อดีต กรธ.ยันจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ไม่นับรับรองผล ส.ส. 60 วัน ยก รธน.50เทียบเคียงไม่ทำให้เป็นโมฆะ วอนอย่าวิตกเกินเหตุ "เพื่อแม้ว" บ่นสิ้นหวัง ผวาเลื่อนเลือกตั้งเท่ากับไม่มีเลือกตั้ง หากไม่ประกาศผลภายใน 9 พ.ค.62 ศาล รธน.ตีความโมฆะ คสช.อยู่ยาว ขณะที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งบุกอนุสาวรีย์ชัยฯ ย้ำไม่ให้เลื่อน "ปิยบุตร" ดอดร่วมชุมนุม เชื่อ 2 งานสำคัญเดินหน้าพร้อมกันได้ แนะรัฐบาลมาจากเลือกตั้งจัดพระราชพิธีสง่างามกว่า
เมื่อวันอาทิตย์ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งและประกาศผลให้ได้ก่อน 9 พ.ค. ซึ่งอยู่ในกรอบ 150 วัน เพื่อป้องกันไม่เสี่ยงถูกร้องเลือกตั้งโมฆะว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดว่า เมื่อ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ครบทั้ง 4 ฉบับ จะต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่ง 150 วันก็คือต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง คือให้คนไปเข้าคูหาเลือกตั้งหรือหย่อนบัตร แต่ไม่รวมถึงการนับคะแนนหรือประกาศแต่อย่างใด ส่วนการประกาศผลกฎหมายกำหนดให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ร้อยละ 95 ภายใน 60 วัน เพื่อให้สามารถประชุมสภานัดแรกได้
“เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผล 11 ธันวาคม 2561 ก็นับวันไป150 วัน ก็จะไปครบวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่ง กกต.จะจัดวันเลือกตั้งในวันใดก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 9 พฤษภาคม 2562" นายชาติชายกล่าว
นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษก กรธ. กล่าวว่า กรธ.ยืนยันมาหลายครั้งแล้วว่าเมื่อกฎหมายประกอบ รธน. 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.62 ส่วนประกาศรับรองผล ส.ส.สามารถทำภายหลังวันเลือกตั้งได้ แต่ไม่เกิน 60 วัน และที่ผ่านมาการจัดเลือกตั้งในอดีตก็ดำเนินการตามบรรทัดฐานนี้ ดังนั้น หากวันที่ 24 ก.พ.62 ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เพราะมีเหตุอันสมควร ก็สามารถขยับได้ แต่ไม่เกิน 150 วัน แต่สุดท้ายหากเกิดประเด็นปัญหาขึ้นในช่วงนั้น ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงก็สามารถไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ อาทิ สนช., กกต.
"แต่หากผู้มีส่วนได้เสียเป็นนักการเมืองจะไปร้องเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาว่าตัวเองเสียหายนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวข้องที่ทำให้ตัวได้หรือไม่ได้เป็น ส.ส. ขณะที่ผู้ไม่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ก็อาจยื่นตีความได้เช่นกัน โดยผ่านช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินหากเห็นชอบตามที่ร้องก็ส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป แต่หากไม่เห็นด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินตีตกไป ดังนั้นจึงไม่อยากให้มีการวิตกจนเกินเหตุ" นายอุดมกล่าว
ก่อนหน้านี้ นายนรชิต สิงหเสนี อดีตโฆษก กรธ.เคยให้ความเห็น โดยยกตัวอย่างกรณีรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติถ้อยคำในทำนองเดียวกัน และพบว่า กกต.ในอดีตเพียงแค่จัดให้มีการเลือกตั้งภายในกำหนดเวลาเท่านั้น โดยในมาตรา 296 ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 บัญญัติว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน...ทั้งนี้ นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ม.295 มีผลใช้บังคับ” ซึ่งถ้อยคำคำว่า “ให้แล้วเสร็จ” ทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ 60 เพียงแต่แตกต่างกันที่กำหนดระยะเวลาเท่านั้น เมื่อดูกระบวนการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ในขณะนั้น มีการทยอยประกาศผลการเลือกตั้ง 8 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 3-29 ม.ค. 2551 จะเห็นได้ว่า กกต.ชุดดังกล่าวจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายใน 90 วัน แต่ประกาศผลเลือกตั้งได้เพียง 403 คน จากนั้นก็ทยอยประกาศรับรองผล ส.ส.ต่อไป แม้จะเลยกำหนด 90 วันไปแล้วก็ตามจนครบจำนวน โดยไม่ทำให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นโฆฆะแต่อย่างใด
เลื่อนเท่ากับไม่มีเลือกตั้ง
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า แค่เรื่องจะกำหนดวันเลือกตั้ง ให้ชัดเจนว่าวันไหนยังทำท่างุนงงกันไปหลายหน่วยงาน ทำให้ต้องตีความเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน หมายความว่าอย่างไร เรื่องง่ายแค่นี้ยังหาคนให้คำตอบไม่ได้ คำตอบที่สังคมวันนี้ต้องการ คือ การจัดการเรื่องการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จนั้นกฎหมายตีความว่าอย่างไร ระหว่างการจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นใน 150 วัน หรือให้รวมหมายถึงต้องมีการประกาศผลให้ลุล่วงอย่างน้อย 95% เพื่อให้สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้ตามกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้คำตอบอยู่ในสายลม โยนกันไป-โยนกันมาอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันระหว่าง กกต.กับรัฐบาล
"ที่น่าเศร้ากว่านั้น เมื่อมีคำถามถึงผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าตอนร่างมีเจตนารมณ์อย่างไร คำตอบที่ได้คือ "มีหน้าที่ร่าง ไม่ได้มีหน้าที่ตีความ" และหากจะถามองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ตีความ แนวทางที่ผ่านมาอาจมีคำตอบคือ เรื่องยังไม่เกิด ยังวินิจฉัยไม่ได้ สรุปว่าการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ยังคงหาคำตอบจากใครไม่ได้เลย เฮ้อ สิ้นหวังประเทศไทย" นายภูมิธรรมระบุ
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากคิดว่ามันติดทุกอย่างก็ติดไปหมด ระยะเวลาประกาศผลเลือกตั้งที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาบอกว่า 60 วัน จนทำให้ไปคาบเกี่ยวกับพระราชพิธีนั้น ถ้า กกต.เร่งประกาศผลการเลือกตั้งให้เร็วกว่า โดยใช้เวลาเพียง 30 วัน ทุกอย่างจะลงตัว และจะเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่ในช่วงงานพระราชพิธีฯ เราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคอยทำหน้าที่ ไม่ใช่ให้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจเป็นผู้ดำเนินการ และประมุขแห่งรัฐในประเทศประชาธิปไตยก็ได้มาร่วมแสดงความยินดีในงานพระราชพิธีฯ ครั้งนี้ด้วยความสบายใจ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “เลื่อนเลือกตั้ง เท่ากับ (อาจ) ไม่มีเลือกตั้ง” ระบุว่า การเลื่อนไป 1 เดือน จากวันที่ 24 ก.พ. เหมือนเป็นเวลาสั้นๆ แต่เวลาเพียง 1 เดือนนี้แหละที่อาจทำให้ไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้อีกเลย การเลื่อนเลือกตั้งไปอีก 1 เดือนนี้ มีนัยแอบแฝงหรือไม่ เพราะเชื่อว่ามีบางกลุ่ม บางพรรคไม่อยากเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง การเลือกตั้งมีแพ้มีชนะ แต่เดิมพันในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงยิ่ง คำว่า "การเลือกตั้งแล้วเสร็จ" หมายถึงภารกิจของการดำเนินการเลือกตั้งทั้งหมดของ กกต.แล้วเสร็จ ซึ่งกินความตั้งแต่การกำหนดวันเลือกตั้ง จนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค. 2562 ด้วย เมื่อมีความแตกต่างกันใน "ภารกิจ" เช่นนี้ ต้องยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น
"การเสนอให้กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 จึงสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญฯ เพราะ กกต.อาจไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายในวันที่ 9 พ.ค.2562 และอาจมีผู้ไปร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ กกต.ถูกฟ้องร้องทั้งแพ่งและอาญา หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สนช.และ ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด ตามบทบัญญัติในมาตรา 263 และ 264 ของรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณายาวนาน อาจไม่มีการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ หรือหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกเมื่อไร ไม่มีใครทราบได้ เพราะบทเฉพาะกาลไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาในสถานการณ์จำลองนี้ ดังนั้น การเลื่อนเลือกตั้งอาจนำไปสู่การไม่มีเลือกตั้งไปอีกนาน" นายสุรพงษ์ระบุ
น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การที่รัฐบาลและ กกต.เผยว่าจะต้องมีการเลื่อนเลือกตั้ง ทุกคนคงทราบดีว่ากระแสสังคมต่อต้านเช่นไร ถึงกับเป็นแฮชแท็กต่อต้านการเลื่อนเลือกตั้งสูงที่สุดของทวิตเตอร์ ถ้าจริงใจต้องการให้มีการเลือกตั้งในต้นปี 2562 จริงอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันกับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการ การเลื่อนเลือกตั้งต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน เพื่อไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะสิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ ถ้ามีการเลื่อนวันเลือกตั้งต้องเลื่อนไปช้าที่สุดคือวันที่ 10 มี.ค. แต่ถ้าเลื่อนไปวันที่ 24 มี.ค. เพราะจากวันเลือกตั้ง กกต.ใช้เวลารับรองผล อีก 60 วัน ซึ่งจะเกินวันที่ 9 พ.ค.2562 เมื่อมีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะเป็นโมฆะ ทำให้ประเทศสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเสียเปล่า อีกทั้งทำให้ประชาชนไทยต้องถูกเผด็จการกดขี่บังคับปกครองต่อไปไม่สิ้นสุด
เลื่อนก็แพ้ ไม่เลื่อนก็แพ้
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น มีข่าวว่าส่งมาที่ทำเนียบรัฐบาลนานแล้วจริงหรือไม่ รัฐบาลควรชี้แจงเรื่องนี้ให้สิ้นความสงสัย เพราะพล.อ.ประยุทธ์มีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยเหตุที่ว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปปราศรัยทุกเวทีว่าคือ พล.อ.ประยุทธ์ บุคคลที่พรรค พปชร.เสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรค พปชร. ผู้คนจึงสงสัยในพฤติกรรมลับๆ ล่อๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ และแทบไม่น่าเชื่อว่า ในที่สุดคณะรัฐประหารก็ยอมตกอยู่ภายใต้การนำของบรรดานักการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยด่าว่าแล้วประเทศจะปฏิรูปไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยแถลงไว้ได้อย่างไร มันเป็นการเมืองน้ำเน่ายิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเสียด้วยซ้ำ
นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สำหรับอภิสิทธิ์ชนไทยๆ เลื่อนก็ไม่ชนะ ไม่เลื่อนก็ไม่ชนะ การเลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรม เป็นธรรมเนียม ที่ต้องกระทำในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าประเทศจะปกครองด้วยระบอบอะไรๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบสหรัฐหรือสหราชอาณาจักร ที่มีสองพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ (ในนาม) มีพรรคเดียวแบบจีน เกาหลีเหนือ หรือเวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศคณาธิปไตยทหารอย่างพม่า ในที่สุดต่างก็ต้องมีเลือกตั้ง คณาธิปไตยทหารไทย ที่เหมือน แต่ก็ต่างจากพม่า ตรงที่ยังมีสถาบันกษัตริย์ แม้จะยื้อ จะเลื่อนเลือกตั้งมาหลายปี ก็คงต้องยอมให้มีเลือกตั้งแน่นอน ที่น่ากลัวสำหรับคณาธิปไตยทหารไทย กับผู้สนับสนุนหลัก+พรรคการเมืองตัวแทน คือ ทำอย่างไรถึงจะ "ไม่แพ้" แล้วถูกชำระ ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าฝ่ายเขา ฝ่ายกระทำรัฐประหารถึงเลื่อนก็แพ้ ถึงไม่เลื่อนก็แพ้ ส่วนฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายถูกรัฐประหารกระทำ ถึงเลื่อนก็ชนะ ถึงไม่เลื่อนก็ชนะ
บ่ายวันเดียวกัน ที่สกายวอล์ก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว, นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ, นายเอกชัย หงส์กังวาน, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมทางการเมือง, นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่น้องเกด ร่วมกันชูป้ายและพัดข้อความว่า "#ไม่เลื่อน" , "#ไม่เลื่อนเลือกตั้ง", “#เลื่อนแม่มึงสิ” เพื่อแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องรัฐบาล และ กกต. ฟังเสียงประชาชน พร้อมตะโกน ไม่เลื่อนเลือกตั้ง ตลอดการชุมนุม โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และนายรังสิมันต์ โรม ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้เข้าร่วมกิจกรรมกิจกรรมด้วย
นายปิยบุตรเปิดเผยว่า ตนมาให้กำลังใจในฐานะประชาชนคนหนึ่งกับผู้ที่รณรงค์ให้มีการเลือกตั้ง เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ข้ออ้างของผู้มีอำนาจที่จะใช้เลื่อนเลือกตั้งจาก 24 ก.พ.62 เนื่องจากช่วงเวลาทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตนมองว่าไม่มีความจำเป็นจะให้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีส่วนร่วมในการจัดพระราชพิธี เพราะเห็นว่าการที่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้จัดพระราชพิธีนั้นจะสง่างามกว่า
"เชื่อว่าหากเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.62 นั้น กกต. จะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ใน 30 วัน ลักษณะเดียวกับการเลือกตั้ง ปี 54 แม้กฎหมาย จะกำหนดไว้ 60 วันก็ตาม จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบกับการจัดงานพระราชพิธีฯ และสามารถให้สองกิจกรรมสำคัญของชาติดำเนินควบคู่ไปได้โดยไม่ต้องเลื่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมา คสช.เป็นคนขยับโรดแมปเลือกตั้งมาถึง 5-6 ครั้ง" นายปิยบุตรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการทำกิจกรรมประมาณ 1 ชั่วโมง กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปตามเส้นทางสกายวอล์ก รอบอนุสาวรีย์ฯ ก่อนสลายการชุมนุมโดยสงบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |