ยกระดับคุณภาพชีวิต "แท็กซี่"


เพิ่มเพื่อน    


    เมื่อปลายปีที่ผ่านมา “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์” ได้ผุดสินเชื่อ “โครงการฮัก TAXI เสริมแกร่งแท็กซี่ไทย” ขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตั้งวงเงินดำเนินโครงการไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท รองรับผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ได้ประมาณ 1 หมื่นราย โดยเฉลี่ยเป็นการขอสินเชื่อราว 7 แสนบาท-1 ล้านบาทต่อราย
    ทั้งนี้ ธพว.ได้เปิดให้ผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ที่สนใจยื่นแสดงเจตจำนงเพื่อขอกู้เงินในโครงการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2562 พบว่ามีผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่แสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการฮัก TAXI เสริมแกร่งแท็กซี่ไทยแล้ว 7.4 พันราย ซึ่งผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ยังสามารถแสดงเจตจำนงได้อีกจนกว่าจะครบ 1 หมื่นคน หรือเต็มวงเงินที่โครงการกำหนด
    โดยก่อนหน้านี้ “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ จำนวน 1.21 พันตัวอย่าง พบว่า รายได้ก่อนหักรายจ่ายจากการประกอบอาชีพขับแท็กซี่ ส่วนใหญ่อยู่ที่ 1.6-1.8 พันบาทต่อวัน โดยในจำนวนนี้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย เพียง 39.24% และอีกกว่า 22.19% มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ส่วนอีก 38.57% มีรายได้เท่ากับรายจ่าย ตรงนี้อาจเป็นเรื่องที่สะท้อนได้ชัดว่า อาชีพขับรถแท็กซี่ยังเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน
    นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานภาพของผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่กว่า 58.02% มีการออมเงินเป็นรายเดือน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 796.97 บาทต่อเดือน และอีก 45.53% มีการออมเงินต่ำกว่า 500 บาทต่อเดือน ส่วนอีก 41.98% ไม่มีการออมเงินเป็นรายเดือน ขณะที่ 47.36% ของผู้ขับแท็กซี่ระบุว่า ปัจจุบันไม่มีหนี้สินเพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อหรือการกู้ยืมได้  และอีก 52.64% ระบุว่ามีหนี้สิน โดยส่วนใหญ่เป็น หนี้นอกระบบอย่างเดียว
    ส่วนสิ่งที่ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือ สิ่งแรกคือ ให้มีการปรับมิเตอร์ค่าโดยสารขั้นต่ำจาก 35 บาท เพิ่มเป็น 46-50 บาท รวมถึงช่วยลดภาระหนี้สิน ปรับราคาค่าแก๊สลง ดูแลระดับราคาค่าเช่ารถแท็กซี่ให้เหมาะสม รวมไปถึงกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการปรับลดอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือผู้ขับแท็กซี่
    โดยกลุ่มตัวอย่างแท็กซี่ส่วนใหญ่กว่า 56.91% ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ หากภาครัฐมีการจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อซื้อรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง โดยระบุว่าปัจจุบันอัตราการผ่อนชำระไม่สูง ดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่รับได้ ดังนั้นการจะมีรถเป็นของตัวเองก็จะช่วยลดปัญหาความตึงเครียดในการหาเงินเพื่อมาจ่ายค่าเช่ารถแท็กซี่ ส่วนอีก 16.24% ระบุว่าไม่สนใจเข้าร่วมโครงการ และอีก 26.85% ไม่อยากเข้าร่วมโครงการ ด้วยเพราะไม่อยากมีหนี้สินเพิ่มเติม และคิดว่าขั้นตอนยุ่งยาก
    ธพว.เล็งเห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้ จึงได้จัดทำโครงการสินเชื่อดังกล่าวขึ้นมา เพื่อปล่อยสินเชื่อในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1.22 แสนราย เป็นในพื้นที่กรุงเทพฯ 57.54% และส่วนภูมิภาค 42.46%
    โดยวงเงินดำเนินโครงการนี้ ธพว.จะดึงบางส่วนมาจากโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ที่ ครม.เพิ่งอนุมัติจำนวน 3 หมื่นล้านบาท มาใช้ไม่ใช่แค่การปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่นำเงินไปซื้อรถเท่านั้น แต่ธนาคารยังได้เตรียม 3 แนวทางเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ขับรถแท็กซี่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการสำคัญ “3 เติม” ได้แก่ 1.เติมทักษะ โดยผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ต้องเข้ารับการอบรมการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน การใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น 2. เติมทุน รูปแบบของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3.เติมคุณภาพชีวิต สิทธิประโยชน์ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงในอาชีพ ลดภาระให้ครอบครัว และเข้าถึงสวัสดิการที่ดี
    อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามความสำเร็จของการปล่อยสินเชื่อ “โครงการฮัก TAXI เสริมแกร่งแท็กซี่ไทย” กันต่อ ว่านอกจากการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว การพัฒนาคุณภาพชีวิตในมุมต่างๆ ที่ ธพว.เตรียมไว้รองรับ จะสามารถยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ได้อย่างดีแค่ไหน หรือจะกลายเป็นหนี้เสียให้กับธนาคาร!

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"