต์ที่จะเจอภาษีในต่างประเทศน้อยลง สามารถแข่งขันกับรถจากประเทศอื่นได้ดีขึ้น
    แต่คนญี่ปุ่นก็กลัวว่าสินค้าหลายอย่างจะเข้ามาในตลาดของตัวเองด้วยภาษีที่ต่ำลง มีผลกระทบต่อการผลิตสินค้าหลายตัวเช่นกัน
    ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว, เนื้อหมู, ผลไม้ ตลอดไปถึงสินค้านมเนยทั้งหลาย
    ตัวอย่างเช่นญี่ปุ่นสั่งเข้าเนื้อวัวจากอเมริกาและออสเตรเลียเป็นหลัก ทุกวันนี้มีกำแพงภาษีขาเข้าสูงถึง 38.5% แต่ภายใต้ข้อตกลงใหม่นี้ภาษีนี้จะค่อยๆ ลดลงใน 16 ปี จนท้ายที่สุดจะเหลือเพียง 9%
    ส่วน RCEP ยังอยู่ในกระบวนการต่อรองในรายละเอียด พูดจากันมาหลายปียังไม่สามารถตกลงกันได้ทุกประเด็น เพราะการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ที่กระทบคนหมู่มากและมีผลต่อชาวไร่ชาวนาด้วยนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน 
    แต่เมื่อ CPTPP ใส่เกียร์เดินหน้าแล้ว RCEP ก็คงต้องเร่งฝีเท้าเพื่อขยายผลของการเปิดการค้าให้เสรีมากขึ้น
    เนื่องด้วยเพราะไทยเป็นประธานอาเซียนในปีใหม่นี้ จึงควรเป็นหัวข้อในวาระของไทยในอันที่จะเร่งให้ประเทศสมาชิกเดินหน้าหาข้อตกลงในมวลหมู่ทั้ง 16 ประเทศสมาชิกให้ประกาศใช้ RCEP ในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
    เห็นหรือไม่ว่าญี่ปุ่นอยู่ในทั้งสองกลุ่ม จึงน่าจะเป็นแกนสำคัญในการผลักดันให้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีของเอเชียและแปซิฟิกเดินเครื่องได้อย่างคึกคัก
    สหรัฐฯ ของทรัมป์ไม่เล่นด้วยก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงอะไรนัก เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วหากสองกลุ่มนี้รวมพลังกันได้อย่างจริงจัง ทำให้เห็นผลประโยชน์ที่ทุกประเทศสมาชิกได้จากการประสานมือกัน อย่างไรเสียอเมริกาก็จะต้องทบทวนจุดยืนของตัวเอง
    เพราะแม้ทรัมป์จะยังแข็งขืน ยืนกระต่ายขาเดียวไม่เล่นด้วยกับแนวทาง "การค้าเสรี" แต่หากคนอเมริกันเองเห็นว่าทรัมป์ทำให้คนมะกันเสียประโยชน์ ด้วยวิธีการคิดอันคับแคบแบบ America First  ทรัมป์ก็จะต้องปรับเปลี่ยนท่าที และอาจจะต้องหันมาขอร่วมวงด้วยก็ได้
    อีกทั้งทรัมป์อาจโดนกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนที่เรียกว่า impeachment ในปีใหม่นี้ จนกลายเป็นเป็ดง่อยไม่มีอำนาจบารมีพอที่จะบริหารประเทศ
    และแม้ทรัมป์จะรอดการถูกเด็ดหัวในปีนี้ อีกสองปีก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว
    ใครจะบอกได้ว่าทรัมป์จะรอดไปถึงตอนนั้น หรือแม้จะยังอยู่รอด ใครจะบอกได้ว่าเขาจะไม่ถูกสอยร่วงระหว่างทาง หรือแพ้ภัยตัวเองในการเลือกตั้งคราวหน้า?
    เมื่อภาพเป็นเช่นนี้ ไทยเราจึงควรจะต้องออกแรงสุดฤทธิ์ในปีใหม่นี้ เพื่อเล่นบทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ RCEP คลอดออกมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"