ปภ.สรุป "ปาบึก" ถล่ม 18 จังหวัด เดือดร้อน 2.1 แสนครัวเรือน 6.9 แสนคน เสียชีวิต 1 สูญหาย 1 ราย ยังเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง-ท่วมขัง 6 จ.ใต้ เมืองคอนอ่วม! ถนนโดนตัดขาดหลายเส้นทาง เสาไฟฟ้าล้มไฟดับบางพื้นที่ น้ำป่าทะลักสายเอเชีย 41 รถเล็กสัญจรไม่ได้ คลื่นลมแรงซัดเขื่อนชายฝั่งสงขลาจมหายไปในทะเล
เมื่อวันที่ 6 มกราคม นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 3-5 ม.ค. อิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” ส่งผลกระทบในพื้นที่ 18 จังหวัด รวม 90 อำเภอ 407 ตำบล 2,635 หมู่บ้าน 133 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 212,784 ครัวเรือน 696,189 คน ประชาชนยังอยู่อาศัยในศูนย์อพยพ 8 จุด รวม 1,119 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย คือ นครศรีธรรมราช 2 ราย และปัตตานี 1 ราย ผู้สูญหายในจังหวัดปัตตานี 1 ราย
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแยกเป็น 1.นครศรีธรรมราช เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 23 อำเภอ รวม 155 ตำบล 1,400 หมู่บ้าน 105 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 179,868 ครัวเรือน 539,847 คน ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 อำเภอ อพยพประชาชนในพื้นที่ 5 อำเภอ ประชาชนยังอยู่อาศัยในศูนย์อพยพ 8 จุด รวม 1,119 คน จัดตั้งโรงครัวพระราชทานใน 4 อำเภอ จัดตั้งโรงครัวประทานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ใน 2 อำเภอ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชเปิดให้บริการตามปกติแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยประกาศหยุดเดินรถช่วงสถานี เขาชุมทอง-สถานีนครศรีธรรมราช โดยมีรถรับ-ส่งผู้โดยสารจากสถานีนครศรีธรรมราชไปขึ้นรถไฟที่เขาชุมทอง
2.ปัตตานี เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ รวม 49 ตำบล 126 หมู่บ้าน 1 เทศบาลตำบล 3 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,245 ครัวเรือน 17,339 คน บ้านเรือนเสียหาย 594 หลัง ปัจจุบันปิดศูนย์อพยพในพื้นที่แล้วทั้ง 22 จุด 3.สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ รวม 48 ตำบล 260 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,791 ครัวเรือน 11,013 คน บ้านเรือนเสียหาย 19 หลัง ปัจจุบันปิดศูนย์อพยพในพื้นที่แล้วทั้ง 27 จุด 4.สงขลา เกิดวาตภัยและคลื่นซัดชายฝั่งในพื้นที่ 4 อำเภอ รวม 41 ตำบล 251 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,630 ครัวเรือน 71,250 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 2,129 หลัง ถนนเสียหาย 5 สาย ปัจจุบันปิดศูนย์อพยพแล้วทั้ง 56 จุด 5.นราธิวาส เกิดวาตภัยในพื้นที่ 5 อำเภอ รวม 15 ตำบล 75 หมู่บ้าน 1 เทศบาลตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,513 ครัวเรือน 7,062 คน สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
6.ชุมพร เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ 6 อำเภอ รวม 9 ตำบล 25 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 2,121 คน ปัจจุบันเกิดน้ำไหลหลากจากคลองชุมพรเข้าท่วมอำเภอเมืองชุมพร 7.ตรัง เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ รวม 9 ตำบล 45 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,595 ครัวเรือน 8,419 คน 8.พัทลุง เกิดวาตภัยในพื้นที่ 6 อำเภอ รวม 36 ตำบล 326 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,067 ครัวเรือน 37,620 คน สถานการณ์ภัยเริ่มคลี่คลายแล้ว ปัจจุบันปิดศูนย์อพยพแล้ว 9.ระนอง เกิดน้ำไหลหลากในอำเภอกระบุรี รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18 คน สะพาน 1 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ 10.กระบี่ เกิดอุทกภัยในอำเภอเขาพนม รวม 6 ตำบล 54 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ
11.ยะลา เกิดน้ำท่วมขังในอำเภอเมืองยะลา รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ปัจจุบันปิดศูนย์อพยพแล้วทั้ง 27 จุด 12.เพชรบุรี เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในอำเภอเมืองเพชรบุรี รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 20 ครัวเรือน 13.ประจวบคีรีขันธ์ เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ 5 อำเภอ รวม 9 ตำบล 22 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 297 ครัวเรือน 1,500 คน บ้านเรือนเสียหาย 77 หลัง ผู้บาดเจ็บ 2 ราย เตรียมอพยพประชาชนไปยังศูนย์อพยพองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่รำพึง 1 จุด 40 ครัวเรือน 14.จันทบุรี เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ 3 อำเภอ รวม 7 ตำบล 27 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
15.ตราด เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ 4 อำเภอ รวม 9 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 69 ครัวเรือน 16.ระยอง เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ 3 อำเภอ รวม 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย 17.สมุทรสาคร เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในอำเภอเมืองสมุทรสาคร รวม 5 ตำบล 6 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 689 ครัวเรือน และ 18.สมุทรสงคราม เกิดน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสมุทรสงคราม และ อ.อัมพวา รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
ยังเฝ้าระวังน้ำท่วม 6 จ.ใต้
ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ภาคใต้
ในระยะ 1-2 วันนี้ เนื่องจากยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่ม ดังนั้น ยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจล้นตลิ่งและท่วมขังที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง โดยเฉพาะบริเวณคลองท่าดี อ.เมืองฯ, คลองกลาย อ.ท่าศาลา, คลองท่าเลา อ.ทุ่งสง อ.ลานสกา และต้นแม่น้ำตาปี อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช, แม่น้ำตรัง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง, คลองบางสะพาน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์, คลองสวี อ.สวี คลองชุมพร อ.เมืองฯ จ.ชุมพร และอ่างเก็บน้ำความจุมากกว่า 90% เสี่ยงน้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำล้น อ่างเก็บน้ำห้วยสามเขา อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม จ.เพชรบุรี อ่างเก็บน้ำช่องลม อ่างเก็บน้ำคลองจะกระ อ่างเก็บน้ำคลองบึง อ่างเก็บน้ำไทรงาม จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำ คลองท่างิ้ว จ.ตรัง รวมทั้งภาวะน้ำเค็มรุกล้ำบริเวณปากแม่น้ำ เนื่องจากคลื่นซัดฝั่งทั้งชายทะเลภาคตะวันออกและภาคกลาง
กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศประจำวันที่ 6 ม.ค.ว่า ลักษณะอากาศทั่วไป 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง มีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมามีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
สำหรับลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน “ปาบึก” (PABUK) ปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบน และทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังอ่อนลง
ผู้สื่อข่าวรายงานความเสียหายจากพิษพายุโซนร้อนปาบึก ที่พัดถล่มหลายพื้นที่ใน จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะพื้นที่โซนฝายฝั่งทะเลอ่าวไทย 6 อำเภอ เบื้องต้นพบว่ามีความเสียหายจำนวนมากกระจายไปทุกพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถสำรวจเข้าไปถึงได้ เนื่องจากถนนหนทางถูกตัดขาดหลายเส้นทาง เพราะมีต้นไม้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังได้รับความลำบากมาก รวมทั้งมีสวนยางพารา สวนผลไม้ และสวนทุเรียนในหลายพื้นที่ถูกพายุพัดถล่มล้มราบคาบได้รับความเสียหายจำนวนมาก รวมทั้งด้านปศุสัตว์มีสัตว์ตายจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้ มีเสาไฟฟ้าล้มขวางถนนในหลายพื้นที่ แม้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากทั่วภาคใต้มาเร่งซ่อมและกู้เสาไฟฟ้าอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้กัน แต่ก็ยังมีหลายพื้นที่มีไฟฟ้าดับอยู่
ด้านนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มที่แล้วเช่นกัน ขณะที่ผู้อพยพตามศูนย์อพยพต่างๆ ได้กลับไปบ้านพักของตัวเองกันหมดแล้ว เพื่อกลับไปทำความสะอาดและเร่งซ่อมแซมบ้านพักของตัวเอง โดยมีกำลังทหารกองทัพภาคที่ 4 ตำรวจตะเวนชายแดน ตำรวจในพื้นที่ เจ้าหน้าที่มูลนิธิต่างๆ และจิตอาสาไปร่วมให้การช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านของชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายตลอดทั้งวัน
ขณะเดียวกันที่ ในพื้นที่ ต.แหลมตะพุก อ.ปากพนัง ซึ่งเป็นพื้นหลักที่พายุโซนร้อนพัดถล่ม พบว่าบ้านเรือนราษฎรที่อยู่บริเวณชายทะเลได้รับความเสียหายจำนวนมาก มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ และประชาชนจิตอาสาจากหลายพื้นที่นำสิ่งของข้าวสารอาหารแห้งไปมอบเหลือชาวบ้าน ต.แหลมตะลุมพุกตลอดทั้งวัน ส่วนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ระดับน้ำท่วมขังในถนนซอยต่างๆ เริ่มลดลงเรื่อยๆ
น้ำป่าทะลักสายเอเชีย 41
ที่ จ.ชุมพร นายวิบูลย์ รัตนาภรวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย พล.ต.พรชัย อินทนู ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 44, พ.ต.อ.ภคพล ทวิชศรี รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร ได้ลงพื้นที่ถนนสายเอเชีย 41 ซึ่งเป็นถนนสายหลักขึ้น-ลง 14 จังหวัดภาคใต้ บริเวณสี่แยกปฐมพร-บขส.ชุมพร ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 1-3 ตำบลบ้านนาและตำบลขุนกระทิง อ.เมืองฯ เพื่อสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกผู้ใช้รถใช้ถนนสัญจร เนื่องจากถนนทั้ง 4 ช่องจราจรทั้งขาขึ้นและขาล่องมีน้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมขังระดับน้ำท่วมขังสูง 40 เซนติเมตร ระยะทางยาวกว่า 300 เมตร ตั้งแต่ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรห้ามรถเล็กทุกชนิดผ่าน
ส่วนที่ จ.สงขลา คลื่นลมแรงยังคงพัดถล่มชายฝั่งจังหวัดสงขลาอย่างหนัก โดยเฉพาะถนนเลียบชายทะเล หมายเลข สข.2004 สายสงขลา-นาทับ ต.เกาะแต้ว อ.เมืองฯ แนวเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งแบบชั่วคราว ความยาว 70 เมตร และไหล่ทาง ที่เพิ่งทำเสร็จเมื่อวันที่ 9 พ.ย.61 ถูกคลื่นลมแรงพัดถล่มจมหายไปกับคลื่นยักษ์พายุปาบึก คาดว่าคลื่นกัดเซาะชายฝั่งจนมาถึงถนนเลียบชายทะเลพังเสียหายอีกรอบ
ที่ท่าเทียบเรือ โดยสารเพื่อการท่องเที่ยวปากคลองจิหลาด องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ อ.เมืองฯ จ.กระบี่ ได้มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติทยอยเดินทางลงเรือเพื่อเดินทางไปยังเกาะพีพีจำนวนมาก ภายหลังจากที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ได้มีการประกาศยกเลิกห้ามเรือออกจากฝั่ง ในช่วงที่มีพายุโซนร้อนปาบึก เนื่องจากสถานการณ์ได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่บริเวณท่าเทียบเรือ เช่นเดียวกันกับที่ท่าเทียบเรือ โดยสารขนาดเล็ก บริเวณหาดอ่าวนาง และหาดนพรัตน์ธารา มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติทยอยเดินทางไปลงเรือเพื่อไปท่องเที่ยวตามเกาะแก่งต่างๆ จำนวนมาก
ที่ จ.ตราด อบต.ไม้รูด และปลัดอำเภอคลองใหญ่ ได้ออกมาสำรวจความเสียหาย พบว่า เขื่อนกันคลื่นบริเวณหาดบานชื่น ที่มีความยาวกว่า 2 กิโลเมตร พังไป 3 ช่วง มีความยาวกว่า 100 เมตร ต้นสนชายฝั่งโค่นไป 2 ต้น และยังมีความเสี่ยงที่จะโค่นอีก 3 ต้น รวมทั้งซุ้มอาหารอีก 5-6 แห่งทรุด และมีร้านค้าหลังคาทรุดลง เหตุเพราะพื้นปูนถูกกัดเซาะเป็นหลุมลึก รวมทั้งพื้นด้านข้างห้องน้ำ 2 จุดถูกกัดเซาะเป็นหลุมลึก คาดว่าหากคลื่นทะเลยังไม่สงบจะส่งผลกระทบต่อชายฝั่ง ต.ไม้รูดอีกครั้ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |