ปาบึกพัดลงอันดามัน '7จังหวัด'ฝนถล่มต่อ


เพิ่มเพื่อน    

    กรมอุตุฯ เผย "ปาบึก" ลงอันดามันแล้ว แต่ฝนยังตกหนักใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ส่วนเขตเศรษฐกิจนครศรีฯ ทุ่งสง น้ำป่าทะลักท่วมเมืองอย่างรวดเร็ว เร่งระบายน้ำ 24 ชั่วโมง ปภ.เผยประชาชนสังเวยปาบึกไป 3 ศพ ชาวบ้านอพยพกลับ ทำความสะอาดบ้านแล้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแจงสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 27 แห่ง ขณะที่ชายฝั่งภาคตะวันออกถูกลูกหลงถ้วนหน้า 
    นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่ 25 ลงวันที่ 5 มกราคม 2562 เรื่อง “พายุ “ปาบึก” (PABUK)” โดยระบุว่า เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 5 ม.ค. 62 พายุดีเปรสชัน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลอันดามัน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 55 กิโลเมตร จากชายฝั่งทางทิศตะวันตกของอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา หรือที่ละติจูด 9.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 97.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 
    พายุนี้ได้มีการเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือค่อนทางตะวันตกเล็กน้อย ความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำได้
    สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นไป และทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นไป ยังคงมีกำลังแรง โดยทะเลมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรงและคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรงดการเดินเรือต่อไปอีก 1 วัน
     และขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
     นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุ "ปาบึก" กระทบจังหวัดภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฎร์ธานี สงขลา ชุมพร ยะลา พัทลุง และนราธิวาส โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้เสียชีวิต 2 คน ส่วนจังหวัดปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 1 คน นอกจากนั้น ยังเกิดปัญหากระแสไฟฟ้าดับ เสาไฟฟ้าล้มหลายต้น น้ำทะเลไหลหลาก ผลกระทบจนถึงภาคกลาง ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร บางส่วน หลังจากนี้จะเบาบางลง
     สำหรับใน จ.นครศรีธรรมราช อำเภอที่ยังมีน้ำท่วมขัง คือ อ.ปากพนัง อ.ร่อนพิบูล อ.ทุ่งสง อ.ช้างคลาน จ.สุราษฎรธานี อ.กาญจนดิษฐ์ และ อ.ดอนสัก ส่วนที่ จ.สงขลาที่ อ.ระโนด และ อ.สทิงพระ
     ส่วนการให้ความช่วยเหลือการฟื้นฟู จะมีการตรวจสอบกันอีกครั้ง ก่อนที่จะจ่ายเงินชดเชยและซ่อมแซม
น้ำป่าท่วมนครศรีฯ
     ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรจิตต์ อินทรชิต รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการและบัญชาการสถานการณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศอบ.กษ.) พายุโซนร้อนปาบึก เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เปิดศูนย์อำนวยการและบัญชาการสถานการณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศอบ.กษ.) พายุโซนร้อนปาบึกขึ้น เพื่อติดตามสถานการณ์ รวบรวมข้อมูล และความต้องการช่วยเหลือ ประสานความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสรุปรายงาน สถานการณ์ภาพรวมเป็นรายวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ณ ห้องปฏิบัติการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
     โดยทุกหน่วยงานจะเร่งสำรวจความเสียหายด้านการเกษตรและเข้าให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด ด้านปศุสัตว์ กำหนดจุดอพยพสัตว์ สำรองเสบียงสัตว์ ด้านพืช ด้านประมง กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมประมงได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึกด้วยแล้ว
    นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สถานการณ์ของสภาพดินฟ้าอากาศถือว่าดีขึ้นมากแล้ว แม้มีเมฆอยู่บ้าง ซึ่งผู้อพยพที่ประเมินแล้วว่าพื้นที่ปลอดภัยก็ให้ทยอยเดินทางกลับบ้านแล้ว ยกเว้นพื้นที่ชายฝั่งทะเลได้ให้นายอำเภอไปสำรวจดูว่ายังคงมีคลื่นยกตัวสูงหรือไม่ ถ้ายังไม่ปลอดภัย ก็ขอให้อยู่ที่ศูนย์อพยพไปก่อน ซึ่งทางจังหวัดพร้อมที่จะดูแล 
    อย่างไรก็ตาม ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย ซึ่งมีผู้จมน้ำและเป็นลม และประสบอุบัติเหตุในระหว่างที่มีพายุ แต่สิ่งที่ต้องรับมือในขณะนี้หลังพายุผ่านไปคือ พื้นที่ท้ายน้ำที่เป็นลุ่มต่ำเพราะฝนตกในพื้นที่เชิงเขาค่อนข้างมาก น้ำกำลังไหลลงมาท่วม เช่น พื้นที่อำเภอทุ่งสง และเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งกำลังมีการเร่งสูบน้ำเพื่อระบายออกอย่างเต็มที่ 
    ในส่วนของพี่น้องประชาชนที่กลับจากศูนย์อพยพไปอยู่ที่บ้านแล้ว ก็ขอให้ช่วยกันดูแลทำความสะอาดเก็บกวาดบ้านเรือนของตัวเอง ชุมชน โดยมีส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น จิตอาสาพร้อมที่จะช่วยเหลือดูแล จากนี้ไปหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปสำรวจความเสียหาย ทั้งบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ปศุสัตว์ ประมงและทรัพย์สินต่าง ๆ
ระบายน้ำออกทะเล
    สำหรับระดับน้ำในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งรับมวลน้ำจากคลองท่าดี ที่ไหลลงมาจากอำเภอลานสกานั้น ขณะนี้ยังคงเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งกรมชลประทานและเทศบาลนครนครศรีธรรมราช กำลังเร่งใช้เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง 
    นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้เร่งตัดต้นไม้ที่ล้มทับบ้านเรือนของประชาชนและขวางถนน โดยเฉพาะที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้นตะเคียนขนาดใหญ่ ถูกแรงลมพายุพัดล้มจำนวนกว่า 10 ต้น แต่ยังโชคดีที่ต้นไม้ไม่ล้มทับอนุสาวรีย์เจ้าพระยานคร (น้อย) แต่ไปล้มทับบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามได้รับความเสียหายบางส่วน ในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ระดมทีมช่างเทคนิคจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดใกล้เคียง เช่น ยะลา กระบี่ เป็นต้น มาช่วยเร่งปักเสาไฟฟ้าที่หักโค่น เพื่อให้สามารถจ่ายไฟเข้าสู่ระบบได้โดยเร็วที่สุด
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีน้ำป่าจากเทือกเขาหลวงนครศรีธรรมราช ซึ่งเกิดจากฝนตกหนักตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ ทำให้มีมวลน้ำป่าจำนวนมากได้ไหลบ่าลงคลองท่าดี อ.ลานสกา และไหลบ่าท่วมในหลายพื้นที่ของ อ.ลานสกา และน้ำป่าได้ไหลท่วมถนนสายนครศรีธรรมราช-ลานสกา บริเวณสะพานวังก้อง ทำให้ถนนขาดรถไม่สามารถผ่านสัญจรได้ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา 
    จากนั้นน้ำป่าได้ไหลท่วมหลายพื้นที่ใน อ.พระพรหม อ.เมืองนครศรีธรรมราช ใน ต.ไชยมนตรี ต.กำแพงเซา อ.มะม่วงสองต้น ต.โพธิ์เสด็จ และน้ำป่าได้ไหลเข้าท่วมถนนทุกซอกซอยต่างๆ ในเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช โดยชุมชนบ่อทรัพย์ ชุมชนหน้าสถานีรถไฟ ชุมชนประตูขาว ชุมชนท่าโพธิ์ ชุมชนมุมป้อม ชุมชนบ่ออ่าง และยังท่วมถนนเลียบทางรถไฟ ถนนเทวบุรีในระดับสูงประมาณ 30-50 ซม. ทำให้รถสัญจรไปมาไม่ได้บนถนนสายดังกล่าว คาดว่าภายใน 1-2 วันหากฝนไม่ตกลงมาซ้ำระดับน้ำในเขตเทศบาล ก็จะลดลงสู่ภาวะปกติแน่นอน
    พายุโซนร้อนปาบึกส่งผลกระทบมาถึงจังหวัดเพชรบุรีแล้ว โดยเกิดคลื่นสูง 3-4 เมตร ตลอดแนวชายฝั่งตั้งแต่พื้นที่อำเภอชะอำ หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง  และอำเภอบ้านแหลม ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงสุดทำให้มีคลื่นสูงมากกว่าปกติ โดยน้ำทะเลได้ซัดแนวชายฝั่ง ซัดเข้าร้านอาหารที่อยู่ริมชายหาด ได้รับความเสียหายจำนวนหลายแห่ง และน้ำได้ท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชนในขณะที่กำลังนอนหลับ โดยประชาชนเก็บสิ่งของไม่ทันได้รับความเสียหายจำนวนมาก
ภาคตะวันออกก็โดน
    เช่นเดียวกับชายฝั่งภาคตะวันออกได้รับผลกระทบเช่นกัน นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และนายอวิรุทธ์ วรกิตติ์ไพศาล หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี ได้ลงพื้นที่ไปใน 3 อำเภอ คือ อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอท่าใหม่ และอำเภอนายายอาม หลังถูกพายุปาปึกพัดถล่มในรอบ 30 ปี ทำให้บ้านเรือนของชาวบ้าน รีสอร์ต และเรือประมงได้รับเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดพบว่ามีบ้านเรือนของชาวบ้านถูกพายุพัดและน้ำทะเลซัดเข้าท่วมบ้านกว่า 30 หลังคาเรือน เรือประมงถูกคลื่นซัดจมทะเลไปกว่า 10 ลำ และรีสอร์ตที่อยู่ติดชายทะเลถูกพายุพัดเสียหายไป 5 หลัง
    นางจำปา เนินทราย ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า แฟนได้ลุกขึ้นมาตอนตี 3 พบว่าคลื่นลมแรงได้ซัดเรือประมงของตนเองที่จอดหลบคลื่นอยู่จมทะเล รวมทั้งมีเรือประมงของเพื่อนบ้านก็ถูกคลื่นซัดจมทะเลไปเช่นกัน โดยพบว่าในช่วงเช้ามีคลื่นลมแรงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบบ้านเรือนพังเสียหายเป็นวงกว้าง เพราะไม่รู้ว่าพายุลูกนี้จะซัดมาด้านจังหวัดจันทบุรี ทำให้ไม่ได้เตรียมตัวจึงเกิดผลกระทบอย่างที่เห็น
    ส่วนชายฝั่งทะเล จ.ตราด ตั้งบ้านปากคลองบางกระดาน อ.แหลมงอบ จ.ตราด ถึงบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด มีระดับน้ำสูงขึ้น และมีคลื่นแรง มีความสูง 2 เมตร และซัดเข้าชายฝั่งทำให้บ้านเรือนที่ปลูกอยู่ริมทะเลมีน้ำท่วมบ้าน สะพาน ชายฝั่งได้รับผลกระทบชายหาดรุนแรงและนักท่องเที่ยวไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ 
    ส่วนท่าเรือเฟอร์รีทั้งสองแห่งมีคลื่นรุนแรง เรือเฟอร์รีเดินทางไปเกาะช้างด้วยความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม เรือเฟอร์รียังสามารถเดินทางไปเกาะช้างได้ 
    นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับทีมแพทย์และสาธารณสุข 16 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึกว่า จากการรับรายงานข้อมูลในพื้นที่พบว่า สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 4 จังหวัด รวม 27 แห่ง คือ นครศรีธรรมราช 12 แห่ง, สงขลา 10 แห่ง, นราธิวาส 4 แห่ง และปัตตานี 1 แห่ง ส่วนใหญ่มาจากลมพัดแรงทำให้กระเบื้องหลังคาเสียหาย รวมถึงปัญหาไฟฟ้าดับ มีน้ำท่วมเข้าโรงพยาบาลบางแห่ง อาคารที่พักเจ้าหน้าที่ได้รับความเสียหาย แต่สถานพยาบาลยังสามารถให้บริการได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้ใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาไปก่อน ทางส่วนกลางจะสำรวจความเสียหายทั้งหมดและจัดสรรงบประมาณลงไปช่วยเหลือต่อไป
มีผู้เสียชีวิต 3 ราย
    นพ.สุขุมกล่าวว่า สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว 3 ราย อยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช 2 ราย รายแรกเกิดจากการขับรถชนต้นไม้ อีกรายเสียชีวิตจมน้ำขณะเอาเรือเข้าฝั่ง และ จ.ปัตตานี 1 ราย เกิดอุบัติเหตุเรือล่ม ซึ่งยังทำให้เกิดผู้สูญหายอีก 1 รายด้วย ส่วนศูนย์อพยพในจังหวัดต่างๆ ขณะนี้ทยอยปิดศูนย์ ส่งประชาชนและผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ติดอยู่ตามเกาะต่างๆ รวมกว่า 200 คน ก็ได้มีการประสานเรือรบหลวงสงขลาในการไปรับตัวขึ้นฝั่ง แม้พายุโซนร้อนปาบึกได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและเคลื่อนตัวออกไปแล้ว แต่หลายพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบจากปลายหางพายุอยู่ ซึ่งกระทรวงได้เฝ้าระวังน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากทั้ง 16 จังหวัด เนื่องจากยังมีปัญหาฝนตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และระนอง
    “หลังจากนี้จะเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ได้ให้สำรวจความเพียงพอของยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สำรวจความเสียหายของสถานพยาบาล บ้านพักของบุคลากรสาธารณสุข และเตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมและแผนการจัดบริการ ไม่ให้กระทบการดูแลรักษาประชาชน โดยจัดทีมแพทย์ดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของทีมแพทย์ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมพร้อมอีก 3 ทีม คือ ทีมป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม, ทีมดูแลเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม และทีมดูแลสภาพจิตใจของผู้ประสบอุทกภัย” นพ.สุขุมกล่าว
    นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองอธิการบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยระบุถึงผลกระทบหลายด้านจากพายุปาบึกว่า เริ่มเข้าสู่ช่วงสำรวจความเสียหายและฟื้นฟู ขอเริ่มต้นจากสัตว์ทะเลหายาก คลื่นส่งผลต่อสัตว์น้ำ โดยเฉพาะลูกสัตว์น้ำ เช่น ลูกโลมาอิรวดีที่ตาย และถูกพัดขึ้นมาเกยฝั่งแถวขนอม รังเต่ามะเฟืองที่เขาหลักไม่น่ามีปัญหา แต่รังที่สองที่ท่าไทร คลื่นกัดเซาะชายฝั่งเข้าไปมาก จนอยู่ห่างรังไข่เต่าไม่กี่เมตร ตอนนี้เจ้าหน้าที่กรมทะเลและอุทยานท้ายเหมืองกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุฉุกเฉินคงสามารถช่วยเหลือได้ทัน สำหรับสัตว์น้ำอื่น โดยเฉพาะสัตว์น้ำหน้าดิน อาจได้รับผลกระทบจากคลื่นบ้าง แต่ที่น่าห่วงกว่านั้น น้ำจืดจำนวนมากไหลลงทะเล ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเบียดความเค็มแถวปากแม่น้ำและชายฝั่งจะลดลงอย่างเร็ว น้ำอาจแบ่งเป็น 2 ชั้น อาจทำให้สัตว์น้ำตายเหมือนที่เคยเกิดตามชายฝั่งเพชรบุรี-ชะอำ
    คราวนี้มาถึงระบบนิเวศทางทะเลบ้างระบบนิเวศที่ได้รับผลมากสุดคือแนวปะการังน้ำตื้นที่ฟื้นตัวช้า พายุปาบึกเคลื่อนที่เป็นวงกว้างทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ผลกระทบต่อแนวปะการังคือ คลื่น ตะกอน และน้ำจืดไหลลงทะเล คลื่นส่งผลทำให้ปะการังน้ำตื้นแตกหัก
กระทบแนวปะการัง
    คลื่นจะส่งผลต่อแนวปะการังน้ำตื้นแถวสมุยและพะงันมากหน่อย เพราะทั้ง 2 เกาะรายล้อมด้วยแนวปะการังรวมถึงหมู่เกาะว่าวที่อยู่ทางตอนเหนือเกาะกระ (นคร) พื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งใหม่ก็น่าจะได้รับผล เนื่องจากเป็นแนวพายุเข้า
    ผลอันดับสองคือตะกอน ซึ่งน่าจะเป็นผลกระทบแรงสุด และต่อเนื่องหลายวันตะกอนบางส่วนเกิดจากคลื่นพัดขึ้นมาจากพื้นท้องทะเล ทำให้น้ำขุ่น แสงส่องผ่านไม่ได้หลายวันตะกอนยังตกทับบนปะการัง ทำให้ปะการังอ่อนแอหรืออาจตายได้
    ผลอันดับสาม น้ำจืดจำนวนมากส่งผลกับความเค็มน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปะการังอาจฟอกขาวฉับพลันในบางพื้นที่ เพราะฉะนั้น ควรต้องสำรวจแนวปะการังในหลายพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยเกือบทั้งหมด ปัญหาอีกประการคือขยะทะเลจำนวนมาก มักเกิดหลังน้ำท่วมใหญ่ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คงต้องเตรียมการเก็บขยะตามชายหาดขยะในทะเลอ่าวไทย รวมถึงการดำน้ำเก็บขยะที่ตกค้างและสร้างความเสียหายให้แนวปะการังน้ำตื้น สมุย พะงัน ชุมพร ประจวบ ฯลฯ
    ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายวชิรพงศ์ สกุลรัตน์ ที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่ามีชาวบ้านพบซากโลมาหัวบาตรหลังเรียบที่บริเวณ หาดหน้าด่าน หมู่ที่ 5 ต.ขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติหาดขนอม หมู่เกาะทะเลใต้ พบเป็นโลมาขนาดโตเต็มวัย ไม่ทราบเพศเนื่องมาจากอวัยวะเพศเริ่มเน่ามองไม่ชัด ความยาวประมาณ 1.2เมตร สภาพผิวหนังลอกน่าจะเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 3 วัน 
    ส่วนสาเหตุการตาย น่าจะเกิดจากโลมาตัวดังกล่าวเจอมรสุมพายุปาบึกพัดผ่านในพื้นที่ทำให้คลื่นลมแรงในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งโลมาตัวดังกล่าวอาจจะ มีความอ่อนแอจึงถูกคลื่นแรงซัดจนทำให้ตายลอยมาติดหาดขนอม เจ้าหน้าที่ได้เก็บซากของโลมาตัวดังกล่าวไว้ที่ในวัดกลาง ม. 9 ต.ขนอม อ.ขนอม เพื่อรอเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่ง จังหวัดสงขลานำซากไปผ่าชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"