วันนี้ ขอท้วงติง..........
ข้อความในทวิตเตอร์ของผู้ใช้นามว่า Bow Nuttaa Mahattana สักเล็กน้อย
ถ้าไม่พูดอะไรกันเสียเลย เดี๋ยวจะหลงเข้าใจว่า ที่ทวีตนั้น ถูกต้อง-เหมาะสม สังคมชาติยอมรับ
เธอทวีตไว้ดังนี้........
Bow Nuttaa Mahattana
@NuttaaBow
สิทธิพื้นฐานของคนทั้งประเทศถูกปฏิเสธมาจนแตะ 5 ปี หลังจากนี้จะมีเหตุผลใหม่อะไรได้อีกที่จะอ้างเพื่อเหยียบสิทธิการเลือกตั้งให้จมดินต่อไป? นี่คือคำถามสำคัญ ไม่ใช่เรื่องรายละเอียดว่าคุณต้องไปสรรหาน้ำจากแม่น้ำไหนในโลกมาทำพิธี วันนี้ วิษณุ เครืองาม ได้ตบหน้าคนไทยทั้งชาติ #เลื่อนเลือกตั้ง
ผู้ใช้นามนี้.......
เป็นคนคนเดียวกันกับในคลิปเข้าโรงแรมกับนายวัฒนาใช่หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ?
แต่บอกได้ว่า เธอมีสิทธิขั้นพื้นฐานจะแสดงความเห็นเรื่องเลื่อนวันเลือกตั้งได้
แต่เธอไม่มีสิทธิ์ก้าวล่วงถึงเรื่องการสรรหาน้ำในประเด็นที่รองนายกฯ วิษณุพูด ด้วยประการทั้งปวง!
เธอบังอาจ และต่ำช้ามาก
ชาติสกุลเธอมาจากไหน ผมไม่ทราบ ทราบเพียงว่า มีการศึกษาดี จบอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรัฐ และเป็นนักกิจกรรมแบเพื่อระบอบทักษิณ
กับคนศึกษาน้อย ก็พออนุโลมได้ว่า ไม่รู้ความ
แต่นี่ จบอักษรศาสตร์ อันใดควร-ไม่ควร ย่อมแยกแยะได้
แต่ที่ทวีตเช่นนั้น เจตนาเหยียดเย้ย-ย่ำหยามใช่หรือไม่ ชนทั้งหลาย ย่อมดูเจตนาออก
น่าให้ "ราชบัณฑิตยสภา" พิเคราะห์คำ-พิเคราะห์ประโยคไว้เป็นบรรทัดฐาน
และอีกทาง ควรให้ผู้รักษากฎหมาย เชิญไปสอบเจตนาให้แน่ชัดตามกรอบกฎหมาย
ถ้าทุกคน-ทุกฝ่ายนิ่งเฉย......
นั่นจะเท่ากับยอมรับความถูกต้องในการพูดจาและการสื่อความลักษณะจงใจพาดพิงไปถึงเช่นนี้
ซึ่งแน่นอน ที่ทึกทักว่าถูกต้องนั้น ก็จะเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงในการทำต่อๆ ไป
ทวีตที่ Bow Nuttaa Mahattana เอ่ยถึงการสรรหาน้ำนั้น บางท่านอาจสงสัย ต้นสายปลายเหตุเป็นอย่างไร?
เป็นอย่างนี้......
เมื่อ ๓ ม.ค.ท่านรองนายกฯ วิษณุ ไปแจ้งข้อมูลกับ กกต.
พร้อมเอกสาร "การเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก"
เพื่อ กกต.จะได้พิจารณาถึงวันเลือกตั้งที่เหมาะสม
คือ ก่อน "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" ๔-๖ พ.ค.๖๒ จะต้องมีพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องก่อน ประมาณ ๑๕ วัน
และหลัง ๖ พ.ค.อันเป็นวันสุดท้ายพระราชพิธีฯ ก็จะมีกิจกรรมอื่นอีกประมาณ ๑๕ วัน
ทั้ง ๒ ส่วนนี้ ไม่อยู่ในประกาศพระราชโองการ เมื่อ ๑ ม.ค.๖๒
แต่อยู่ในประกาศของส่วนคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีฯ จะเป็นผู้กำหนด
รองฯ วิษณุ ยกตัวอย่าง.....
เช่น ๑๕ วัน ก่อนวันที่ ๔ พ.ค.จะต้องทำน้ำอภิเษก ซึ่งมาจากแหล่งน้ำต่างๆ ๔ แหล่ง
แหล่งที่ ๑ มาจากปัญจมหานที ในประเทศอินเดีย เอามาเจือปนกับน้ำที่จะได้ในแหล่งที่สอง คือแม่น้ำบริสุทธิ์ ๕ สาย ในประเทศไทย
ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง, เจ้าพระยา, ป่าสัก, แม่กลอง และเพชรบุรี มาเจือปนกับแหล่งที่สาม
คือ น้ำจากสระทั้ง ๔ ในเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
และมาเจือปนกับน้ำแหล่งสุดท้าย คือ น้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ ๗๖ จังหวัด ในประเทศไทย
หลังพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก ก็จะต้องมีพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธยของรัชกาลใหม่
รวมถึงพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะพระบรมอัฐิพระบรมราชบรรพบุรุษตามโบราณราชประเพณี
ทั้งหมดนี้..........
เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๔ พ.ค.ทั้งสิ้น!
ขณะที่ หลังวันที่ ๖ พ.ค.จะมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติอื่นตามมาตามโบราณราชประเพณี ใช้เวลาประมาณ ๑๕ วัน
ซึ่งจะจบลง ไม่เกินวัน ๒๐ พ.ค.!
"นี่คือข้อมูลที่นำกราบเรียนให้ กกต.ทราบ เมื่อ กกต.ทราบแล้ว จะได้นำไปประกอบการพิจารณาว่า จะเห็นสมควรดำเนินการอย่างไรต่อไป"
ดร.วิษณุท่านว่าอย่างนั้น..........
พร้อมอธิบายถึงโอกาสที่จะทับซ้อนกันระหว่างพระราชพิธีฯ กับขั้นตอนปฏิบัติทางการเลือกตั้ง หากเลือกตั้งวันที่ ๒๔ ก.พ.ว่า
เลือกตั้งวันที่ ๒๔ ก.พ.ก็ไม่ได้กระทบอะไร แม้แต่การหาเสียงก็ตาม แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือ
ช่วงเวลาหลังเลือกตั้ง ยังมีกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นต่อ เช่น กกต.ต้องประกาศรับรองผลเลือกตั้งภายใน ๖๐ วัน หรือภายในวันที่ ๒๔ เม.ย.
ถ้าเป็นเช่นนี้..........
ก็จะเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประกอบพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก!
ทำนองเดียวกัน พระราชพิธีเสด็จฯ มาทรงเปิดประชุมรัฐสภาภายใน ๑๕ วัน หลัง กกต.รับรองผลหรือภายในวันที่ ๘ พ.ค.
ช่วงก่อนถึงวันที่ ๘ พ.ค.ก็มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกวัน
ความละเอียดตรงนี้ บีบีซีไทย สรุปคำแถลงท่านรองฯ วิษณุไว้กระชับดี ดังนี้
"การเลือกตั้งควรเกิดขึ้นภายในเดือน มี.ค.เพื่อไม่ให้วันประกาศผลเลือกตั้งไปทับซ้อนกับพระราชพิธี
หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็น ๒๔ มี.ค.หรือ ๓๑ มี.ค.ก็สามารถประกาศผลเลือกตั้งได้หลังพระราชพิธี"
ท่านย้ำว่า.....
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่ได้เกิดขึ้นเพียง ๓ วันเท่านั้น
แต่ก่อนและหลังพระราชพิธี ยังต้องมีกิจกรรมอื่นนำหน้าครึ่งเดือนและมีกิจกรรมตามหลังอีกครึ่งเดือน
ท่านนำหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่อ ๕ พ.ค.๙๓ เทียบเคียงให้ กกต.ดูด้วย
ตามปฏิทินพระราชพิธี/กิจกรรมเกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (กลาง เม.ย.-20 พ.ค.) จะเป็นดังนี้
สมัย ร.๙
๑๘-๑๙ เม.ย.๙๓: การตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก
๒๐-๒๑ เม.ย.๙๓: พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่
ซึ่งต้องตั้งการพระราชพิธีที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ถ้ามีการสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์พระองค์อื่น จะมีการจารึกพระสุพรรณบัฏเพิ่มขึ้น แปลว่าเพิ่มวัน)
๓ พ.ค.๙๓: พระราชพิธีถวายราชสักการะพระบรมอัฐิ พระอัฐิ พระราชบุพการี
๔ พ.ค.๙๓: มีการประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษกท่ามกลางมหาสมาคม
๕ พ.ค.๙๓: วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สมัย ร.๑๐
๔ พ.ค.๖๒: พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร (ขึ้นบ้านใหม่)
๕ พ.ค.๖๒: พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยและสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค (ทางบก)
๖ พ.ค.๖๒: เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล
จากนั้น เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล
๖-๒๐ พ.ค.๖๒: เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่พระราชพิธี แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนและรัฐบาลจัด
เช่น อาจเสด็จออกทรงรับผู้นำต่างประเทศที่มาร่วมพระราชพิธี, กิจกรรมการสวดมนต์ถวายพระพรชัยมงคล
กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติจิตอาสา ด้วยการบูรณะแม่น้ำลำคลองทั่วประเทศ
และอาจมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คณะกรรมการอำนวยการฯ จะได้ประชุมหารือกัน เช่น การจัดงานสโมสรสันนิบาต เป็นต้น
ด้วยเหตุ-ด้วยผลตามนั้น ผมมองไม่เห็นประเด็นอื่นจะเป็น "เบื้องหน้า-เบื้องหลัง" แอบแฝงในการเลื่อน
และที่มาของ "น้ำศักดิ์สิทธิ์" ในพระราชพิธีฯ ก็ยกตามที่ ดร.วิษณุอธิบายมาให้ทราบแล้ว
ฉะนั้น ย้อนไปพิจารณาทวีต Bow Nuttaa Mahattana กันดูซิ ว่าถูกต้อง เหมาะสมมั้ย?
ใครตอบ-ไม่ตอบ ไม่เป็นไร ผมขออนุญาตหลบภัยปาบึกก่อนสัก ๗ วันนะ!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |