เดินหน้า "แม่น้ำสงครามตอนล่าง" สู่แรมซาร์ไซต์แห่งใหม่


เพิ่มเพื่อน    

 

พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง เป้าหมายขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์แห่งที่ 15 ของไทย

     ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญที่กำลังสูญเสียและเสื่อมสภาพอยู่ทุกขณะ จำเป็นต้องเร่งอนุรักษ์ลดภัยคุกคาม เหตุนี้ จังหวัดนครพนม องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF-Thailand เดินหน้าผลักดัน 'พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง" ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ หวังให้แม่น้ำที่มีลักษณะพิเศษสายนี้คงความอุดมสมบูรณ์ เกื้อกูลชนิดพันธุ์สัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นแหล่งมั่นคงทางอาหารของคนลุ่มน้ำสงคราม

      การดำเนินงานนี้ WWF-Thailand ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อน โครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและระบบนิเวศแม่น้ำสงครามตอนล่าง จ.นครพนม เป็นเวลากว่า 3 ปี ปลุกปั้นทำงานกับพื้นที่สามหมื่นกว่าไร่ ประสานความร่วมมือกับ 49 ชุมชน ที่พึ่งพิงแม่น้ำสายนี้

 

วิถีประมงน้ำจืดผูกพันกับแม่น้ำสงคราม  

      เยาวลักษณ์ เธียร์เชาว์ ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าสากลโลก หรือ WWF-ประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการเสนอให้พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์แห่งใหม่ของประเทศไทยว่า ขณะนี้ถึงขั้นตอนสุดท้าย โดยในวันที่ 14 มกราคม 2562 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีข้อมูลพร้อมที่ตอบสนองการขึ้นทะเบียน โดยยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด ก่อนจะส่งผลการประชุมเข้าสู่คณะเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จากนั้น 2 สัปดาห์จะทราบผลการพิจารณา ซึ่งเรามั่นใจว่าจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 15 ของประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ต้นเดือนหน้าทางจังหวัด ประชาชน เตรียมจะจัดกิจกรรมฉลองแรมซาร์ไซต์แห่งใหม่ด้วย

      " ขอบเขตที่ขึ้นทะเบียนกว่า 34,000 ไร่ ครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อ.ท่าอุเทนและ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขง ระยะทางนับจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำสงครามตอนล่างกว่า 92 กิโลเมตร เป็นระบบนิเวศที่มีความเฉพาะตัว ถือเป็นแหล่งน้ำจืดและเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระบบเปิดแห่งเดียว เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและอาหารที่เกื้อกูลกัน นี่คือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงมีปลาบึกเข้ามากินแร่ธาตุอาหารในพื้นที่แม่น้ำสงครามก่อนกลับแม่น้ำโขง การขึ้นทะเบียนจะยกระดับเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ" เยาวลักษณ์ กล่าว

ชุมชนร่วมอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำแม่น้ำสงคราม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ 

      ผอ.กองทุนสัตว์ป่าสากลโลกเน้นย้ำว่า WWF-ประเทศไทย ทำงานร่วมกับจังหวัด อำเภอ และหมู่บ้านเป้าหมาย 49 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอดังกล่าว เพื่อร่วมกันฟื้นฟูและให้ชาวบ้านมั่นใจว่า การขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ไม่ใช่เป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือเขตห้ามล่าฯ แต่เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ไม่กระทบวิถีชีวิตชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาในการฟื้นฟูเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ชาวบ้านตื่นตัวมากขึ้น มีการทำเขตอนุรักษ์ เขตอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน สร้างบ้านให้ปลา หยุดใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง เกิดกฎกติกาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่พบชาวบ้านฝ่าฝืนแต่อย่างใด

      ขณะที่กิจกรรมบนบก การทำเกษตรกรรมริมแม่น้ำสงคราม เยาวลักษณ์กล่าวว่า เริ่มทำเกษตรอย่างยั่งยืน ปลูกพืชผสมผสาน ปลูกพืชสวนครัว และลดใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งอาจปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ ชาวบ้านใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนในการปลูกข้าว ปลูกยางพารา และไม้ผลอื่นๆ รวมทั้งมีการจัดการขยะ เดิมตลอดสายน้ำ 92 กิโลเมตร ตรวจวัดคุณภาพน้ำพบอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ปัจจุบันคุณภาพน้ำดีขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ภาครัฐต้องเข้มงวดกับมาตรการควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากภาคชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันน้ำเน่าไหลลงแม่น้ำสำคัญสายนี้จะเกิดความยั่งยืนยิ่งขึ้น

 

ปลาในแม่น้ำสงคราม สร้างรายได้ชุมชน

       ขณะที่ ยรรยง ศรีเจริญ ผู้จัดการโครงการพื้นที่ชุ่มน้ำสงครามตอนล่าง กล่าวว่า แม่น้ำสงครามยาว 420 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสาขาสายสำคัญของแม่น้ำโขง ปากแม่น้ำสงครามที่ติดกับแม่น้ำโขงที่ บ้านไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จนถึงบ้านปากยาม อ.ศรีสงคราม ยาว 92 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เป้าหมายเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ เพราะมีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามใหญ่ที่สุดทำหน้าที่คล้ายป่าชายเลน ในฤดูน้ำหลากมีปลาเป็นร้อยชนิดในน้ำโขงเข้ามาวางไข่ นอกจากปลาเจริญเติบโตในแม่น้ำสงครามแล้ว ยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนหลักสำหรับประชากร 60 ล้านคน แม่น้ำสงครามเคยมีชาวประมงจับปลาบึกตามธรรมชาติได้น้ำหนักถึง 220 กิโลกรัม เป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศแม่น้ำสงครามที่สมบูรณ์

      " ปี 57 ที่ WWF-ประเทศไทยเข้ามาทำโครงการในพื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง พบว่าสถานภาพทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงมาตลอด ชุมชนต้องการให้กำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเพื่อให้สัตว์น้ำมีโอกาสขยายพันธุ์ ก็ทำงานร่วมกับ 49 หมู่บ้าน ผลักดันจนเกิดเขตอนุรักษ์ 48 แห่ง รวมพื้นที่ 1,900 ไร่ ห้ามทำประมงเด็ดขาด หลังจากนั้น 3 ปี พี่น้องประมงบอกมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ใช้เวลาหาปลาน้อยลง ขนาดของปลาใหญ่และชนิดพันธุ์ปลาที่เคยหายไปกลับคืนมา นี่เป็นสัญญาณที่ดี ผลสำเร็จที่หมู่บ้านมีส่วนร่วมอนุรักษ์ ช่วยสร้างรายได้ให้แต่ละครัวเรือน ขณะนี้ประสานประมงจังหวัดนครพนมจะเป็นประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำตาม พ.ร.ก.ประมงปี 58 เพื่อให้มีกฎหมายรองรับ" ยรรยงกล่าว

 

1 ใน 48 เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำแม่น้ำสงคราม ผลสำเร็จโครงการฟื้นฟูฯ

      ส่วนข้อกังวลที่จะกระทบพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง ผจก.โครงการพื้นที่ชุ่มน้ำสงครามตอนล่างกล่าวว่า ไม่อยากให้มีการบุกรุกป่าบุ่งป่าทามจากการเร่งรัดขยายโครงสร้างพื้นฐาน หากใช้ที่ดินไม่เหมาะสมกระทบคุณภาพน้ำ รัฐต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นมากขึ้น รวมถึงใช้มาตรการผังเมืองเป็นเครื่องมืออนุรักษ์ควบคู่กันไป นอกจากนี้ ต้องใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องดูแลควบคุมมลพิษที่อาจส่งผลให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรม นอกจากมาตรการกฎหมาย WWF หนุนการจัดตั้งสมาคมพิทักษ์ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง มีผู้นำชุมชน 49 หมู่บ้าน เป็นสมาชิก คาดหวังให้องค์กรนี้มีบทบาทสอดส่องดูแลและรักษาลุ่มน้ำสงคราม อีกทั้งได้สร้างเครือข่ายโรงเรียน 15 โรง ตั้งแต่ตอนบนถึงตอนปลายแม่น้ำสงครามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ รวมทั้งหนุนการจัดการป่าชุมชนกว่า 2 หมื่นไร่ ปลูกป่าผสมผสานและหลากหลายลดตะกอนลงแหล่งน้ำ   โครงการนี้ดำเนินไปตามเป้าหมาย หากได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งใหม่ของไทยจะเป็นตัวอย่างของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการอนุรักษ์และรู้จักใช้ทรัพยากรจากแหล่งน้ำอย่างเห็นคุณค่า

      สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 เป็นประเทศลำดับที่ 110 ซึ่งการเข้าเป็นภาคีนั้น ประเทศสมาชิกต้องเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำ 1 แห่ง ขึ้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ไทยจึงเสนอพรุควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง ขึ้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 948 ของโลก ในปัจจุบันไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ จำนวน 14 แห่ง พื้นที่รวมประมาณ 2,498,211.5 ไร่ หากพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างขึ้นทะเบียนจะเป็นลำดับที่ 15

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"