ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง'บิ๊กตู่'หนุนกสศ.ใช้ระบบ'ไอ-ซี'สแกนยิบดูแลการศึกษาเด็กยากจน


เพิ่มเพื่อน    

7 ม.ค.62 นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตอนหนึ่งว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของประเทศมายาวนานทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งหนึ่งในต้นตอของปัญหาของความเหลื่อมล้ำของไทยก็คือการศึกษา 

รัฐบาลนี้ได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาและผู้สนับสนุนจากหลายฝ่าย เร่งดำเนินการให้มีกองทุน กสศ.เพื่อจะดูแลและส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในหลายมิติ เช่น ช่วยเหลือและสนับสนุนให้เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ล่าสุด ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือเรียกว่า ไอ-ซี (iSEE) ที่เป็นระบบรายงานข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อช่วยให้ผู้ทำนโยบายมองเห็นสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อไม่ให้มีเยาวชนคนใดถูกทอดทิ้ง 

โดยสามารถเรียกดูข้อมูลรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ และจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษได้ตลอดเวลา รวมทั้งข้อมูลของสถานศึกษาทั้ง 30,000 แห่ง ผลการเบิกจ่ายงบประมาณของกองทุนฯ ทั้งในระดับประเทศ จังหวัด สถานศึกษา ไปจนถึงระดับผู้เรียน ซึ่งต่อไปจะเชื่อมโยงกับข้อมูลของโครงการลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 นายสุภกร กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรียังระบุด้วยว่า กสศ. และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เริ่มดำเนินงานเรื่องนี้แล้วในปีการศึกษา 2561 โดยหลังการเปิดระบบเมื่อวันที่21ธ.ค.ที่ผ่านมา มีนักเรียนยากจนพิเศษทั้งสิ้นกว่า4แสนราย ทั้งนี้จะมีระบบติดตามเงื่อนไขการรับเงินอุดหนุน ผ่านแอพพลิเคชั่น CCT ที่กำหนดไว้ว่านักเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าวต้องมีอัตราการมาเรียนเกินกว่าร้อยละ80 ตลอดปีการศึกษา ซึ่งครูจะสามารถแจ้งนักเรียนที่ขาดเรียนในแต่ละวัน รวมทั้งจะมีการติดตามผลการเรียนตลอดจนน้ำหนักและส่วนสูงของเด็ก เพื่อดูแลให้มีพัฒนาการที่สมวัย โดยสามารถทำงานในทุกขั้นตอนบนแอพพลิเคชั่นไม่ได้ใช้กระดาษ (Paperless)

นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของประเทศยังถือว่าทำได้ไม่มากเท่าที่เราคาดหวัง ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณที่ลงไปสนับสนุนไม่ตรงจุดอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ยังมีความเหลื่อมล้ำให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ระบบ iSEE นี้ ถือว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยภาครัฐเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรงกับความต้องการของเยาวชนของชาติแต่ละรายได้ อีกทั้งยังมีเงื่อนไขที่นักเรียนต้องปฏิบัติเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือด้วย ต้องขอบคุณทุกท่าน ที่ช่วยกันพลิกโฉมการบริหารจัดการระบบการศึกษาของประเทศ และขอให้ กสศ. กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนและครูในการกรอกข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลที่ต้องดูแลความเป็นส่วนตัวของข้อมูลนักเรียนเหล่านี้ด้วย

ทั้งนี้ นายสุภกร ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการโอนเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ว่า หลังจากที่ กสศ. ได้รับรายชื่อนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 4 แสนคน พร้อมทั้งข้อมูลบัญชีธนาคารของโรงเรียนและผู้ปกครองที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากคณะกรรมการสถานศึกษาระหว่างวันที่17-21 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา ล่าสุด ณ วันที่ 5ม.ค.2562 กสศ. ได้ทยอยโอนเงินอุดหนุนไปยังโรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษที่ส่งข้อมูลเข้ามาได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ผ่านธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คิดเป็นงบประมาณจำนวนราว382 ล้านบาท ครอบคลุมโรงเรียนมากกว่า 16,000แห่ง และนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า360,000 คนในพื้นที่77 จังหวัดทั่วประเทศ 

โดยพบว่ายังมีข้อมูลของนักเรียนยากจนพิเศษอีกประมาณ70,000 คนในสถานศึกษาอีกราว 6,000 แห่งที่ข้อมูลเลขบัญชีและชื่อบัญชียังไม่สอดคล้องกับฐานข้อมูลของธนาคาร เช่น ไม่พบเลขบัญชีหรือชื่อบัญชีในฐานข้อมูลของธนาคาร เลขที่บัญชีกับชื่อเจ้าของบัญชีไม่ตรงกัน มีการเปลี่ยนชื่อนามสกุล เป็นต้น กสศ.ขอความร่วมมือโรงเรียนตรวจสอบข้อมูลที่ยังผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วนเพื่อแก้ไข  ดังเช่นข้อมูลของนักเรียนส่วนใหญ่ที่กำลังได้รับโอนเงินอุดหนุนอยู่ในขณะนี้ จากนั้น กสศ.จึงจะสามารถโอนเงินให้อย่างถูกต้อง

นายสุภกร กล่าวอีกว่า ในส่วนสถานศึกษาอีก7,070แห่งที่ สพฐ. และ กสศ.ได้ประกาศรายชื่อผ่านทาง https://cct.thaieduforall.org และผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศไปแล้วว่า ยังไม่มีการบันทึกข้อมูลเข้าเมื่อวันที่17-21 ธ.ค.2561 ยังมิได้แจ้งข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษแก่ กสศ. ทำให้นักเรียนยากจนพิเศษในโรงเรียนกลุ่มดังกล่าวอาจเสียโอกาสได้รับการช่วยเหลือ กสศ.ใคร่ขอความร่วมมือโรงเรียนส่งข้อมูลเหล่านี้เข้าไปให้เรียบร้อยก่อนโดยเร็ว โดย กสศ.จะเปิดระบบให้โรงเรียนบันทึกผลการรับรองข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษ (นร.05) ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสถานศึกษาแล้วได้อีกครั้งระหว่างวันที่7-11 ม.ค. 2562 และเมื่อบันทึกข้อมูล นร.05 แล้วเสร็จ สถานศึกษาจะสามารถบันทึกข้อมูล 04 ของนักเรียนยากจนพิเศษให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ระหว่างวันที่ 17-25 ม.ค.2562 นี้ สถานศึกษาที่ดำเนินการได้ทันเวลาจะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนภายในเดือน ก.พ. 2562 นี้ 

ส่วนสถานศึกษาที่ไม่สามารถบันทึกข้อมูลได้ทันในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้นักเรียนเสียสิทธิ์ไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษในปีการศึกษา2561 อย่างไรก็ตามในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ทาง กสศ. เปิดสายด่วนบริการข้อมูลให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน รวมถึงปัญหาเชิงเทคนิคในการใช้ระบบต่างๆ โดยสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 02-079-5475กด 1ในวันและเวลาราชการ หรือที่ Facebook : www.facebook.com/cctthailand

“กสศ.ต้องขอขอบคุณทางกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน และที่สำคัญคือคุณครู ที่สละเวลาดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือร่วมใจที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยกัน ปลายทางเราจะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนอย่างยั่งยืน” นายสุภกร ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"