"วิษณุ" ยันมีเลือกตั้งแน่ในเดือนมีนาคม ไม่อาทิตย์ที่ 24 ก็ 31 แค่รอพระราชกฤษฎีกาประกาศเลือกตั้ง สอดคล้องประธาน กกต.เผย กกต.จะพิจารณากำหนดและประกาศวันเลือกตั้งเมื่อ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทุกพรรคการเมืองโอเคอยู่ในโรดแมป แต่อนาคตใหม่ออกตัวแรง เชื่อเหตุผลติดพระราชพิธีเป็นเพียงข้ออ้างรัฐบาล คสช. ขณะที่มวลชนต้าน คสช.นัดชุมนุม 6 ม.ค. ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ชูป้าย "ไม่เลื่อน" เมื่อวันศุกร์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสการเลื่อนวันเลือกตั้ง ภายหลังที่มีการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คาดว่าจะเลื่อนจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ว่า ระหว่างการประชุมพิจารณากำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามผลการหารือร่วมกับ กกต. เมื่อวันที่ 3 ม.ค. โดยตนชี้แจงเนื้อหาที่พูดคุยให้ท่านทราบแล้ว ซึ่งรายละเอียดก็เหมือนกับที่แถลงไป
"สรุปคือ ได้ชี้แจง กกต.ว่าจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้งก่อนและหลังวันพระราชพิธี เมื่อบอกรายละเอียดต่างๆ กับ กกต.ไปแล้ว เขาจะคิดว่ายังเหมาะสมหรือไม่ ก็แล้วแต่ กกต. แต่รัฐบาลยืนยันไปว่า หากวันเลือกตั้งเกิดก่อนวันพระราชพิธี ก็ไม่มีปัญหาในการดูแลความเรียบร้อย"
รวมถึงชี้แจงว่าการเลือกตั้งจะเป็นวันใดก็ตาม เมื่อรู้เรื่องวันพระราชพิธีแล้ว ก็ต้องจัดให้มีก่อนวันพระราชพิธีอยู่ดี ภายในกรอบ 150 วัน แต่หากวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือกิจกรรมทางการเมืองหลังจากนั้นที่จะเกิดขึ้น อาทิ การประกาศผลการเลือกตั้ง การดำเนินการเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา การเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก การเลือกประธานสภาฯ การจัดตั้งรัฐบาล เมื่อ กกต.รับทราบ อยากให้ กกต.เอากิจกรรมที่ต้องดำเนินการเหล่านี้มาเทียบกับกิจกรรมในส่วนของพระราชพิธีเข้าพิจารณาด้วย ส่วน กกต.จะดำเนินการอย่างไร คงแล้วแต่เขา ซึ่งเขาบอกว่าจะขอไปคิดและตัดสินใจเอง เพราะไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
นายวิษณุกล่าวว่า ในการพูดคุย หากการเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แล้วเกิดปัญหา และในความเห็นส่วนตัว ตนเห็นว่าจะเกิดจริง หากเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 3, 10, 17, 24, 31 เดือนมีนาคมได้หรือไม่ แต่ถึงอย่างไร การเลือกตั้งไม่ควรเกินเดือนมีนาคม และหากยกตัวอย่างสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง หากเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ กกต.คาดว่าจะประกาศผลวันที่ 24 เมษายน ตามกรอบ 60 วัน แต่ระหว่างวันที่ 24 เมษายน เป็นต้นมา จะมีพระราชพิธีต่างๆ ขึ้นแล้ว แต่ถ้าขยับออกไป ก็ต้องดูว่ากรอบการประกาศผล 60 วัน จะตรงกับวันไหน ถ้าเป็นวันที่ 3 มีนาคม ก็จะตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งก็อยู่ในช่วงของพระราชพิธี แต่ถ้าขยับออกไปก็ควรให้พ้นออกไปเลย
หากเลือกวันที่ 10 มีนาคม ก็จะประกาศผลวันที่ 10 พฤษภาคม ก็เริ่มพ้นออกไปแล้ว แต่ถ้าขยับไปเป็นวันที่ 24 หรือ 31 มีนาคม ก็จะประกาศผลวันที่ 22 หรือ 31 พฤษภาคม ก็จะพ้นงานพระราชพิธีทั้งหมด ทั้งในส่วนของรัฐบาลและประชาชน ต่อจากนั้นจะเดินหน้าทำอะไรต่อก็ทำ ดังนั้นจะขยับวันเลือกตั้งออกไปอย่างไร ก็ขออย่าให้ยาวเกินไปจนอธิบายเหตุผลไม่ได้ ฉะนั้นการเลือกตั้งจึงไม่ควรจะเกินเดือนมีนาคม
รอพระราชกฤษฎีกา
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการปรับโรดแมปเลือกตั้งแล้ว การประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ต้องขยับออกด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า เมื่อรัฐบาลยังไม่ประกาศก็จบ เพราะการประกาศพระราชกฤษฎีกานั้นมีความหมาย เพราะเป็นวันเริ่มหาเสียงครั้งแรก ค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและพรรคก็เริ่มนับในวันนั้น จึงต้องเข้าใจว่าต้องให้เวลาเขาหาเสียงอย่างเพียงพอ
ยกตัวอย่าง หากประกาศ พ.ร.ฎ. วันที่ 2 มกราคม ซึ่งเลยมาแล้ว แล้วการเลือกตั้งเกิดขึ้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะมีเวลาหาเสียง 52 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังดี แต่หากประกาศวันนี้ไม่ได้ ซึ่งเป็นวันไหนตนไม่รู้ แต่ต้องให้เวลาหาเสียงไม่น้อยกว่า 52 วัน เพราะหากขยับออกไปจนเหลือเวลาหาเสียงน้อยก็จะเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม กกต.ไม่จำเป็นต้องแจ้งมายังรัฐบาลแล้ว ว่าจะจัดการเลือกตั้งเมื่อใด แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องมีการประสานกันเป็นการภายใน
นายวิษณุเปิดเผยว่า หลังมีประกาศสำนักพระราชวังเรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4-6 พฤษภาคมนี้นั้น รัฐบาลได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานคณะกรรมการการจัดพระราชพิธีฯ เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์จะประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในสัปดาห์หน้า
ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เดินทางเข้าพบนายวิษณุ โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที
จากนั้นเลขาธิการ กกต.เปิดเผยว่า ประธาน กกต. ได้มอบหมายให้นำกระเช้าอวยพรปีใหม่มามอบให้กับนายวิษณุ ไม่ได้มารายงานเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งในเรื่องของวันเลือกตั้ง ทางคณะกรรมการ กกต.ได้พูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประธาน กกต.จะแถลงด้วยตัวเอง ซึ่งกรอบเวลาในการเลือกตั้งจะบอกได้ชัดเจนเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งลงมา กกต.จึงจะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้
เขากล่าวว่า หากต้องเลื่อนวันเลือกตั้งก็จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการพิมพ์บัตรลงคะแนน รวมถึงการเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศ ก็จะเป็นไปตามระยะเวลาที่ได้วางไว้
ด้านนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กกต. ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลในส่วนของการเตรียมการพระราชพิธี บรมราชาภิเษกและกิจกรรมอื่นอันเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามที่นายวิษณุได้แจ้งให้ทราบในการหารือ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. โดยคณะกรรมการ กกต.และสำนักงานยืนยันความพร้อมอย่างเต็มที่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการ กกต.จะพิจารณากำหนดและประกาศวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
"บิ๊กป้อม"ร้องโอ๊ย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ยังไม่รู้ เป็นเรื่องของนายวิษณุ ไปคุยกับ กกต.ที่ต้องพิจารณาอีกที จะเลื่อนหรือไม่เลื่อนก็แล้วแต่ ก็ดูที่ความเหมาะสม
เมื่อถามว่า ไม่ว่าจะเลื่อนไปกี่วันกี่เดือนก็กระทบต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ดี เพราะอาจถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง พล.อ.ประวิตร ร้อง "โอ๊ย" ก่อนกล่าวว่า คสช.ไม่เกี่ยวเลย เป็นเรื่องของงานพระราชพิธี แล้วงานพระราชพิธีไม่สำคัญเหรอ เมื่อถามต่อว่า คนอาจจะมองได้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า คุณมองอยู่คนเดียว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวิษณุย้ำว่าการเลือกตั้งมีก่อนพระราชพิธีแน่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ต้องก่อน เพราะจะได้ไม่ทับช่วงเวลากัน และหลังจากงานพระราชพิธีฯ จะมีอะไรอีกก็ไม่รู้ เมื่อถามว่าเลือกตั้งช่วงเดือน มี.ค.ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่รู้จริงๆ เป็นเรื่องของ กกต.ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเขา ขนาดไม่ยุ่งสื่อยังว่า คสช.ไปยุ่งกับการเลือกตั้งเลย ไม่เกี่ยวเป็นเรื่องของ กกต.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวการเลื่อนเลือกตั้งที่ส่งผลกระทบต่อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ว่า กระแสข่าวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยประกอบ ซึ่งก็ไม่เป็นไร เมื่อมีขึ้นก็มีลง เพราะผ่านมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว จึงไม่ต้องกังวล รัฐบาลดูแลอยู่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนต้องการคือการมีพระราชพิธีที่สมพระเกียรติ และมีบรรยากาศที่ดี ราบรื่น และบรรยากาศในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ต้องจบเรื่องการเลือกตั้งไปแล้ว เพื่อไม่ให้มีประเด็นเรื่องการหาเสียง หรือป้ายหาเสียงติดเต็มถนน
ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด ต้องรอให้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศบังคับใช้ก่อน เมื่อบังคับใช้แล้วก็จะกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งตัวเองไม่สามารถตอบได้ว่าสิ่งที่นายวิษณุพูดว่าอยากให้เป็นวันนั้นวันนี้ เป็นความเห็นของรัฐบาลหรือของนายวิษณุ แต่มันต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ถ้าสมมติว่ามีพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้สัปดาห์นี้ ก็ต้องเลือกใน 60 วัน ไม่สามารถไปเลือกตามวันที่นายวิษณุพูดก็ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นขั้นตอนที่อยู่ในระหว่างที่มีพระบรมราชวินิจฉัย ทุกคนก็ควรจะรอพระราชกฤษฎีกาก่อน และจากนั้น กกต.ต้องพิจารณาว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งอย่างไร
กังวลกระบวนการ
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่มีการคาดคะเนว่าวันเลือกตั้งอาจจะเป็นวันที่ 10 มีนาคม หรือ 24 มีนาคมนั้น สิ่งที่นายวิษณุให้ความเห็นเป็นความกังวลกระบวนการหลังการเลือกตั้ง ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่กระบวนการหลังการเลือกตั้ง กกต.ต้องพิจารณา สมมติว่าถ้าเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์เหมือนเดิม คาดว่าจะสามารถรับรอง ส.ส.ได้ภายในกี่วัน เมื่อรับรองเสร็จต้องเรียกประชุมสภาภายใน 15 วัน หลังจากนั้นสภาจะนัดเลือกนายกรัฐมนตรี หรือจะตั้งรัฐบาล ก็สามารถดูได้ว่าจะใช้เวลาภายในกี่วัน ซึ่งมีหลายทางเลือก และจังหวะเวลาที่เลือกต่างกันแค่ 15 วัน เพราะถ้าพระราชกฤษฎีกาลงมาวันไหน จะไปเลือกภายใน 45 วันก็ไม่ได้ ต้องพ้น 45 วันไปก่อน แล้วก็ต้องไม่เกิน 60 วัน ขณะนี้จึงต้องรอพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสรรตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคว่า ในรอบที่แล้วอนุมัติไป 340 เขต ก็จะเหลือประมาณ 10 เขตเลือกตั้ง คาดว่าจะเสร็จภายในวันที่ 6 มกราคมนี้ จากนั้นก็จะดูเรื่องบัญชีรายชื่อ 150 คน เพราะเดิมมีอยู่แล้ว 128 คน ส่วนการจัดโปรแกรมปราศรัยหาเสียง ต้องรอดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็กำลังรอระเบียบเรื่องการจัดทำป้ายและติดป้ายหาเสียง เพราะยังไม่ประกาศราชกิจจานุเบกษา แต่ค่าใช้จ่าย 35 ล้านบาท
สำหรับการทำรณรงค์ทั่วประเทศมีข้อจำกัดมาก เพราะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของโซเชียลฯ และต้องนำงบประมาณส่วนนั้นมารวมกับการทำป้ายด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พรรคกังวลอยู่ เพราะเดิมที่มีการประชุมพรรคการเมืองตกลงกันอยู่ที่ 70 ล้านบาท
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวเลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย เพราะเรามีความพร้อม ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าลงก็ไม่มีปัญหา เพราะลงพื้นที่ทำงานมาต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมเรื่องพื้นที่ นโยบาย รวมถึงยุทธศาสตร์ของพรรคที่มีการเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราก็พร้อม ตอนนี้ก็ขอทำงานไปเรื่อยๆ ก่อน
ส่วนนโยบายของพรรคยังไม่รีบเปิดมากนัก เพราะเรามองเห็นว่าทุกพรรคก็ออกนโยบายลดแลกแจกแถม แต่ในส่วนของพรรค อยากให้ประชาชนยืนด้วยขาของตนเองได้อย่างยั่งยืนและถาวร และทุกนโยบายที่ทำต่อเนื่องมา 17 ปี ก็จะเป็นนโยบายที่ทำให้คนมีงานและมีอาชีพ สร้างโอกาสให้คน ซึ่งหลังประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งนโยบายของพรรคจะมีความชัดเจนแน่นอน เพราะตอนนี้พรรคมีนโยบายไว้หมดแล้ว โดยได้วางช่วงในการทำแคมเปญ ซึ่งเราก็ต้องดูว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ หลังจากนั้นเราก็จะเปิดนโยบายต่อไปในระยะเวลาที่เหมาะสม
เพื่อไทยรับได้เลือกมีนาคม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการเลือกตั้งเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 24 มี.ค. มีความเหมาะสมหรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า รอฟังอยู่ หากมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่เราก็มีความพร้อม
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปเป็นวันไหนก็ตาม คงจะอยู่ในกรอบ 150 วันตามรัฐธรรมนูญกำหนด พรรคเพื่อไทยเรามีความพร้อม มีนโยบายที่จับต้องได้ เพื่อสร้างโอกาสดี สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน ซึ่งจะครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม โดยพรรคเพื่อไทยทำงานเป็นทีมอย่างมืออาชีพ มีคุณหญิงสุดารัตน์ทำงานร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง, นายปลอดประสพ สุรัสวดี, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รวมทั้งนักบริหารมืออาชีพของพรรคเพื่อไทยอีกหลายคน
เธอบอกว่า สิ่งที่น่ากังวลมากอีกเรื่องหนึ่งไม่น้อยกว่าการเลื่อนการเลือกตั้ง คือการดำรงอยู่ของรัฐบาล คสช. และมาตรา 44 เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 264 กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีและ คสช.จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ นั่นหมายความว่า นายกรัฐมนตรีและ 4 รัฐมนตรีที่ยังไม่ยอมลาออก ทั้งๆ ที่มีตำแหน่งต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐก็ยังคงยืดเวลาอยู่ต่อไปจนถึงวินาทีสุดท้าย ซึ่งอาจจะมีการใช้ทรัพยากรของรัฐในการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองบางพรรคเหมือนกับที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่น เรื่องการทำบัตรสวัสดิการคนจน ได้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยและปลัด อบต.แห่งหนึ่ง เนื่องจากได้มีการตำหนิว่าผู้ใหญ่บ้านมีส่วนทำบัตรให้กับคนที่ไม่ได้มีฐานะยากจนจริง
นางลดาวัลลิ์กล่าวด้วยว่า ระหว่างการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังสามารถใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ได้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะลงตัว จึงไม่แน่ใจว่าจะมีการใช้อำนาจของมาตรา 44 ในเรื่องอื่นๆ เหมือนกับที่ได้ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ถูกสังคมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองบางพรรคอีกหรือไม่
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ทางพรรคมีความพร้อมเต็มที่สำหรับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนโยบายของพรรคที่จะเปิดในวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคมนี้ โดยจะตอบโจทย์และสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนได้ รวมถึงการนำนโยบายที่ดีๆ ของรัฐบาลมาพัฒนาต่อยอดด้วย ส่วนว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก็พร้อมแล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ รอแค่กระบวนการตามกฎหมายและระเบียบของพรรคเท่านั้น
เชื่อยังเดินตามโรดแมป
นายธนกรกล่าวอีกว่า ผู้สมัครของพรรคเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากที่สุด ประกอบไปด้วย อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. อดีตนักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในการเลือกตั้งครั้งนี้เชื่อว่าเมื่อนโยบายดี ผู้สมัครก็เก่งในการทำงานให้ชาวบ้าน และมีวิสัยทัศน์ เชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะให้ความไว้วางใจพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน ส่วนการเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่นั้น ไม่ขอก้าวล่วง เพราะเป็นอำนาจของ กกต. แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทางพรรคก็พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง
ขณะที่นายยุทธพล อังกินันทน์ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และหัวหน้าโฆษก ชทพ. กล่าวว่า วันนี้ทุกฝ่ายรับรู้แล้วว่าการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม 24 กุมภาพันธ์ มีเหตุผลต้องเลื่อนออกไปอย่างแน่นอนแล้ว แต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากทั้งรัฐบาลและ กกต.ออกมา จึงอยากเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายเร่งปรึกษาหารือกันให้ได้ข้อสรุป แล้วออกมาพูดให้ชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
เขาเชื่อว่า ทุกพรรคการเมืองคงคิดเหมือนกับชทพ. ว่าถ้ายังอยู่ในโรดแมป จะเป็นวันไหนทุกพรรคจะรับได้ แต่ถ้ายิ่งเร็วก็จะยิ่งดี เพราะจะส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของประเทศในด้านต่างๆ ด้วย ขณะที่ในมุมของพรรคการเมือง เมื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง วันเลือกตั้งจะต้องมีความชัดเจน เพราะจะได้วางปฏิทินในการทำกิจกรรมของพรรคได้ถูกต้อง อย่างแผนเดิมชทพ.ได้กำหนดปฐมนิเทศ ว่าที่ผู้สมัครแล้ว แต่เมื่อเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์เลื่อน แผนงานต่างๆ ก็ต้องเลื่อนออกไปด้วย เพราะทุกๆ กิจกรรมถือเป็นค่าใช้จ่าย หากทำก่อนที่ พ.ร.ฎ.ให้มีเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศก็คงไม่เหมาะสม เช่นเดียวกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคนที่จะถูกข้อห้ามปฏิบัติตามกฎหมายไว้อย่างมากมาย ในการทำกิจกรรมในพื้นที่ งานประเพณีต่างๆ ก็ไปร่วมไม่ได้ การมีวันเลือกตั้งที่ชัดเจนจะได้เตรียมพร้อมปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องก่อนจะมี พ.ร.ฎ.ออกมา
เป็นที่น่าสังเกตหลายพรรคการเมืองมีความเข้าใจถึงสาเหตุหากมีการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่พรรคขนาดเล็กเช่นพรรคอนาคตใหม่กลับมีท่าทีที่รุนแรง
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ลงในทวิตเตอร์ว่า "เลื่อนเลือกตั้งจาก 24 ก.พ. เหตุผลว่าติดพระราชพิธี เป็นเพียงข้ออ้างรัฐบาลคสช. หากจะทำจริงๆ กกต.สามารถเร่งให้ผลเลือกตั้งออกเร็วขึ้น ไม่ต้องใช้เวลาพิจารณาถึง 60 วันตามกรอบกฎหมาย พรรคอนาคตใหม่พร้อมเลือกตั้ง 24 ก.พ. ไม่เห็นด้วยอย่างถึงที่สุดในการเลื่อนการส่งมอบอำนาจกลับคืนสู่มือประชาชน"
ส่วนนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การที่นายวิษณุยกแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาเพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งนั้น ฟังดูแล้วเหมือนเป็นการทำให้การเลือกตั้งดูเป็นเรื่องสกปรก หรือเป็นเรื่องความวุ่นวาย มิควรให้ตรงกับวันที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธี แต่ในสังคมโลกทุกวันนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องสง่างาม และรัฐประหารกับรัฐบาลจากรัฐประหารต่างหากที่เป็นเรื่องผิดปกติ เป็นสิ่งสกปรก เป็นเรื่องน่ารังเกียจ ดังนั้นการเลือกตั้งและกระบวนการหลังจากนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแยกที่ต้องถูกเลื่อนออกไป
ทั้งนี้ นอกจาก 2 แกนนำพรรคอนาคตใหม่ออกมาแสดงท่าทีแล้ว ยังพบว่าแกนนำพรรคและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.หลายคนของพรรค อาทิ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค, นายรังสิมันต์ โรม ผู้ช่วยเลขาธิการพรรค, พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ, น.ส.นพมาศ การุญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 กทม. ต่างโพสต์ภาพตัวเองที่มีคำว่า “อย่าเลื่อนเลือกตั้ง” คาดทับอยู่ที่ปาก พร้อมทั้งรณรงค์เชิญชวนร่วมติดแฮชแท็ก #อย่าเลื่อนเลือกตั้ง
เช่นเดียวกับบรรดานักกิจกรรมทางการเมือง และพรรคการเมืองต่างก็ใช้โซเชียลมีเดียนัดหมายทำกิจกรรมแสดงออกคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งรอบล่าสุดของ คสช.
อาทิ นายอานนท์ นำภา ทนายความนักสิทธิมนุษยชน นัดหมายวันที่ 6 ม.ค. เวลา 16.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำกิจกรรมยืนเฉยๆ ชูป้าย "ไม่เลื่อน" ขณะที่พรรคการเมืองอย่างพรรคสามัญชน ก็มีบุคคลภายในพรรคโพสต์ข้อความนัดเดินจาก จ.ขอนแก่นเข้าสู่ กทม. เพื่อคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งตามที่เคยได้ประกาศไว้ ส่วนพรรคอนาคตใหม่ก็โหมรณรงค์ติด #อย่าเลื่อนเลือกตั้ง ด้วยเช่นกัน
ส่วนนายเอกชัย หงส์กังวาน กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ กกต. เพื่อนำเสนอข้อดีของการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 24 ก.พ.2562 ว่า หลังการเข้ารับตำแหน่งประธาน กกต.ของนายอิทธิพร บุญประคอง ได้มีการยืนยันมาโดยตลอดว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. จนกระทั่งล่าสุดมีกระแสเลื่อนการเลือกตั้ง โดยอ้างอิงเรื่องการทับซ้อนกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน กกต.ควรยืนยันที่จะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.แล้ว รับรองผลการเลือกตั้งให้มี ส.ส.อย่างน้อย 475 คน ให้ได้ภายใน 30 วัน ก็จะทำให้มีรัฐบาลใหม่ก่อนงานพระราชพิธีฯ ซึ่งจะทำให้แขกจากต่างประเทศมาร่วมงานได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ และจะสง่างามมากกว่า เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากเผด็จการทหาร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |