ได้เปรียบ VS เอาเปรียบ


เพิ่มเพื่อน    


    ดูเหมือนว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารมีความตั้งใจที่อยากจะเป็นรัฐบาลต่อ (บางคนก็มองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจในขณะที่คณะรัฐบาลและคนที่เชียร์รัฐบาลมองว่าเป็นการสานต่องานที่ทำไว้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ) นอกจากจะแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนแล้ว ยังมีแววว่าพรรคน้องใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลต่อมีโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งด้วย ทำให้พรรคที่เคยช่วงชิงชัยชนะกัน เคยเป็นคู่แข่งที่เป็นเหมือนคู่อริกัน กลายมาเป็นแนวร่วมกันโดยปริยาย 
    นั่นคือต่างก็รุมถล่มพรรคน้องใหม่ว่าทำงานการเมืองแบบเอาเปรียบคนอื่น บางรายถึงขนาดพูดตรงๆ เลยว่า พรรคน้องใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีรีอีกสมัยหนึ่งนั้น กำลังโกงการเลือกตั้ง มีการมโนวิธีการโกงต่างๆ นานา (อาจจะเป็นวิธีการโกงที่พรรคของตนเองเคยทำมาในอดีต จึงเอามาพูดได้ว่าจะมีการโกงแบบนั้น แบบนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการหาเสียง และยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง) การกล่าวหาว่าพรรคน้องใหม่ที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลปัจจุบันบัน “เอาเปรียบ” พรรคอื่นนั้น 
    บางทีอาจจะเป็นการ “ได้เปรียบ” มากกว่า “เอาเปรียบ” เพราะสถานการณ์และข้อกำหนดของตัวบทกฎหมายที่เปิดโอกาสให้พรรคน้องใหม่มีโอกาสที่จะชนะเลือกตั้ง พรรคน้องใหม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประชาชนเบื่อนักการเมือง เพราะหลายคนมองว่าการที่ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพของความแตกแยก และเสียโอกาสในการพัฒนานั้น ส่วนหนึ่งมาจากนักการเมือง (บางคนบางกลุ่ม ในหลายๆ พรรค) ที่บริหารประเทศไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล ไม่มีจริยธรรม โกงกิน 
    จึงทำให้พวกเขาให้การสนับสนุนคนของรัฐบาลปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็น Technocrats ที่มีประสบการณ์ในการทำงานทั้งทางราชการและเอกชน มีความรู้ มีความสามารถ มีความตั้งใจที่จะเข้ามาบริหารประเทศมากกว่าจะเข้ามาแสวงประโยชน์ส่วนตัว มีความพยายามที่จะปราบโกง และได้มีการดำเนินคดีกับคนโกงไปแล้วหลายคดี เป็นที่ถูกอกถูกใจคนที่ต้องการเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
    นี่คือความได้เปรียบประการหนึ่งของพรรคน้องใหม่ที่ประชาชนคาดหวังให้เข้ามาบริหารประเทศด้วยหลักธรรมาภิบาล ที่ผ่านมาการต่อสู้ทางการเมืองเป็นการแข่งขันกันระหว่างสองพรรคใหญ่ที่ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่พอใจทั้งสองพรรค เพราะพรรคหนึ่งก็เป็นพรรคที่ประชาชนส่วนมากเชื่อว่าเป็นพรรคที่โกงบ้านโกงเมือง มีคอร์รัปชันเชิงนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ใช้ประชานิยมสร้างคะแนนนิยมจนทำให้เลือกตั้งกี่ครั้งก็ชนะทุกครั้ง 
    และเมื่อเข้ามาบริหารประเทศก็จะอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมาก แต่ประชาชนกลุ่มหนึ่งก็มองว่าเป็นการบริหารประเทศในรูปแบบของเผด็จการทางรัฐสภา เมื่อประชาชนจำนวนหนึ่งไม่อยากเลือกพรรคนี้ ทำให้พรรคน้องใหม่ได้เปรียบ เพราะเป็นทางเลือกที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเอาชนะพรรคใหญ่ได้ ในขณะที่ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ต้องการเลือกพรรคใหญ่ เมื่อหันมามองพรรครองลงไป พวกเขาไม่เชื่อว่าพรรคดังกล่าวนั้นจะเอาชนะพรรคใหญ่ได้ 
    เพราะพวกเขามองว่าพรรคดังกล่าวนั้นพูดเก่ง แต่ทำงานไม่เก่ง ความจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ในความคิดของประชาชนส่วนหนึ่งเป็นเช่นนั้น ดังนั้นพวกเขาจึงมองว่าพรรคเบอร์รองนี้ไม่มีทางที่จะเอาชนะพรรคใหญ่ได้ ดังนั้นจึงเกิดความคิดที่จะเลือกพรรคน้องใหม่ที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเอาชนะพรรคใหญ่แทนพรรคเบอร์รองได้ นี่ก็เป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ทำให้พรรคน้องใหม่มีความ “ได้เปรียบ” โดยไม่จำเป็นต้อง “เอาเปรียบ” รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร 
    ดังนั้น แม้จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ ดังนั้นรัฐบาลยังสามารถอนุมัติงบประมาณในการทำโครงการใหญ่ๆ ที่จะทำให้ประชาชนชื่นชมรัฐบาลและพรรคที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลที่จะ “ได้เปรียบ” โดยไม่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันรัฐมนตรีที่มาทำงานการเมืองก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งได้จนกว่าจะถึงเวลาที่กฎหมายกำหนด
    จึงยังสามารถสร้างผลงานที่จะเรียกคะแนนนิยมได้ต่อไป รวมทั้งนายกรัฐมนตรีก็ยังสามารถเดินทางไปเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้ พูดคุยกับประชาชนได้ แสดงปาฐกถาเล่าผลงานของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับรู้ว่ารัฐบาลได้ทำอะไรให้ประชาชนบ้าง หลายอย่างที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้เป็นที่พอใจของประชาชนจำนวนมาก เช่น เรื่องคืนโฉนดที่ดิน เรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบ เรื่องบัตรสวัสดิการ เรื่องของขวัญปีใหม่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทางรัฐบาลอธิบายได้ว่าเป็นโครงการต่อเนื่อง ไม่ใช่โครงการหาเสียง เพราะหลายโครงการทำมานานแล้ว และเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นโครงการต่างๆ เหล่านี้สร้างความ “ได้เปรียบ” ให้กับพรรคน้องใหม่โดยไม่ผิดกฎหมาย แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ 4 รัฐมนตรีลาออก พวกเขาก็คงไม่ออกจนกว่าจะถึงวันที่กฎหมายกำหนด 
    เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี ท่านก็คงไม่ลาออกจนกว่าจะเป็นไปตามกฎหมายกำหนดว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากตำแหน่งวันใด นี่ก็เป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่พรรคน้องใหม่ “ได้เปรียบ” พรรคอื่นตามสาระของกฎหมายที่เขียนไว้ ถ้าหากจะตัดความ “ได้เปรียบ” เหล่านี้ออกไป คงต้องไปแก้กฎหมาย ซึ่ง ณ เวลานี้คงจะไม่ทันแล้ว
    อย่างไรก็ตาม พรรคน้องใหม่แม้จะอยู่ในสถานะที่ “ได้เปรียบ” พรรคอื่น ก็ต้องระมัดระวัง ก่อนจะทำอะไรที่ทำให้พรรค “ได้เปรียบ” พรรคอื่นก็จะต้องตรวจสอบกฎหมายให้ดี อย่าเผลอทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เพราะพรรคอื่นๆ ที่เขาแข่งขันด้วยเขาจดจ้องอยู่ และพร้อมที่จะรุมกินโต๊ะ หากแค่เผลอทำอะไรที่หมิ่นเหม่กับการทำผิดกฎหมาย พรรคของท่านก็จะถูกร้องเรียนให้ กกต.พิจารณา และหาก กกต.ต้องทำงานโปร่งใส ยุติธรรม หากพวกท่านทำผิดกฎหมาย กกต.คงไม่คิดและไม่กล้าที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริง เขาจะต้องพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อหาสาระของกฎหมาย
    นอกจากนั้นแล้วบางครั้งท่านอาจจะต้องคิดให้ไกลกว่ากฎหมาย (beyond legality) โดยพิจารณาด้านความชอบธรรม (Legitimacy) เป็นองค์ประกอบด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าท่าน ”เอาเปรียบ” พรรคอื่น เพราะคู่แข่งของท่านนั้นเขาจดจ้องมองการกระทำของท่านอยู่อย่างใกล้ชิด พลาดนิดเดียวท่านอาจจะตายได้ การที่ท่านโดนกระหน่ำอย่างแรงเวลานี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขากลัวว่าพวกเขาจะแพ้ท่าน ดังนั้นท่านควรจะต้องระมัดระวังให้มาก เดี๋ยวชัยชนะของท่านจะกลายเป็นโมฆะเพราะว่าท่านทำผิดกติกา 
    นอกจากนั้นแล้วบางเรื่องแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการแสดงจิตสำนึกทางด้านจริยธรรม ท่านงดเว้นที่จะทำได้บ้างก็จะดีนะ เป็นการแสดงความเป็นพรรคที่มีจริยธรรม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"