"การเลือกตั้ง" ยังอึมครึม เงื่อนปม "กฎหมาย" ที่ไร้คำตอบ


เพิ่มเพื่อน    

        ไทม์ไลน์ทางการเมืองในขณะนี้ถึงแม้มีตารางเวลาพอประมาณ แต่ในรายละเอียดแล้ว ไม่มีความชัดเจน ในการเห็นภาพรัฐบาลใหม่ที่มาหลังการเลือกตั้งแบบง่ายๆ

        ความไม่แน่นอนดังกล่าว ยิ่งทำให้พรรคการเมืองที่อยู่คนละฟากกับรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความไม่พอใจ และโจมตีถึงความ "ไม่ชัดเจน" เหล่านั้นว่าเป็น "เกม-กับดัก-ระเบิดเวลา" ในการเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลชุดปัจจุบันให้เข้ามาบริหารประเทศต่อ

        ทั้งในรูปแบบที่เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ โดยใช้กลไกในกรอบนี้ส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ภายใต้พรรคเครือข่ายที่จัดตั้ง และจับมือกับพรรคการเมืองพันธมิตร รวมถึง ส.ว.ชุดใหม่

        เลยไปถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดความสับสนวุ่นวายด้วยกฎหมาย และความไม่สงบ จนเกิด "สุญญากาศ" ในการบริหารประเทศ นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

        ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบ ไม่ใช่รัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเลือกให้เข้ามา ตามความเห็นของฝ่ายต้าน คสช.!!!

        แน่นอนว่า "เพื่อไทย" ยังเชื่อในพลังของ "คนอีสาน" ฐานเสียงเก่าที่ยังนิยม "ทักษิณ ชินวัตร" จะนำพาให้พรรคเพื่อไทย และพรรคพันธมิตร ตระกูล "เพื่อ" ได้คะแนนเสียงสูงสุดในการจัดตั้งรัฐบาล

        ขณะที่แกนนำฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อใน "อิทธิฤทธิ์" ของนโยบายรัฐบาลในการ ลด-แลก-แจก-แถม รวมไปถึงการควบคุมกลไกในการกำหนดเสียงเลือกตั้งในหลายพื้นที่ ทั้งการ "ดูด" นักการเมือง หัวคะแนน มวลชน ไปอยู่เป็นพวก 

        ในเมื่อ ความเชื่อ ที่อยู่บนข้อมูลคนละชุดต่างกัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นคงไม่มีใคร "อ่อนข้อ" ให้ใคร ทั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าการวิเคราะห์และสมมุติฐานที่ตัวเองวางไว้คือ สิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่กลไกและกติกาในการแข่งขันนั้นเอื้อให้พรรคพันธมิตรของ "รัฐบาล"

        ยิ่งสถานการณ์ในระหว่างนี้จนถึงต้นเดือน พ.ค.ที่จะถึง รัฐบาลและพสกนิกรชาวไทยจะต้องร่วมมือร่วมใจในงานสำคัญของบ้านเมือง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงค์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นมีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

        วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงค์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

        วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

        ทั้งนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จึงต้องให้เกิดความสะดวกสอดคล้องตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ และขั้นตอนของพระราชประเพณี ในช่วงที่ต้องมีพระราชพิธี และการเลือกตั้ง โดยนำปฏิทิน “งานมหามงคล” ของบ้านเมืองไปให้ กกต.ประกอบการพิจารณา

        ส่งผลให้มีแนวโน้มว่า วันเลือกตั้งจะขยับออกไป และการมีรัฐบาลใหม่ต้องเกิดขึ้นหลังจากงานพระบรมราชาภิเษกผ่านไปแล้ว

        ยิ่งทำให้กลุ่มการเมือง พรรคการเมืองฟากตรงข้าม คสช. เกิดอาการ เดือด เพราะเชื่อว่า "การขยับ" ที่เกิดขึ้นเป็นการ "เคลม" ของรัฐบาล ที่มุ่งหวังจะเลื่อนการเลือกตั้งอยู่แล้ว นำไปสู่กระแสต่อต้านติดแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียด้วยถ้อยคำที่รุนแรงกว่าช่วงที่เกิดหน้านี้ โหมให้พายุการเมืองในช่วงนี้พัดแรงกว่าเก่า

        แต่ที่น่าสนใจ และถือเป็น "ปม" ใหญ่ที่ยังไร้คำตอบ คือ "พันธนาการ" ทางด้านกฎหมาย ที่ส่อเค้าว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

        หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุกเบกษา ก็เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการกำหนดระเบียบเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งออกมา ตามที่รัฐบาลได้โยนมาให้พิจารณา ท่ามกลางการบีบรัดของสังคมที่กำลังจับตามองการทำหน้าที่ องค์กรอิสระ ที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจกลุ่มอำนาจใด

        ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งข้อสังเกตได้น่าสนใจถึง "ความหวาดผวาของ กกต.หากประกาศผลเลือกตั้งหลัง 9 พ.ค."

        โดยร่ายยาวว่า กกต.มีเวลา 60 วันหลังวันเลือกตั้ง ในการประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ร้อยละ 95 ของ 500 คน เพื่อให้สามารถประชุมสภาฯ นัดแรกได้ หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. ครบ 60 วัน คือ 25 เม.ย. หากเลือกตั้งวันที่ 10 มี.ค. ครบ 60 วัน คือ วันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็นวันครบ 150 วันหลังจาก พ.ร.ป.สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4ฉบับมีผลใช้บังคับเมื่อ 11 ธ.ค.61

        มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญเขียนว่า หลังจาก พ.ร.ป.สำคัญ 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ซึ่งคำว่า แล้วเสร็จ ดังกล่าว เป็นคำที่ กกต.หวาดผวาที่สุด “แล้วเสร็จ” คือ “จัดการหย่อนบัตรเสร็จ” หรือ “ประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95”  เป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครตอบ

        ทั้งนี้ กกต.ชุดที่ 4 เคยทำหนังสือถึง 2 หน่วยงาน คือ กรธ. และกฤษฎีกา เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว โดยคำตอบจากประธาน กรธ. มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนเป็นเอกสารตอบมายัง กกต.ว่า “เรื่องนี้ กรธ.เป็นผู้เขียน กม. ไม่ใช่ผู้ตีความกฎหมาย จึงไม่สามารถให้คำตอบได้”

        ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบมาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นว่า กกต.ควรสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะเหมาะสมกว่า

        เมื่อ กกต.คิดจะถามศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีเสียงสัมภาษณ์จากบางท่านในศาลรัฐธรรมนูญมาว่า ต้องรอให้เกิดเรื่องก่อนจึงจะส่งได้ คือจัดเลือกตั้งไปก่อน หากมีใครร้องมา ศาลจึงวินิจฉัย

        ดังนั้นหากเลือกตั้งเสร็จ และ กกต.เอ้อระเหย ไปประกาศผลหลัง 9 พ.ค. และหากบังเอิญมีมือดีไปร้องศาล และบังเอิญศาลวินิจฉัยแล้วสรุปว่า กกต.จัดการเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.ต้องรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย 5,800 ล้านบาท

        เป็นเงื่อนปมที่น่าสนใจ สำหรับการนับคะแนนภายใต้การเลือกตั้งแบบใหม่ ที่เหล่าบรรดานักสังเกตการณ์ทางการเมืองหลายสำนักเชื่อว่า คงไม่ใช่เรื่องที่จะประกาศผลง่ายๆ

        อีกทั้งแนวโน้มการขยับการเลือกตั้งตามที่ "วิษณุ เครืองาม" เลียบค่ายอธิบายความมานั้น ก็ยิ่งทำให้ตีความกันไปหลายทาง โดยเฉพาะการมีรัฐบาลที่ไม่ปกติ และมีนายกฯ คนเดิม ที่ชื่อ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา"

        เป็นความกังวลอีกประการที่ พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม คสช.มองถึงความเป็นไปได้

       "การที่ กกต.ไม่กำหนดวันเลือกตั้งหลังฟังคำชี้แจงจากรัฐบาลแล้ว น่าจะแสดงว่าที่รัฐบาลชี้แจงยังไม่เป็นเหตุเป็นผลเพียงพอ หรือเหตุผลพิเศษของรัฐบาลจะเป็นเพียงว่าต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยไม่ต้องรับการเลือกจากรัฐสภา" นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์ข้อความถึงกรณีการเลื่อนวันเลือกตั้งลงบนทวิตเตอร์

        ภายใต้การตั้งข้อสังเกตใน วาระที่ไม่ปกติ ที่เริ่มจากความไม่ชัดเจน และความไม่แน่นอน ย่อมปฏิเสธได้ยากว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ประโยชน์ที่ตกสู่รัฐบาล คสช.ในฐานะที่ลงมาคลุก คาบเกี่ยวความเป็นผู้เล่นในสนามเลือกตั้ง

        แต่เหนืออื่นใดคือ กองเชียร์ ที่ต้องตรวจสอบว่ายังเหนียวแน่น หรือเสียง "แปลกแปร่ง" กว่าเมื่อก่อน

        เพราะอย่าลืมว่า ถึงแม้ คสช.จะมี "แฟนคลับ" ที่ไม่เอา "ระบอบทักษิณ" แต่ก็ใช่ว่าจะยอมรับในสิ่งที่ผิดพลาด บกพร่องของรัฐบาล

        มีหลายอย่างที่คนในรัฐบาลปฏิบัติ และดำเนินการค้านสายตาผู้ชม ขณะที่บางเรื่องที่เคยกร่นด่า รัฐบาลผูกขาดอำนาจ บริหารราชการไม่เป็นธรรมในอดีต แต่ปรากฏว่าบางเรื่องก็เกิดขึ้นไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการยืนอยู่ข้างพรรคพวก เพื่อนพ้อง ในสิ่งที่ค้านกระแสสังคม อันถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และทำลายแนวร่วมที่เคยมีมาในอดีต

        ทั้งหลายทั้งปวงของสถานการณ์การเมืองในช่วงต้นปีเป็นต้นไป จึงน่าจะอึมครึม ไม่แพ้พายุปาบึกที่เข้าประเทศไทย และยิ่งหลังพิธีใหญ่ไปแล้ว ก็เริ่มเห็นมรสุมทางการเมืองตั้งเค้ามาอีกลูก โดยเฉพาะเงื่อนปมกฎหมาย ที่ยังไม่มีคำตอบ!!!.

 

                                                       ทีมข่าวการเมือง

 

        "แต่ที่น่าสนใจ และถือเป็นปมใหญ่ที่ยังไร้คำตอบคือ พันธนาการทางด้านกฎหมาย ที่ส่อเค้าว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"