ยามเช้าที่เมืองสิทธัตถะนคร (Siddharthanagar) ประเทศเนปาล
รถบัสจากกุสินาราพาเรามาถึงเมืองโกรัคปูร์ในเวลาราว 4 โมงเย็น เราต้องเดินไปรับกระเป๋าที่ฝากไว้ที่โรงแรม Grand Kaushal Inn เยื้องๆ กับสถานีรถไฟ ระหว่างทางเดินประมาณ 1 กิโลเมตรนี้ผมก็ถามไปเรื่อยว่าบัสคันไหนมีปลายทางที่ด่านโสเนาลี ซึ่งก็โชคดีที่บัสดังกล่าวจอดอยู่ไม่ห่างจากสถานีรถไฟมากนัก เด็กรถบอกว่าอีก 20 นาทีออก
ระหว่างทางที่เราเดินไปนี้มีแท็กซี่แบบเฉลี่ยราคา หรือ “แชร์แท็กซี่” (Shared Taxi) วิ่งขนาบข้างมากับกุนเธอร์-มังสวิรัติชาวเยอรมันวัย 65 ปี เพื่อนร่วมทางของผมตั้งแต่กรุงพาราณสี ในรถมีผู้โดยสารอยู่แล้ว 2 คน พวกเขาต้องการผู้โดยสารอีก 2 คน เมื่อเทียบกับระยะทาง 100 กิโลเมตร ราคาคนละ 250 รูปี ก็ถือว่ารับได้
กุนเธอร์ต่อราคาลงมาเท่าไหร่ผมไม่ได้สนใจฟังเพราะอยากนั่งรถบัสให้เห็นสภาพการเดินทางแบบคนท้องถิ่นมากกว่า แต่พอเดินมาใกล้จะถึงโรงแรมแล้วกุนเธอร์เดินย้อนกลับไปนิดหน่อยเพื่อถามแท็กซี่ที่วิ่งตามหลังเรามา เขาสนใจแชร์แท็กซี่ตั้งแต่แรกอยู่แล้วเพราะเริ่มเหนื่อยล้ากับการนั่งรถบัส และเมื่อค่าโดยสารไม่ลดลงมาเสียทีเขาก็ทำใจยอมรับ
“โอเค 250 รูปีก็ได้” กุนเธอร์บอกกับคนในแท็กซี่
“เสียใจด้วย เราได้ผู้โดยสารครบแล้ว” โชเฟอร์แท็กซี่ตอบกลับกุนเธอร์ ด้านชายหนุ่มหน้าตี๋แบบเนปาลที่นั่งฝั่งซ้ายมือของคนขับอธิบายว่าเขากำลังจะกลับบ้าน ไม่ได้เป็นทีมงานแท็กซี่อย่างที่กุนเธอร์เข้าใจ เขาหว่านล้อมให้กุนเธอร์ใช้บริการแชร์แท็กซี่ก็เพราะต้องการให้คนเต็ม จะได้รีบๆ ออกจากเมือง เย็นกว่านี้อีกหน่อยรถจะติดหนักและจะถึงชายแดนเอามืดค่ำ
เรารับกระเป๋าจากโรงแรมแล้วก็เดินกลับไปยังรถบัสที่จอดอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร กุนเธอร์บอกว่าเขาขอเดินขึ้นหน้าไปก่อน เหลือเวลาอีก 20 นาทีกลัวไม่ทัน ผมตอบว่าตามสบาย เหลือ 10 นาทีก็ทัน ปรากฏว่าผมได้ขึ้นรถก่อนกุนเธอร์เพราะเขาเดินเลยไปคุยกับคนที่เขาอ้างว่าเป็นโชเฟอร์
ติดกับทางเดินขึ้น-ลงมีเก้าอี้ว่างสำหรับ 2 คน กุนเธอร์ชวนให้นั่งด้วยกัน แต่ผมใช้มุกเดิม “ยูนั่งคนเดียวดีกว่า จะได้สนทนากับคนท้องถิ่น ไอขอไปนั่งข้างหลัง”
ผมยกกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ขึ้นวางบนที่วางเหนือศีรษะแล้วเข้าไปนั่งเก้าอี้แถวหลังสุดริมหน้าต่างด้านซ้ายมือ ก่อนรถออกมีวัยรุ่น 4 คนขึ้นมานั่งเบาะหลังแถวเดียวกับผม พวกเขาวางกระเป๋าใบใหญ่หลายใบลงบนพื้นตรงหน้าแล้วเอาขาวางพาดบนกระเป๋าสบายใจเฉิบ เท่าที่สังเกตคนอินเดียไม่ถือเรื่องเท้าใครจะชี้ตรงไปที่ใคร ตราบใดที่ไม่ไปนาบอยู่บนใบหน้า ก้านคอ หรือทัดดอกไม้ก็ไม่ถือโทษโกรธกัน
จากการซักถามก็ได้ความว่าคณะคนหนุ่มจากโกรัคปูร์จะไป “พุฒวัล” (Butwal) เมืองโตไวและมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีแห่งหนึ่งในเนปาล ห่างจากชายแดนอินเดีย-เนปาล ประมาณ 30 กิโลเมตร มี Butwal Hill Park เป็นปอดของเมือง ให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้ดื่มดำธรรมชาติกับกิจกรรมจำพวกปิกนิก-เดินป่า และสันทนาการหลากหลายรูปแบบ
เด็กรถขึ้นมาเก็บค่าโดยสาร 112 รูปี ระยะทางจากโกรัคปูร์ถึงสถานีขนส่งด่านโสเนาลีประมาณ 100 กิโลเมตร รถบัสใช้เวลาวิ่งถึง 4 ชั่วโมง เพราะรถติดขณะออกจากเมืองและแถวของรถบรรทุกยาวเหยียดเมื่อใกล้ถึงชายแดน ยังดีที่รถบัสจอดให้เข้าห้องน้ำและกินอาหารที่จุดแวะพักริมทาง
ผมซื้อซาโมซ่า อาหารว่างลักษณะคล้ายๆ กะหรี่ปั๊บมา 3 ชิ้น ราคาชิ้นละ 10 รูปี ข้างในเป็นไส้แกงกะหรี่ไก่ อร่อยมากแต่ยังร้อนควันฉุยอยู่ จึงกินได้ค่อนข้างช้า ตอนมีคนเรียกให้กลับขึ้นรถ ผมกินไปได้ 2 ชิ้น จึงกัดอีกครึ่งชิ้น ทิ้งที่เหลือลงถังขยะ เดินเคี้ยวขึ้นไปกลืนบนรถแล้วดื่มน้ำจากขวดลงท้องตามไป
รถบัสจอดที่สถานีขนส่งใกล้ด่านโสเนาลีเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ผมหมายจะเดินตามวัยรุ่น 4 คนเพื่อข้ามแดนไปยังฝั่งเนปาล แต่นึกขึ้นได้ว่าพวกเขาเป็นชาวอินเดีย สามารถเดิมข้ามไปได้เลย ส่วนผมและกุนเธอร์ต้องเดินย้อนไปอีกหน่อยเพื่อตรวจหนังสือเดินทางขาออกที่ Sonauli Immigration Check Post ซึ่งเป็นสำนักงานเล็กๆ มีริคชอว์หรือสามล้อถีบเข้ามาห้อมล้อมมากมายเสนอราคาเพื่อจะพาข้ามแดนที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 700 เมตร ตอนที่เราเดินออกมาจาก ตม. อินเดีย เหลือสามล้ออยู่เพียง 2 คันเพราะใช้เวลาในสำนักงานเกือบครึ่งชั่วโมง ไม่นับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนของเจ้าหน้าที่ กุนเธอร์คุยกับสาวชาติเดียวกันที่เพิ่งกลับจากเนปาลเสียเนิ่นนาน เธอมากับไกด์หนุ่มคนหนึ่ง ตอนหลังไกด์คนนี้มาคุยกับผม พอรู้ว่าเป็นคนไทยก็บอกว่าลูกทัวร์คนไทยของเขากำลังจะมาให้เขานำเที่ยวเนปาล
รูปปั้น “มหารานา ประทับ” หน้าสถานีรถไฟโกรัคปูร์ ท่านคือกษัตริย์องค์หนึ่งในอินเดียผู้ไม่ค้อมหัวให้กับจักรวรรดิโมกุล
“ชอบมากเลย ลูกทัวร์ไทยเนี่ย” ไกด์หนุ่มว่า
ผมคุยราคากับสามล้อ ตกลงกันที่ 50 รูปี กุนเธอร์ลาสาวเยอรมันอยู่หลายคำรบก็เดินมาที่สามล้อของผม เขาต่อราคาลงไปอีก แต่ลุงสารถีไม่ลงให้ กุนเธอร์ก็จะขึ้นคันเดียวกับผมทั้งที่ไม่มีที่ให้วางกระเป๋าแล้ว ผมขอให้เขาไปขึ้นคันหลังที่รออยู่ แล้วบอกให้ลุงสามล้อปั่นออกไป จึงไม่รู้ว่าพี่ยิวระมันของผมต่อราคาคันหลังได้สักกี่รูปี
ลุงสามล้อถีบพาข้ามประตูสุดเขตอินเดีย แล้วลงเดินจูงพาหนะผ่านประตูต้อนรับของเนปาลเพื่อจะไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่อยู่ทางด้านขวามือห่างจากประตูไม่ไกล แต่เจ้าหน้าที่ตรงประตูเดินเข้ามาตะคอกใส่ลุงสามล้อ ลุงแกจึงให้ผมลงตรงนั้น เช่นเดียวกับกุนเธอร์ที่ตามหลังมาติดๆ
ตรวจคนเข้าเมืองของฝั่งเนปาลทำงานกันรวดเร็วกว่าของอินเดียมาก ในแบบฟอร์มให้กรอกชื่อที่พักสำหรับคืนนี้ โชคดีที่ผมจองโรงแรมไว้แล้ว จากนั้นก็จ่ายเงินค่าธรรมเนียมเป็นธนบัตร 50 ดอลลาร์สำหรับ 2 คน แล้วก็ได้รับตราวีซ่ามา ระบุว่าอยู่ได้ 15 วัน
เกือบลืมบอกไปว่า มีวัดไทยชื่อ “วัดไทยนวราชรัตนาราม 960” อยู่ฝั่งอินเดีย ห่างจากชายแดนราว 2.5 กิโลเมตร ผู้คนร่ำลือถึงความเป็นเลิศของห้องสุขา ร้านอาหาร และศาลาพักผ่อนสำหรับผู้แสวงบุญ สวรรค์ด่านสุดท้ายของอินเดียก่อนข้ามมายังเนปาล แต่ผมเข้าใจว่าไม่มีบริการให้พักค้างคืนแบบวัดไทยประจำสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง และวัดในอีกบางสถานที่สำคัญตามพุทธประวัติ
เวลาเลย 3 ทุ่มมานิดหน่อย เจ้าหน้าที่บอกผมว่ายังมีรถบัสเข้าเมือง แต่พอเดินออกไปยังไม่ทันถึงจุดจอดรถ Belahiya Bus Park ก็มีคนเข้ามาห้อมล้อม พวกเขาประสานเสียงตรงกันว่ารถบัสหมด 3 ทุ่มตรง ผมถามหนึ่งในนั้นที่ใส่เสื้อปักบนหน้าอกว่า “Nepal Police” ก็บอกว่า “บัสหมดแล้ว” ดูๆ ไปก็ให้สงสัย ไม่รู้หมอได้เสื้อตัวนี้แต่ใดมา
พวกเขาถามว่าโรงแรมอยู่ตรงไหน ผมไม่มีซิมการ์ดของเนปาลจึงใช้อินเตอร์เน็ตไม่ได้ จำได้แค่ว่าโรงแรมอยู่ตรงข้าม Bhairahawa Bus Park ห่างออกไปจากด่าน 3 กิโลนิดๆ หนุ่มแท็กซี่หน้าตี๋ขอเบอร์ของโรงแรม ผมโชว์ที่แคปเจอร์หน้าจอรายละเอียดของโรงแรมให้เขาดู มีเบอร์โทรศัพท์อยู่ด้วย
หนุ่มตี๋โทรศัพท์ถามตำแหน่งกับรีเซ็พชั่นโรงแรมเรียบร้อยแล้วเดินมาเสนอราคา 500 รูปีเนปาล เราไม่มีเงินเนปาลเขาก็แปลงเป็นเงินอินเดียให้ที่300 รูปีอินเดีย (1 รูปีอินเดีย = 1.6 รูปีเนปาล) คิดเป็นเงินไทยประมาณ 150 บาท
ฝ่ายกุนเธอร์ไม่ยอมตกลงกับใครทั้งสิ้น พยายามต่อราคาให้ถึงที่สุด ผมเห็นสามล้อถีบจอดอยู่ริมถนนฝั่งตรงข้ามสี่-ห้าคัน จึงเดินข้ามไปหา ต่อราคาจากที่เขาบอก 250 และ 200 รูปีเหลือ 150 แล้ว แต่กุนเธอร์ก็ยังไม่ขึ้น จนผู้โดยสารคนอื่นคว้าสามล้อถีบไปหมดสิ้น
หนูน้อยในรถบัสโดยสารจากโกรัคปูร์ไปยังด่านชายแดนโสเนาลีมองมายังผู้เขียนในฐานะคนหน้าแปลก
หนุ่มตี๋ที่เหมือนว่าแท็กซี่คันอื่นๆ จะหลีกทางให้เขาแต่เพียงผู้เดียวขับรถข้ามฝั่งมา จอดแล้วลงเดินมาที่ผม
“ยูต้องไปกับไอแล้วล่ะ จะเดินยังไงมืดๆ ตั้งหลายกิโล แถมยังไม่รู้ด้วยว่าโรงแรมอยู่ตรงไหน” ตี๋เนปาลเปิดฉาก แล้วเข้าเรื่อง “โอเค 300 รูปี”
ผมตบไหล่เขา แล้วว่า “โอเค 250 รูปี” แล้วเดินนำเขาไปที่รถ เขาไม่พูดอะไร ผมหันไปบอกกุนเธอร์ว่าให้อยู่นิ่งๆ “ไอจ่ายเอง”
แท็กซี่วิ่งไปตามถนนไฮเวย์ Siddhartha Rajmarg (สิทธัตถะ ราชมารค) หากเราตรงไปเรื่อยๆ ไม่หยุดที่ไหนเลย ถนนเส้นนี้จะพาเราขึ้นเขาคดเคี้ยวไปยัง “โปขรา” เมืองอันน่าหลงใหลที่ผมจะได้กล่าวถึงในฉบับต่อๆ ไป
หนุ่มตี๋จอดหน้าโรงแรม Hotel Daisy Park ผมได้ยินเสียงกุนเธอร์บ่นว่าโรงแรมหรูไป ผมจึงสวนว่านี่คือถูกสุดในเว็บไซต์ booking.com แล้ว ราคาแค่ 13 ดอลลาร์เท่านั้น (ตกคนละประมาณ 200 บาท) เบลบอยมาแบกกระเป๋าเราเข้าไปยังล็อบบี้ ผมถือโอกาสขอเบอร์โทรของตี๋เนปาลไว้เผื่อว่าอาจต้องใช้บริการไปยังลุมพินีวัน เท่าที่คุยกันในรถผมรู้สึกว่าเขาไว้ใจได้ ทั้งนี้สถานที่ประสูติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ห่างออกไป 22 กิโลเมตร
ขณะที่ผมกรอกข้อมูลเช็กอิน กุนเธอร์ขอขึ้นห้องไปก่อนโดยมีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งเดินไปส่ง สักพักเขาลงมาบอกว่าหลอดไฟแสงจ้าไป ขอเปลี่ยนห้อง (ผมได้บอกไปก่อนนี้แล้วว่าเขามีปัญหากับแสงของหลอดไฟ) แล้วก็เดินออกไปนอกโรงแรม เปรยว่าจะไปหาเบียร์กิน แต่ผมไม่เชื่อ เพราะเบียร์ที่นี่แพงกว่าอินเดีย ที่อินเดียเขายังไม่กล้าแตะเลย
ฝ่ายเด็กโรงแรมไม่ได้เปลี่ยนห้องให้แต่เปลี่ยนหลอดไฟแทน ซึ่งเขาอาจจะไปเอาหลอดที่เสื่อมมาก็ได้ ผมสั่งรูมเซอร์วิส บอกว่าจะลงมากิน พอขึ้นห้องไปอาบน้ำเสร็จเปิดประตูออกมา อาหารและวิสกี้ก็วางอยู่บนโต๊ะแล้ว
ข้าวผัดอร่อยมาก เข้าใจได้ว่ามีความหิวเข้าไปช่วยเสริมรสชาติ แม้ปริมาณจะมากที่ในยามปกติกิน 2 คนก็ยังอิ่ม ผมฟาดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว ส่วนวิสกี้ที่สั่งไป 1 ออนซ์ (30 มิลลิลิตร) ซึ่งในเมนูเขียน 1 Peg เป็นไปได้ว่าเท่ากับเป๊กบ้านเรา กลับเสิร์ฟมา 1 ควอเตอร์ หรือประมาณ 185 มิลลิลิตร และจากยี่ห้อ Royal Challenge กลับกลายเป็น Royal Treasure
ถบัสจอดให้ผู้โดยสารเข้าห้องน้ำและหาอาหารรองท้อง
ผมถือถาดใส่จานข้าวและวิสกี้ลงมายังล็อบบี้ ขอนั่งดื่มและเสวนากับพนักงานโรงแรมที่เข้ามารุมล้อมถามโน่นถามนี่ คุยกันสนุกสนานทีเดียว แล้วกุนเธอร์ก็กลับมา สารภาพว่าไม่ได้กินเบียร์ เพราะราคาแพงเหลือเกิน ก่อนจะบ่นต่อว่าโรงแรมหรูไป ทำไมต้องจ่ายเงินให้คนรวย ทำไมไม่เดินหาแถวๆ ด่านชายแดน ผมอธิบายว่ามีหลายคนแนะนำไม่ให้พักใกล้ๆ ด่าน เพราะสกปรกและอันตราย และที่สำคัญเราต้องระบุชื่อที่พักในแบบฟอร์มเข้าเมืองด้วย ก็เลยต้องจองมาก่อน เขาเถียงว่าเขียนมั่วๆ ไปก็ได้ ผมจึงเริ่มหมดความอดทน
“ทำไมยูเรื่องมากจัง บ่นกับทุกๆ สิ่ง บ่นแม้แต่เรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะเป็นธรรมเนียมของบ้านเขา ไม่เที่ยวให้ผ่อนคลายบ้างล่ะ ทำไมต้องต่อราคาทุกสินค้าและบริการจนเขาด่าแม่มาแล้วครั้งหนึ่ง บอกตรงๆ ว่านี่ไม่ใช่แนวการเดินทางของไอเลย” เกือบจะหลุดออกไปด้วยว่าก็อยากจะตามมาเอง กุนเธอร์อายุแก่กว่าในระดับที่จะเป็นพ่อผมได้ หากเป็นคนไทยด้วยกันคงไม่กล้าพูดแบบนี้
เขาขึ้นห้องไปแล้วกลับลงมาเคลียร์เงินที่ติดค้างกันอยู่ ผมพยายามพูดน้ำเสียงเรียบๆ คุยดีๆ กับเขาอีกครั้ง เขาเองก็ยิ้มแย้มออกมา ก่อนจะขึ้นไปนอน ผมดื่มและคุยกับพนักงานโรงแรมต่อจนวิสกี้หมดก็ขึ้นไปนอนบ้าง โดยตัดสินใจว่าพรุ่งนี้จะขอแยกย้ายไม่ร่วมทางกับคนดีที่น่ารำคาญคนนี้อีกแล้ว
เสียงซิปรูดกระเป๋าเดินทางตอนเช้าตรู่ทำให้ผมตื่นแต่ยังไม่ลืมตาและแกล้งทำเป็นหลับต่อ จากนั้นเป็นเสียงคนใส่รองเท้า เสียงเดินไปที่ประตูเหมือนตั้งใจให้เบาที่สุด และเสียงเปิดประตูที่ตั้งใจให้เบาที่สุดอีกเช่นกัน แต่ไม่มีเสียงปิดประตูตามมา
นานเกินนาทีที่ผมไม่กล้าลืมตา และพอมั่นใจที่จะเผชิญความจริงได้ ก็เอียงคอไปทางประตู แล้วลืมตา
ประตูเปิดแง้มอยู่เพียงนิดเดียว ผมเป็นอิสระง่ายกว่าที่คิดเอาไว้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |