พรรคสาขาทักษิณ-เพื่อไทย หางโผล่ "ยงยุทธ" แกนนำเพื่อชาติ ลั่นกลางเมืองพิษณุโลก ขอโอกาสครั้งที่ 4 พา "แม้ว" กลับไทย พี่น้องชินวัตรควงคู่เข้าจีนหลังปีใหม่ อึ้งประชาชนไม่รู้รูปแบบเบอร์ผู้สมัครเลือกตั้ง เปลี่ยนเป็นต่างเขตเลือกตั้ง ต่างหมายเลข หวั่นคนสับสน-บัตรเสียพุ่ง
แม้วันเลือกตั้ง ส.ส.จะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นวันใด แต่พรรคการเมืองต่างๆ ก็ยังคงเดินหน้าเร่งลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างคึกคัก
ในส่วนของพรรคเพื่อชาติ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.62 นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พร้อมผู้บริหารพรรค เดินทางไปที่หอประชุมเทศบาลตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เพื่อเปิดสถาบันพัฒนาการเมืองพิษณุโลกของพรรค โดยมีนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา และนายจตุพร พรหมพันธุ์ พร้อมแกนนำ นปช.ส่วนหนึ่ง มาร่วมเป็นกำลังใจ รวมทั้งปราศรัยต่อประชาชน โดยมีประชาชนร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 1,500 คน
นายยงยุทธ หนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งพรรคเพื่อชาติที่เป็นสายตรงกับนายทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า วันนี้มาให้กำลังใจ เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในหลักการที่ว่าทำอย่างไรให้บ้านเมืองสามัคคีกัน การเมืองการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เหมือนการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา ทั้งการนับคะแนน วิธีหาเสียง บรรยากาศการเลือกตั้ง แต่เราคาดหวังว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ประชาชนกำหนดอนาคตของตัวเองอย่างแท้จริง เนื่องจากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา พรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถปกครองได้ บ้านเมืองลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้ประเทศเสียโอกาส พรรคเพื่อชาติประกาศว่าเป็นเกาะกลางที่สามารถพูดคุย อยู่ร่วมกันได้ จึงเชื่อว่าบรรยากาศของบ้านเมืองที่สามารถพูดคุยกันได้ก็จะมีความหวัง ถึงแม้จุดยืนจะแตกต่างกัน ก็เชื่อว่าบ้านเมืองยังจะไปต่อได้ จึงมาร่วมเชียร์ให้กำลังใจ
"เราได้พยายามให้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทย 3 ครั้งแล้ว แต่ไม่สำเร็จ จึงขอโอกาสครั้งนี้ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 4 หากได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนเลือกพรรคเพื่อชาติ ที่สำคัญจุดอ่อนที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังเข้าคลอง โดยเฉพาะที่มาและอำนาจของ ส.ว. ทำให้พรรคการเมืองไม่มีความมั่นคง และทำลายขีดความสามารถของคนไทย เช่น คนคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นที่ดี แล้วมีพรรคการเมืองนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็จะถูกตีความว่าเป็นบุคคลภายนอกชี้นำพรรค อาจถูกยุบพรรคได้ ทำให้คนเก่ง คนดีขาดโอกาส" นายยงยุทธกล่าว
ด้านนายจตุพรกล่าวว่า ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีหลายเรื่องที่เป็นปัญหา การที่จะแก้ไข ต้องเข้าไปอย่างถูกต้อง แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่หากมีการพูดคุย โดยเอาชาติบ้านเมืองเป็นหลัก เรื่องยากอาจกลายเป็นเรื่องง่าย วันนี้ตนมาในฐานะกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ ตอนแรกทักไว้ก่อนแล้วว่าวันที่ 24 ก.พ.ไม่ได้เลือกตั้งแน่ การที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม พูดว่าต้องเลื่อนเพราะเกรงว่าจะกระทบงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ขัดข้อง แต่ที่สำคัญต้องดูกฎหมายการเลือกตั้งด้วย ไม่อย่างนั้นจะโมฆะเหมือนปี 2549 และปี 2551 เพราะพระราชบัญญัติกำหนดกรอบไว้ให้เลือกตั้งภายใน 150 วัน มิฉะนั้นประเทศไทยต้องหมดงบไปหลายพันล้าน สุดท้ายก็จบลงด้วยการยึดอำนาจ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย นำว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย จากทั้ง 10 เขตเลือกตั้งของ จ.ขอนแก่น เปิดปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน โดยเริ่มต้นจากตลาดสดเทศบาล 1 ตลาดสดโบ๊เบ๊ และตลาดสดบางลำพู โดยพบปะพูดคุยกับเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งผู้ที่มาจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในตลาดเช้า ที่ต่างพากันมาร่วมถ่ายรูป จับมือ รวมทั้งพูดคุยกับลุงกำนันอย่างเป็นกันเอง ก่อนที่คณะจะเดินไปตามถนนศรีจันทร์ และไปสิ้นสุดที่บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่น เพื่อนำว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรครวมพลังประชาชาติไทยทั้ง 10 เขต 10 คน กราบสักการะขอพรศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดขอนแก่นเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย ต่อการเตรียมความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
จากนั้นนายสุเทพย้ำว่า พรรคยังคงยืนยันที่จะไม่เสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี แม้หลายพรรคการเมืองจะประกาศเปิดตัวบุคคลต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง แต่พรรคยังคงยืนหยัดชัดเจนในการทำงานทางการเมืองที่เป็นการเมืองจริงๆ เป็นการเมืองที่มีจุดยืนที่จะต้องทำงานให้กับประเทศ และประชาชนคนไทยทุกคน อีกทั้งพรรครปช.เป็นพรรคน้องใหม่ การจะทำอะไรนั้นก็ต้องเป็นไปตามอุดมการณ์และนโยบายของพรรคในภาพ รวมทั้งหมด แต่ถ้าหากพรรคได้รับความไว้วางใจจากคนไทยทั้งประเทศจนได้มาซึ่ง ส.ส.มากถึง 250 ที่นั่ง จากนั้นเราค่อยมาคุยกันใหม่ว่าจะทำอย่างไร
พท.ปลื้มคนใต้ต้อนรับหนาแน่น
ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ที่หอประชุมสหกรณ์การเกษตร อ.ควนขนุน จ.พัทลุง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ในฐานะผู้ดูแลผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเปิดตัว นายพอทวี แก้วกลับ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง เขต 2 พรรคเพื่อไทย พัทลุง ท่ามกลางการต้อนรับของประชาชนกว่า 1,500 คน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไม่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทยมาหลายสิบปี จนทำให้หลายคนต้องงุนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้
นายกิตติรัตน์เปิดเผยว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ ทางพรรคเพื่อไทยได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคลงชิงชัยในพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด จำนวน 11 เขต จากการที่ชาวใต้ ได้ให้การต้อนรับของว่าที่ผู้สมัครอย่างล้นหลามทุกจังหวัดในครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดคิด
"เนื่องจากถึงแม้ทางพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคการเมืองใหญ่ เคยเป็นพรรคบริหารประเทศจนเศรษฐกิจประเทศก้าวไกล แต่ทางพรรคก็มีความอาภัพที่มี ส.ส.ในภาคใต้น้อยมาก มั่นใจว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากเผด็จการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรที่รัฐบาลชุดนี้ประสบความล้มเหลวมาโดยตลอด โดยสาเหตุสำคัญมาจากการขาดบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" นายกิตติรัตน์กล่าว
แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่า การฝ่าฟันพายุโซนร้อนปาบึกลงมาพบชาวพัทลุงในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยไม่เคยคาดคิดว่าชาวพัทลุงจะหันมาให้ความนิยมต่อพรรคเพื่อไทยอย่างล้นหลามมากถึงขนาดนี้ มั่นใจว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจะคว้าที่นั่ง ส.ส.ในภาคใต้ในขั้นที่น่าพอใจยิ่ง
'แม้ว-ปู'ควงคู่มาจีนหลังปีใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศมีการเผยแพร่คลิปข่าวสั้นๆ ของนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมายังเมืองซัวเถา สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อไปเยี่ยมญาติพี่น้องฝั่งบิดา เนื่องในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งได้รับการต้อนรับจากพี่น้องคนจีนอย่างคับคั่ง เนื่องจากอดีตนายกฯ ทั้งสองเคยเดินทางมาสักการะสุสานบรรพบุรุษและเยี่ยมญาติพี่น้องฝั่งทางพ่อในช่วงเทศกาลตรุษจีนและปีใหม่เสมอ
ทั้งนี้ หลังจากข่าวแพร่ออกไป ได้มีการแสดงความคิดเห็นของชาวจีนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเด็นการใช้พาสปอร์ตของประเทศใดเข้ามา ซึ่งก็มีการประเมินว่าน่าจะเป็นของประเทศมอนเตเนโกร ขณะที่อีกฟากหนึ่ง ก็มีการแสดงความเห็นว่าคณะรัฐประหารของไทยเอนเอียงไปทางสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ทางการจีนเปิดให้นายกฯ ทั้งสองเข้ามาในประเทศ
วันเดียวกันนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้รายงานว่า การที่ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มทยอยลงพื้นที่หาเสียงตามเขตเลือกตั้งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งมีทั้งทีมงานและรูปแบบวิธีการหาเสียงที่แตกต่างกันไป โดยชูนโยบายหรือแนวทางในการบริหารบ้านเมืองเป็นสำคัญ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้ง กรณี “นโยบายพรรคการเมือง” สวนดุสิตโพลจึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,131 คน ระหว่างวันที่ 1-5 มกราคม 2562 สรุปผลได้ ดังนี้
จากการสำรวจในพื้นที่ กทม.ปริมณฑลและภาคต่างๆ เช่น ภาคกลาง ภาคอีสาน พบว่า 10 นโยบายที่โดนใจประชาชน เรียงลำดับตามภาพรวมได้ดังนี้ 1.แก้ปัญหาความยากจน ขึ้นเงินเดือน เพิ่มค่าแรง เน้นกินดีอยู่ดี ที่ได้เปอร์เซ็นต์มากสุดคือ 40.12 2.กระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาการค้า การส่งออกและอุตสาหกรรม 3.ช่วยเหลือเกษตรกร แก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ 4.ปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน ผู้มีอิทธิพล สิ่งผิดกฎหมาย 5.ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ลดค่าครองชีพ
6.พัฒนาระบบการศึกษา ดูแลครู นักเรียน มีนโยบายเรียนฟรี 7.มีสวัสดิการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนฟรี 8.รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการพลังงาน ขยะ 9.มีธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมือง ปฏิรูปการเมือง ลดความขัดแย้ง 10. ลงทุนด้านการคมนาคม การขนส่ง แก้ปัญหาจราจร
ด้านศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “บัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ปี 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-27 ธันวาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบัตรลงคะแนนเลือกตั้งปี 2562
โดยจากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปี 2562 ว่าต้องกาบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อเลือก ส.ส. เพียง 1 ใบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.55 ระบุว่าทราบ รองลงมาร้อยละ 46.77 ระบุว่าไม่ทราบ และร้อยละ 1.68 ระบุว่าไม่แน่ใจ
สำหรับการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกันจะเป็นแบบ “ต่างเขตเลือกตั้ง ต่างหมายเลข” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.20 ระบุว่าไม่ทราบ รองลงมาร้อยละ 30.88 ระบุว่าทราบ, ร้อยละ 1.84 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปี 2562 แบบ “ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข” ว่าจะมีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.57 ระบุว่าผลเสียมากกว่าผลดี รองลงมา ร้อยละ 24.82 ระบุว่าผลดีกับผลเสียไม่แตกต่างกัน, ร้อยละ 20.67 ระบุว่าผลดีมากกว่าผลเสีย, ร้อยละ 8.14 ระบุว่าไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.80 ไม่ระบุ
ทั้งนี้ โดยผู้ที่ระบุว่าผลเสียมากกว่าผลดี ให้เหตุผลว่า ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จำนวนผู้ไปลงคะแนนเลือกตั้งลดลง และทำให้เกิดบัตรเสียเพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้ที่ระบุว่าผลดีกับผลเสียไม่แตกต่างกัน ให้เหตุผลว่า ไม่มีความชัดเจน ไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ ว่าจะออกเสียงไปในทิศทางใด และผู้ที่ระบุว่าผลดีมากกว่าผลเสีย ให้เหตุผลว่า ทำให้เข้าใจง่าย และมีความเป็นสัดส่วนมากขึ้น
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการกำหนดให้หมายเลขผู้สมัครของพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.66 ระบุว่าเห็นด้วย รองลงมาร้อยละ 24.90 ระบุว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง, ร้อยละ 14.61 ระบุว่าไม่เห็นด้วย, ร้อยละ 2.15 ระบุว่าไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.68 ระบุว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |